วางแผนการเงินฉบับคนมีคู่

ใครหลายคนคิดว่า การแต่งงานและมีครอบครัว น่าจะเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต แต่ในความเป็นจริง มันกลับเป็นจุดตั้งต้นของชีวิตบทใหม่ต่างหาก  สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนจะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน ความรักแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนการเงินที่ดีด้วย  เพราะการที่ชีวิตครอบครัวจะประคับประคองไปได้ด้วยดี ต้องอาศัยสถานะการเงินที่ดีควบคู่กันไป

 

สำหรับคู่รักบางคู่อาจจะมีการวางแผนการเงินแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ช่วงวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงานและการสร้างเรือนหอ แต่มักจะไม่ได้คิดถึงการวางแผนการเงินให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตร การสร้างกิจการเพื่อครอบครัว และค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ การวางแผนการเงินสำหรับคู่รักเพื่อเตรียมสร้างครอบครัวที่อบอุ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

แล้วต้องพิจารณาวางแผนการเงินในเรื่องใดบ้าง สิ่งที่ควรจะพิจารณาในเบื้องต้น คือ เมื่อแต่งงานไปแล้วจะรวมกระเป๋าหรือจะแยกกระเป๋า ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน นอกจากนี้จะขอแนะนำให้แบ่งการวางแผนการเงินเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และที่สำคัญต้องเปิดอกคุยกันเรื่องการเงินให้ชัดเจน อย่าได้มีความลับต่อกันเป็นอันขาด เพราะการมีความลับต่อกันมักจะนำมาซึ่งปัญหาความไม่ไว้วางใจกัน และเกิดเป็นการทะเลาะกันได้นั่นเอง

บัญชีร่วมหรือบัญชีเดี่ยวดีกว่า?

 

  • หากเป็นบัญชีร่วมนั้น สามีและภรรยาต่างมีสิทธิ์เท่ากัน ข้อดีของบัญชีร่วม (หรือรวมกระเป๋า) นั้นจะทำให้ต่างคนต่างรู้สึกถึงความมีส่วนร่วมในการบริหารเงินของครอบครัว แต่ข้อเสียคือหากเกิดการหย่าร้าง จะจัดการการเงินส่วนนี้อย่างไร

  • หากเป็นบัญชีเดี่ยว (ต่างคนต่างมีรายได้และต้องการแยกกระเป๋า) ข้อดีของการแยกบัญชีคือ ต่างฝ่ายต่างบริหารเงินของตัวเองอย่างอิสระ แต่ควรมีข้อตกลงเรื่องความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในบ้านให้ชัดเจน เช่น ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายเรื่องลูก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น แต่ข้อเสียก็คือ ต่างฝ่ายก็อาจจะไม่ทราบสถานะทางการเงินของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายเกิดปัญหาทางการเงิน อาจจะตั้งรับไม่ทัน เป็นต้น

 

จะเห็นว่าทั้ง 2 แบบต่างมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน จะเลือกใช้แบบไหน คู่รักหรือคู่สามีภรรยา ต้องพูดคุยตกลงกันอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินในระยะยาว

การวางแผนการเงินตามเป้าหมาย
 

  1. เป้าหมายระยะสั้น นอกเหนือจากการวางแผนแต่งงาน และการซื้อบ้านแล้ว ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายด้วย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าเทอมลูกๆ ค่าสันทนาการ และเงินสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น  โดยทำการตกลงกันว่าจะแบ่งรายได้มาเก็บร่วมกันคนละเท่าไหร่ และใครจะเป็นผู้บริหารเงินส่วนนี้ นอกจากนี้การวางแผนประกันภัยก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

    โดยปกติผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ควรจะต้องพิจารณาทำประกันชีวิตด้วยทุนประกันที่เหมาะสม ขั้นต่ำควรมีทุนประกัน 5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งปี เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับหัวหน้าครอบครัวขึ้น เป้าหมายทางการเงินของครอบครัวจะได้ไม่สะดุดไป

  2. เป้าหมายระยะกลาง หนึ่งในเป้าหมายระยะกลางที่สำคัญก็คือ การวางแผนมีลูก เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบัน เราเริ่มแต่งงานช้าลง (แต่งงานที่อายุที่สูงขึ้นกว่าในอดีต) ทำให้มีลูกได้ยากขึ้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพื่อการมีลูกที่สูงขึ้น หลายคู่ไม่ตัดสินใจว่าจะมีลูกดีหรือไม่ จึงปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านไปหลายปีก็ยังไม่มีลูกสักที จึงต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งยิ่งมีอายุที่มากขึ้น ก็อาจส่งผลทำให้มีลูกได้ยากขึ้น หลายคู่ตอนเริ่มต้นชีวิตคู่ ก็ตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดการเปลี่ยนใจ ก็ประสบปัญหาเมื่ออายุมาก ก็มีลูกยากขึ้นด้วยเช่นกัน และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดังนั้นคำแนะนำก็คือ ควรพูดคุยและวางแผนเรื่องลูกให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ เพื่อจะได้มีการเตรียมเงินไว้อย่างเหมาะสม

  3. เป้าหมายระยะยาว ที่สำคัญคือการวางแผนการศึกษาบุตรและการวางแผนเกษียณอายุ จุดที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปก็คือ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับลูกมากกว่าการเกษียณอายุของตัวเอง ทำให้มีเงินเท่าไหร่ก็ทุ่มไปที่ลูกจนหมด

อย่าลืมว่าการที่เราแต่งงานช้าลง และมีลูกช้าลง ทำให้บางคนตอนที่เกษียณอายุแล้ว ลูกอาจจะยังเรียนหนังสือไม่จบ หรือเพิ่งจบพอดี และแน่นอนลูกอาจจะยังมีรายได้จากการทำงานที่ไม่มากพอที่จะมาเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามเกษียณได้ หรือว่าง่ายๆ ว่าเราไม่อาจคาดหวังให้ลูกของเรามาเลี้ยงดูเรายามแก่เฒ่าได้เหมือนในอดีต ดังนั้นพ่อแม่เอย อย่าลืมวางแผนเกษียณอายุของตัวเองไว้ด้วย

คำแนะนำในการจัดสินทรัพย์การเงินที่เหมาะสม

 

  • ควรมีเงินสภาพคล่อง 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายของครอบครัว อยู่ในบัญชีออมทรัพย์และ/หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

  • ประกันชีวิตสำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ทุนประกันที่เหมาะสมคืออย่างน้อย 5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งปีของครอบครัว

  • ประกันสุขภาพ วางแผนโดยพิจารณาจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ โดยพิจารณาจาก เมื่อเวลาเจ็บป่วย ใช้บริการของโรงพยาบาลอะไร และโรงพยาบาลดังกล่าวนั้นมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาลประมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็มาพิจารณาจากสวัสดิการที่เรามีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอควรซื้อประกันสุขภาพส่วนตัวเพิ่มเติม

  • พอร์ตการลงทุนสำหรับเป้าหมายการศึกษาบุตร พิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่รับได้ และระยะเวลาการลงทุน หากวางแผนตั้งแต่ลูกแรกเกิด ทำให้มีระยะเวลาลงทุนที่ค่อนข้างนาน สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้

  • พอร์ตการลงทุนสำหรับเป้าหมายเกษียณอายุพิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่รับได้และระยะเวลาการลงทุนเช่นกันสามารถใช้ RMF มาประกอบในพอร์ตการลงทุนได้ (เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี)

 

การออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนเพื่ออนาคตและการสร้างครอบครัวนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงคุณวางแผนให้ถูกหลัก และตั้งใจทำตามแผนการที่วางไว้จนบรรลุเป้าหมายและประสบผลสำเร็จ เพียงเท่านี้ ชีวิตคู่ของคุณก็จะยืนยาว และมีความมั่นคง


บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ