แผนการเงินสำหรับอายุ 100 ปีไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

เรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน  โดยในยุคสมัยที่ผ่านมาโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี ได้เป็นบ่อเกิดแห่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเรา แต่ในอนาคตอันใกล้นี้  ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นจะเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เหตุที่เป็นเช่นนี้  เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว เรามีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวกว่าพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายขึ้นไปอีก


จากรายงานประชากรในประเทศปี 2563 พบว่า ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี ในขณะที่ปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า และจะเห็นว่าอายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) ของเราจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นโอกาสที่เราจะมีอายุยืนถึง 100 ปี อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรืออายุเท่าไหร่ เราต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ว่าเราจะเลือกดำเนินชีวิตแต่ละวันอย่างไร เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างคุ้มค่าที่สุด


หากลองจินตนาการว่า ถ้าเราต้องมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี การวางแผนชีวิต และการวางแผนการเงินของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


รูปแบบการใช้ชีวิตที่ผ่านมา จะแบ่งช่วงชีวิตเป็น 3 ขั้น คือ ช่วงวัยเรียน ช่วงวัยทำงาน และช่วงวัยเกษียณอายุ โดยเราจะเรียนหนังสือกันจนถึงอายุประมาณ 23 – 25 ปี จากนั้นก็จะเข้าสู่การทำงานจนถึงอายุ 60 ปี และคาดหวังว่าจะใช้ชีวิตอีก 25 ปีหลังเกษียณอย่างมีความสุข หากเป็นไปในแบบเดิม เราจะมีเวลาทำงานเก็บเงินประมาณ 35 ปี เพื่อนำเงินไปใช้หลังเกษียณอายุที่เราไม่ได้ทำงานแล้วอีก 25 ปี ซึ่งจะเห็นว่าเรามีเวลาเก็บเงินนานกว่าระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ และหากมีการวางแผนการเงินที่ดี เป้าหมายนี้ก็เป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุผลได้

หากเรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นถึง 100 ปี และยังคงต้องการเกษียณอายุที่ 60 ปี ระยะเวลาหลังเกษียณของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ปี ซึ่งมากกว่าระยะเวลาทำงานเพื่อเก็บเงินเสียอีก จึงเป็นที่มาว่า การใช้ชีวิตในแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แล้วเราควรจะใช้ชีวิตในรูปแบบใดต่อไปดี ซึ่งรูปแบบชีวิตแบบใหม่ที่เราควรพิจารณา มีดังนี้


1. แก่ตัวอย่างสุขภาพดี

อายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจะเป็นพรของเราก็ต่อเมื่อเรามีสุขภาพที่ดี ถ้าอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่ช่วงเวลาที่มีสุขภาพที่ดีไม่เพิ่มตาม เราคงตกอยู่ในฝันร้าย เพราะเราคงไม่อยากแก่ตัวแล้วต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นการดูแลตัวเองควรจะเน้นไปในทางป้องกัน (Preventive Medicine) เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่หรือเสพของมึนเมา ควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ ตลอดจนการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ มากกว่ามุ่งเน้นไปที่การรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว นั่นแปลว่าปัจจัยหลักที่จะทำให้เรามีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข คือ การมีสุขภาพที่ดีนั่นเอง


2. ทำงานให้นานขึ้น

อย่างที่กล่าวไปแล้ว หากเรามีอายุขัยถึง 100 ปี และยังคงต้องการเกษียณอายุที่ 60 ปี เท่ากับว่าเราจะมีระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณนานถึง 40 ปี แล้วเราต้องมีเงินเพื่อการเกษียณเท่าไหร่ดี สมมติว่าต้องการใช้เงินหลังเกษียณที่ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาทั้งหมด 480 เดือน เท่ากับว่าเราต้องมีเงินเพื่อเกษียณอายุอยู่ที่ 9.6 ล้านบาท ซึ่งนี่ยังไม่รวมผลของเงินเฟ้อเลย หากรวมผลของเงินเฟ้อเข้าไป เราอาจจะต้องเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุอย่างน้อยๆ 20 ล้านบาท หรือมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แล้วเราจะเก็บเงินทันหรือไม่


ดังนั้นเมื่อเราต้องมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เราควรจะต้องทำงานให้นานขึ้น เพราะหากเราไม่ทำงานนานขึ้น เราจะลำบากเพราะเงินสะสมมีไม่พอเลี้ยงตัวเองตอนเกษียณ สำหรับคนที่ไม่มีความสุขในการทำงาน นี่คงเป็นฝันร้าย แต่มันจะเป็นจุดตั้งต้นให้เราได้พิจารณาทางเลือกอาชีพให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะคนที่มีความสุขในการทำงาน เขาจะไม่มีปัญหาที่จะเกษียณช้าลง และทำงานให้นานขึ้น ดังนั้นการทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว แต่ไม่มีความสุขในการทำงานเลย ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ตอบโจทย์การมีอายุยืนยาว เราควรมองหางานที่มีคุณค่า สามารถรักงานได้ พร้อมทั้งมีรายได้ที่ตอบโจทย์ไปพร้อมๆ กัน

3. การวางแผนการเงิน

ยิ่งมีอายุยืนยาวมากขึ้นเท่าไหร่ ต้องยิ่งรีบวางแผนการเงินให้เร็วขึ้นเท่านั้น การจะวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม เราต้องเริ่มจากการเข้าใจในศักยภาพของตัวเอง พร้อมทั้งตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ฉันอยากจะทำงานไปนานแค่ไหน? ฉันจะต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพออยู่พอกิน? ฉันเข้าใจสถานการณ์การเงินของตัวเองดีแค่ไหน? และ ฉันมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน การลงทุนดีแค่ไหน? เมื่อหาคำตอบได้แล้ว การวางแผนการเงินต้องอาศัยการมีวินัย และลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะไม่สามารถทำมันได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ดังนั้นการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการมองการณ์ไกล จะช่วยให้เราสามารถลงมือทำตามแผนการเงินได้ นอกจากนี้การสร้างสมดุลระหว่างเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เงินในปัจจุบันกับในอนาคต ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่เสมอเช่นกัน


4. ใส่ใจกับสิ่งที่ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้

สินทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น เงินสด บ้าน รถ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ชีวิตที่สมบูรณ์ มีครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียวกัน มีกัลยาณมิตร ทำงานอย่างมีความสุข และมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ทั้งสิ้น


สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แตกต่างจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้อย่างบ้าน เงินสด หรือเงินออมในธนาคารเป็นอย่างมาก สินทรัพย์ที่จับต้องได้เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ตีค่าเป็นเงินได้ง่าย พร้อมซื้อขาย ทำความเข้าใจและติดตามได้ไม่ยาก เช่น เราเห็นเงินออมในบัญชีธนาคาร มูลค่าพอร์ทการลงทุนในกองทุนรวม และสามารถประเมินราคาบ้านและที่ดินได้ ในขณะที่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างมิตรภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพกายใจ ทักษะ ความรู้ และความสามารถนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่ก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกันเลย


นอกจากนี้ เราไม่สามารถแยกสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้กับสินทรัพย์ที่จับต้องได้ออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ สินทรัพย์ทั้งสองประเภทจะมีบทบาทส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น หากขาดความรู้ความสามารถ คงจะหางานหาเงินได้ไม่ง่ายนัก หรือหากเรามีสุขภาพย่ำแย่หรือที่บ้านไม่มีความสุข ความเครียดจะทำให้ประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจทั้งทักษะ ความรู้ความสามารถ ความรู้สึก และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย ซึ่งก็คือ ศิลปะในการใช้ชีวิตนั่นเอง


กล่าวโดยสรุป เพื่อการมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข เราต้องให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มากขึ้นกว่าในอดีต สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ คือ กุญแจสู่ชีวิตที่ยืนยาวและเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง เป็นทั้งเป้าหมายในชีวิตที่เราใฝ่หาและแรงเสริมที่ช่วยเพิ่มพูนสินทรัพย์ที่จับต้องได้ด้วย ชีวิตที่สมบูรณ์ต้องอาศัยสินทรัพย์ทั้งสองประเภทที่มีความสมดุล และประสานพลังกันอย่างดี ขอให้ทุกคนมีชีวิตยืนยาวที่มีความสุข

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร