7 เรื่องต้องรู้ ก่อนเริ่มทำบันทึก รายรับ-รายจ่าย

หลายคนอาจคิดว่าการทำบันทึกรายรับ รายจ่าย เป็นเรื่องของคนที่ต้องประหยัด หรือต้องการมีเงินออม แต่ความจริงแล้ว คนที่มีเงินเดือนสูงๆ หรือรายได้ดี มีเงินเหลือเก็บ ก็ควรบันทึกรายรับรายจ่ายของตนเองอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน เพราะเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ อีกทั้งการมีรายได้ดีไม่ใช่เครื่องการันตีความมั่นคงทางการเงินเสมอไป ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกรายรับ รายจ่าย ให้เลือกใช้มากมาย ไม่ต้องเสียเวลาจดใส่กระดาษ ที่สำคัญสามารถเพิ่ม ลด และแก้ไขรายละเอียดได้ตลอดเวลาที่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แถมยังสามารถดูสรุปรายการได้แบบทันที และเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลา บวก ลบ คูณ หาร เอง และก่อนที่จะทำบันทึกรายรับรายจ่าย ควรต้องรู้ 7 ข้อนี้ก่อน

expense-1640971168

  1. การบันทึกรายรับ ให้บันทึกจากเงินที่ได้รับจริง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้หลังจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเงินสบทบต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
  2. ทำบันทึกรายรับ รายจ่าย แยกเป็นรายเดือน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับเดือนอื่นๆ หรือเดือนเดียวกันในปีอื่นๆ  โดยควรบันทึกทันทีที่มีรายรับ รายจ่ายเข้ามาในแต่ละวัน เพื่อกันลืม โดยเฉพาะรายจ่ายที่ใช้บัตรเครดิต ต้องกันเงินไว้จ่ายคืนด้วย
  3. เงินออม และเงินส่วนที่นำไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวม หุ้น ทองคำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ควรหักออกมาจากรายได้ไว้ก่อนในแต่ละเดือน เพื่อเก็บไว้เป็นเงินฉุกเฉินและเตรียมไว้สำหรับอนาคต
  4. แบ่งรายรับออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ รายรับที่ต้องแลกมาด้วยการทำงาน เช่นเงินเดือน ค่าจ้าง และรายรับที่เกิดจากดอกผล เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล  ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพความมั่นคงทางการเงินของตนเองได้ดีขึ้น ใครที่มีรายรับจากการทำงานเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นตัวเลขที่มาก ก็ไม่ได้หมายความว่ามีความมั่นคงทางการเงิน เพราะหากถูกลดเงินเดือน เลิกจ้าง หรือไม่มีคนจ้างทำงาน รายได้ในส่วนนี้ก็จะหายไปทันที ในทางตรงกันข้าม หากเรามีรายได้จากดอกผลยิ่งมาก ความมั่นคงทางการเงินก็จะสูงตามไปด้วย
  5. แบ่งรายจ่ายออกเป็นหมวดหมู่ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายของครอบครัว เป็นต้น เพื่อจะได้รู้ว่า แต่ละเดือนหมดเงินไปกับหมวดไหนบ้าง เป็นหมวดหมู่ที่สามารถประหยัดได้มากน้อยแค่ไหน
  6. ควรบันทึกรายจ่ายที่กำหนดไว้แน่นอนทุกเดือนลงไปก่อน เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ค่าเบี้ยประกัน ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น เพราะจะช่วยให้รู้ล่วงหน้าว่าแต่ละเดือนน่าจะเหลือเงินประมาณเท่าไหร่ พอใช้ไปถึงสิ้นเดือนหรือไม่ ถ้าไม่พอจะได้ประหยัดมากขึ้น
  7. กำหนดวงเงินใช้จ่ายในแต่ละวัน หากวันไหนใช้วงเงินเกินกำหนด วันถัดไปจะได้รู้ตัวเองว่าต้องเลื่อน หรืองดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อให้การเงินไม่สะดุด และไม่เกิดการใช้จ่ายที่เกินตัวจนเป็นสาเหตุของการก่อหนี้ที่ไม่รู้จบ


จะเห็นว่าการทำบันทึกรายรับรายจ่าย ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงินของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรายรับที่ควรมีหลายทาง และส่วนของรายจ่ายที่ต้องควบคุมให้เกิดความสมดุล มีเงินไว้เก็บออมเพื่อวันนี้ และวันข้างหน้า  และหากทำอย่างละเอียดยังสามารถช่วยคาดการณ์เงินที่ต้องใช้ในช่วงเกษียณได้แม่นยำและใกล้เคียงความเป็นจริงขึ้นด้วย


ใครที่มีรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาแล้วที่จะหารายได้จากดอกผลเพิ่มเติมด้วยการลงทุนเพื่อสร้างแหล่งรายได้แบบ passive income ให้มากพอ เพราะรายจ่ายนับวันยิ่งสูงขึ้น เริ่มต้นลงทุนวันนี้ เพื่อสร้างดอกผลไว้เก็บกินยาวๆ  คลิกดูรายละเอียดได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/investment.html