ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
วัยกลางคน...ตกงานรับมือยังไงดี
ในช่วงวิกฤติโควิดทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการลงเพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน โดยที่ไม่มีรายได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เมื่อบริษัทปิดกิจการลงส่งผลให้พนักงานต้องตกงาน ในบางบริษัทที่มีสายป่านยาวหน่อยก็จะปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านบุคลากรจึงทำให้มีพนักงานบางส่วนต้องถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่มักเป็นคนวัยกลางคน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีฐานเงินเดือนสูงทำให้ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้มาก ประกอบกับคนรุ่นนี้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสู้คนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดมาก็เป็นเนทีฟดิจิทัลไม่ได้ รวมไปถึงความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการทำงานที่คนรุ่นใหม่ๆ ทำได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า และเมื่อคนวัยกลางคนต้องตกงาน ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก คนกลุ่มนี้ควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร
เช็คสถานะการเงินของคุณ
แน่นอนว่าคนวัยกลางคนส่วนใหญ่ มักอยู่ในสถานะหัวหน้าครอบครัวหรือมีสถานะสมรสที่ต้องแบกรับภาระเป็นเสาหลักของครอบครัวในการเลี้ยงดูสามี-ภรรยา-บุตร รวมไปถึงเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า การตกงานจึงส่งผลกระทบกับคนวัยกลางคนเป็นอย่างมาก เมื่อทราบว่าต้องตกงาน สิ่งแรกที่ควรทำคือการตรวจสภาพการเงินในปัจจุบัน โดยต้องดูทรัพย์สินและหนี้สินว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีอะไรบ้าง รวมถึงรายจ่ายประจำเดือนที่ต้องจ่ายอยู่ทุกเดือนว่ามีมากน้อยแค่ไหน มีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอให้สามารถใช้ชีวิตไปได้อีกกี่เดือน โดยหากมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้ตัดออกไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับจำนวนเงินที่มีอยู่ หรือถ้าหากคุณมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วอย่าง อย่างกองทุนรวม , หุ้น คุณอาจขายสิ่งเหล่านี้ออกไปเพื่อแปรสภาพเป็นเงินก้อนเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละเดือนในยามที่คุณกำลังหางานใหม่
ติดต่อประกันสังคม
การว่างงานไม่ว่าจะว่างงานจากการลาออกตามความสมัครใจหรือถูกไล่ออก ต้องติดต่อประกันสังคมเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทดแทนที่พึงได้รับ หากส่งเงินสมทบมาแล้วเกินกว่า 6 เดือนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทน โดยยื่นคำร้องที่ประกันสังคม หากเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท สามารถเบิกค่าชดเชยว่างงานได้วันละ 150 บาท (ไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท) โดยยื่นแบบคำรองรับผลประโยชน์กรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาสมุดบัญชีธนาคารที่กำหนด, หนังสือรับรองการลาออกจากบริษัท หนังสือคำสั่งนายจ้างหากจ้างออก(ถ้ามี) เมื่อยื่นเอกสารแล้วประกันสังคมจะออกใบเสร็จรับคำร้องมาให้จากนั้นเข้าไปลงทะเบียนว่างงานได้ที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th เพื่อรับเงินขณะว่างงาน
อัพเดทเรซูเม่โดยด่วน แล้วยื่นใบสมัครในเว็บไซต์หางาน
กรณีตกงานในวัยกลางคนการที่จะหางานในตำแหน่งงานที่เหมาะสมนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากจะไปทำตำแหน่งพนักงานธรรมดาก็ไม่มีใครอยากจ้างเพราะวัยที่มากแถมฐานเงินเดือนยังสูงสู้ไปจ้างเด็กจบใหม่ที่ฐานเงินเดือนน้อยกว่าแถมยังเก่งด้านเทคโนโลยีมากกว่า ยกเว้นแต่ว่าเป็นตำแหน่งบริหารที่แน่นอนว่าความสามารถของคุณจะต้องถึง ผลงานจะต้องเด่น ซึ่งหากผลงานดีจริงจะต้องมีสักบริษัทที่สนใจและอยากได้คุณไปร่วมงาน และต้องทำใจยอมรับว่าคุณอาจถูกกดเงินเดือนเพราะบริษัทที่สนใจอาจมองว่าคุณกำลังตกงานจึงเป็นโอกาสที่จะถูกต่อรองเรื่องฐานเงินเดือนของคุณได้ ซึ่งก็ต้องชั่งใจดูว่ายอมรับได้มากน้อยแค่ไหนและต้องไม่ลืมว่ายังมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน การมีเงินเดือนเข้ามาทุกเดือนย่อมดีกว่า แล้วค่อยมองหางานใหม่หากพบช่องทางอื่นที่เหมาะสม
จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หลังจากที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างจะยุติการจ่ายเงินสมทบให้กับเรา ซึ่งมีทางเลือกในการจัดการเงิน ดังนี้
1.รับเงินจากกองทุนเต็มจำนวน โดยเงินส่วนนี้ถือเป็นรายได้จะต้องถูกนำไปคำนวณภาษีในปีนั้นด้วย และเพื่อไม่ต้องรับภาระทางภาษี อาจแบ่งเงินที่ได้มาบางส่วนไปซื้อกองทุน SFF / RMF / ประกันบำนาญที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
2.คงเงินก้อนไว้รอจนอายุครบ 55 ปี หรือเพื่อรอโอนย้ายเงินไปยังนายจ้างใหม่
โดยเสียค่าธรรมเนียมในการคงสภาพปีละ 500 บาท เป็นการต่ออายุสมาชิกทำให้ไม่ต้องเสียภาษี แถมเงินในกองทุนยังถูกนำไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง
3.โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนต่อเนื่องในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (PVD for RMF)
ข้อดีคือไม่ต้องลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเหมือน RMF ทั่วไป แต่ต้องถือครองไปจนถึงอายุ 55 ปีเพื่อไม่ต้องเสียภาษี
ลดรายจ่าย
เมื่อตกงานสิ่งที่ต้องทำคือการลดรายจ่ายให้มากที่สุด และใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ภาระหนี้สิน ต้องพยายามจ่ายให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดเพราะจะส่งผลต่อเครดิตความน่าเชื่อถือของคุณในอนาคต ซึ่งกว่าจะได้งานใหม่หรือเริ่มต้นทำอาชีพใหม่ ต้องคุมเข้มรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอย่าซื้อโดยเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าจะสามารถหางานใหม่ได้เมื่อไหร่กันแน่
หารายได้เสริม
นอกจากเงินประกันสังคม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ขายสินทรัพย์เพื่อให้มีเงินสดยังชีพ มีอีกสิ่งที่ควรทำคือ การหารายได้เสริม อย่ารอเวลาที่จะหางานใหม่เพราะในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้การหางานใหม่อาจไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน การหารายได้เสริมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ทุกเดือนแม้จะไม่มากแต่ก็เป็นเงินประทังชีวิตให้กับคุณได้ ซึ่งอาชีพเสริมที่นิยมส่วนใหญ่มักเป็นการขายของออนไลน์หรือถ้าหากคุณมีประสบการณ์จากงานที่ทำ อาจรับจ้างเป็นติวเตอร์สอนความรู้ ซึ่งคุณอาจต้องลองทบทวนดูว่าอะไรที่คุณสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ และไม่แน่ว่าอาชีพเสริมอาจกลายเป็นอาชีพหลักสำหรับคุณในอนาคตก็เป็นได้
รักษาเงินก้อนที่ได้รับ
เมื่อตกงานจะได้รับเงินก้อนจากที่ทำงานเดิมเพื่อเป็นค่าตกใจ แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบนำเงินก้อนนั้นไปใช้หรือนำไปปลดหนี้ทั้งก้อน ควรบริหารเงินก้อนนั้นให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและจ่ายหนี้ได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้หรือจนกว่าจะตั้งหลักได้ว่าคุณจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร
Upskill & Reskill อยู่เสมอ
ในช่วงตกงานอย่าปล่อยเวลาว่างให้เปล่าประโยชน์ ยิ่งเป็นคนวัยกลางคนความรู้ความสามารถในอดีตนั้นล้าสมัยไปแล้ว ควรพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อม ด้วยการเข้าอบรมคอร์สออนไลน์ในสกีลใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต เช่น Digital Skill , Soft Skill , Data Analytic , UX /UI เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาทักษะของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมและปรับจุดด้อยให้ดีกว่าเก่า จึงจะทำให้คุณมีโอกาสหางานใหม่ได้ง่ายขึ้นและมีโอกาสหางานในตัวเลือกที่ดีกว่าตำแหน่งงานเดิม
ออกจาก Comfort Zone เลือกทางเดินใหม่ของชีวิต
เพราะอยู่ในวัยช่วงกลางคน ทำให้บางคนยากที่จะหางานใหม่ทำได้ เนื่องจากวัยที่มาก ฐานเงินเดือนที่สูงจึงไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่บริษัทต่างๆ จะว่าจ้างให้คุณเข้าไปทำงาน ถ้าหากศักยภาพหรือโปรไฟล์ของคุณไม่ได้โดดเด่นเหนือกว่าคนทั่วไป และเนื่องจากทำงานกินเงินเดือนมากว่า 20 ปีทำให้บางคนเกิดความเบื่อหน่ายกับการทำงานออฟฟิศ เมื่อตกงานจึงทำให้บางคนที่พอมีทุนทรัพย์ตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ซึ่งถ้าหากเคยมีประสบการณ์อยู่บ้าง การเริ่มอาชีพใหม่ให้ตัวเอง แทนที่จะไปหางานทำใหม่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ดูเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้จะเปราะบางหากจะเริ่มต้นลงทุน ต้องไม่ลืมว่าในที่สุดเศรษฐกิจจะกลับฟื้นคืนอีกครั้งเมื่อวิกฤตสิ้นสุดลง ในช่วงนี้อาจลองศึกษาหาข้อมูลในการลงทุนทำธุรกิจโดยเอาประสบการณ์จากการทำงานมากว่า 20 ปีมาประยุกต์ใช้ เมื่อวิกฤตทุเลาลงจะได้เริ่มต้นธุรกิจใหม่และเป็นถนนสายใหม่สู่ชีวิตการทำงานที่คุณไม่ต้องเป็นลูกจ้างใครอีกต่อไป
เหนือสิ่งอื่นใดต้องยอมรับความจริงว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอบนโลกใบนี้ งานประจำก็เช่นเดียวกัน เมื่อตกงาน อย่าได้ผิดหวังหรือท้อแท้หมดกำลังใจไป อย่างไรเสียย่อมมีแสงสว่างส่องที่ปลายอุโมงค์อยู่เสมอ เหมือนกับชีวิตของคนเราย่อมมีขึ้นและมีลง เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตควรมีเงินสำรองฉุกเฉินติดบัญชีไว้ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนของคุณอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการตกงานหรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินก้อนกระทันหัน สนใจเงินฝากประจำระยะสั้นดูรายละเอียด
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/deposits/fixed-deposit-account.html
ข้อมูล :
https://www.prosoft.co.th/Article/Detail/123228