ออมเงินอย่างไรให้สำเร็จ

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ออมก่อน รวยกว่า’ มาไม่มากก็น้อย โดยความหมายก็คือ ยิ่งเราสามารถเริ่มต้นเก็บออมเงินได้เร็วมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเงินได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะ ‘เงินออม คือ จุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน’


อย่างไรก็ตาม การออมเงิน ก็เป็นเหมือนอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตของเรา (เหมือนกับการออกกำลังกาย การทานแต่อาหารที่ดี) ที่เราต่างก็รู้ว่าดี มีประโยชน์ และควรลงมือทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในท้ายที่สุด ก็มีหลายคนที่ทำไม่ได้สักที แล้วเราก็มีข้ออ้างให้กับตัวเองว่า เอาไว้เดือนหน้าค่อยเก็บเงินแล้วกัน แล้วพอเดือนหน้ามาถึง ก็เข้าสู่วัฏจักรเดิมๆ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเก็บเงินไม่ได้ (สักที) เราเคยสงสัยกันมั้ยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? บทความนี้จะมาเฉลยให้ฟังว่า ‘เพราะอะไร?’


ในทางการเงินเรามีอีกศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า การเงินเชิงพฤติกรรม หรือ Behavior Finance โดยที่ศาสตร์นี้เป็นส่วนผสมระหว่างจิตวิทยากับเศรษฐศาตร์ เพื่อพยายามเข้าใจความผิดพลาดเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน กล่าวคือมนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล แต่เราตัดสินใจด้วยอารมณ์ และด้วยการตัดสินใจด้วยอารมณ์นี่แหละที่ทำให้เราไม่สามารถทำเรื่องที่คิดว่าสมควรจะทำได้ เช่น การออมเงิน เรารู้ว่าดี แต่ก็ไม่ทำหรือทำไม่ได้ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า มนุษย์ทุกคนมีอคติ (Bias) กันอยู่แล้ว และเมื่อศึกษาไปถึงสาเหตุที่คนออมเงินน้อย ก็พบว่า “อคติ” หรือ “อุปสรรคทางพฤติกรรม” หลายอย่างที่เรามีอยู่นั้น ส่งผลต่อการจัดการด้านการเงินของตัวเองนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราตัดสินใจวางแผนการเงินและวางแผนชีวิตของตัวเองได้ไม่ดีพอ เป็นเพราะเราให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากเกินไป (Present Bias) จนเกิดการผัดวันประกันพรุ่ง (ไปเรื่อยๆ)  เรามีแนวโน้มที่จะคว้าสิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจตรงหน้า มากกว่ารอคอยผลลัพธ์ที่ (อาจจะ) ดีกว่าในอนาคต (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะดีกว่าจริงมั้ย) ดังนั้น เงินที่หามาได้ในวันนี้จึงถูก นำไปใช้ซื้อของที่อยากได้ หรือใช้เพื่อความสะดวกสบายในวันนี้เลย เพราะทำให้เกิดความพอใจได้มากกว่าที่จะเก็บไว้ใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งเรามักคิดว่าอีกตั้งนาน ยังมีเวลา เดี๋ยวค่อยเก็บก็ได้ ส่งผลให้เรายังไม่คิดเก็บเงิน และผัดผ่อนการเก็บเงินออกไปเรื่อยๆ นั่นเอง


นอกจากนี้คนเรายังมีความขี้เกียจ ชอบความสะดวกสบาย และมีความเฉื่อยชาที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เมื่อเคยทำอย่างไรอยู่ ก็จะทำอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ เพราะขี้เกียจที่จะออกแรงแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เช่น หากแต่เดิมบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลงทุนเพียงนโยบายเดียว และเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ต่อมาบริษัทได้ปรับให้มีโปรแกรม Employee of Choices โดยพนักงานสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงตามสัดส่วนต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นคือ พนักงานส่วนใหญ่ก็จะยังลงทุนอยู่ในนโยบายเดิม เพราะขี้เกียจที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ หรือขี้เกียจหาข้อมูล ส่งผลให้อาจเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว หรือในการเปิดบัญชีเพื่อลงทุนต่างๆ หากเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เราก็จะไม่ลงมือทำ


อีกหนึ่งอคติที่สำคัญคือ การเกลียดชังความสูญเสีย (Loss Aversion) ธรรมชาติของคนโดยทั่วไป มักรู้สึกว่าการออมทรัพย์คือการสูญเสีย เพราะเราต้องยอมกันเงินส่วนหนึ่งไปเก็บไว้ก่อน (เป็นการเลื่อนความสุขออกไป) แทนที่จะได้เอาเงินนั้นไปจับจ่ายใช้สอย แล้วเกิดความสุขเลยเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ เท่ากับว่าเงินส่วนที่จะใช้ได้ในวันนี้ลดลง (ความสุขลดลง) เมื่อสมองของเราตั้งสมการ ออม = สูญเสีย การออมจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก


แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อดี หากคุณรู้สึกว่ากำลังมีอาการเหล่านี้อยู่ ก่อนอื่นก็ขอให้ทราบไว้ว่าไม่ต้องเป็นห่วงนัก เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ  สมองมนุษย์มีวิวัฒนาการมาให้เราชอบฉวยเอาความสบายในปัจจุบันแบบชัวร์ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะต้องยอมจำนนต่อพฤติกรรมนี้ตลอดไป   เราจึงต้องมีอุบายบางอย่าง เพื่อทำให้การออมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เป็นอัตโนมัติมากขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้


อุบายหนึ่งที่ใช้ได้ดีมากสำหรับการกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนสะสมเงินออมได้ คือ โครงการ “ออมเพิ่มในวันพรุ่ง” (Save More Tomorrow) คิดค้นโดยนักการเงินพฤติกรรมแนวหน้าของโลกสองคน คือ ชโลโม เบนาร์ทซี กับ ริชาร์ด เธเลอร์โดยกำหนดให้พนักงานที่อยู่ในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการเข้าสู่ระบบการออมแบบอัตโนมัติทันที แต่ถ้าอยากลาออก ต้องออกแรงทำเรื่องขอลาออกเอง ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงสามารถออมได้ เพราะขี้เกียจทำเรื่องลาออกจากสมาชิกเอง

เมื่อถึงวันเงินเดือนออก เงินบางส่วนก็จะถูกหักไปออมทันทีก่อนที่จะเข้ากระเป๋าพนักงาน ดังนั้น พนักงานจะยังไม่ทันได้รู้สึกว่าต้องจ่ายอะไร เพราะตัวเลขที่เห็นในบัญชี เป็นยอดเงินหลังหักเงินเก็บแล้ว (เข้าทำนองเก็บก่อนใช้) นอกจากนี้โครงการยังสัญญาด้วยว่าจะเพิ่มอัตราการออมในอนาคตก็ต่อเมื่อพนักงานได้ขึ้นเงินเดือน จนถึงระดับการออมเงินสูงสุดที่ตกลงกันไว้(เช่น 15% ของเงินเดือน) ดังนั้นพนักงานจึงไม่รู้สึกเดือดร้อน หรือรู้สึกว่าสูญเสียอะไร เพราะโครงการจะออมให้ในอนาคตเท่านั้น และจะหักเงินเฉพาะจากรายได้ “ส่วนเพิ่ม” ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องลดรายจ่ายในวันนี้เพื่อชดเชยเงินออมในวันพรุ่งนี้ เท่ากับเป็นอุบายที่ช่วยลดการเกลียดชังความสูญเสียได้


โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มเงินออมของมนุษย์เงินเดือน แต่ปัจจุบันยังถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายคุ้มครองบำนาญของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 ยังดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ในฐานะหัวใจของสวัสดิการพนักงาน แล้วเราจะประยุกต์ใช้หลักการนี้กับตัวเองอย่างไรดี


สิ่งที่สามารถเริ่มต้นได้เลยทันทีสำหรับพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วเลือกอัตราการสะสมเงินที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งสามารถสะสมได้ 2 - 15% ของเงินเดือน ในช่วงแรกให้เริ่มต้นในแบบที่ตัวเองสะสมไหว และเมื่อเงินเดือนเพิ่ม ก็ให้สะสมเพิ่ม เราจะได้รู้สึกว่าการออมเงินไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป


สำหรับการเก็บออมเงินด้วยตัวเอง แนะนำให้ลองใช้บริการต่างๆ ที่สถาบันการเงินจัดไว้ให้แล้วมาเป็นตัวช่วย เช่น บัญชีเงินฝากบางประเภทที่ให้เราออมเงินเท่าๆ กันทุกเดือน เป็นเวลา 24 เดือน หรืออาจทำคำสั่งให้หักเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินฝาก ไปลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน สำหรับพนักงานบริษัทที่ต้องลงทุนใน SSF หรือ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี การตัดซื้อกองทุนเป็นรายเดือนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย


การใช้ระบบหรือเครื่องมือเข้ามาช่วยในการออม จะทำให้เราได้ออมเงินไปก่อนที่เงินจะเข้ากระเป๋า นอกจากจะช่วยลดความรู้สึกเกลียดชังความสูญเสียของเราได้ ยังช่วยขจัดอารมณ์และความรู้สึกในการลงทุนลงได้อีกด้วย ในกรณีที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและกองทุนรวมหุ้น หลังจากนั้นระบบจะทำงานของมันไปอย่างอัตโนมัติ เท่ากับว่าเราได้สร้างวินัยในการออมและการลงทุนให้เกิดขึ้นแล้ว เราอาจมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนของเราอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของเรายังเป็นการลงทุนที่ดี หากเราสามารถออมและลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าความสำเร็จทางการเงินที่ทุกคนปรารถนาคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร