ผักสวนครัวคนเมือง เทรนด์นี้ทำได้จริง ไม่อิงกระแส

กระแสนิยมปลูกผักสวนครัวริมรั้วริมระเบียง ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนเมืองอีกต่อไป แถมยังกลายเป็นวงการที่เข้าแล้วออกยากสำหรับหลายคน ในช่วงเวลาที่หลายชีวิตหันมา “ติดบ้าน” มากขึ้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ชิมผักสดปลูกเองที่สะอาด ปลอดภัย แถมยังได้เติมเต็มอารมณ์ถวิลหาธรรมชาติ งานอดิเรกจึงกลายเป็นกิจวัตรที่ให้ประโยชน์จริงสำหรับคนเมืองยุคนี้ ลองมาดูกันว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ผักสวนครัวของคนเมืองจะคงอยู่ไปนานๆ แบบยังไม่ตกกระแสง่ายๆ


1) เพราะคนทำงานที่บ้านมากขึ้น


บริษัทหลายแห่งสบช่องประหยัดค่าใช้จ่าย และออกนโยบายให้ทำงานจากบ้านมากขึ้น ถือเป็นแรงหนุนให้คนที่ทดลองปลูกผักสวนครัวไว้ได้มี “เวลา” เอาใจใส่ดูแลพืชผลแปลงน้อยของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องขยี้ตาตื่นมารดน้ำตั้งแต่เช้า หรือเฝ้ากระวนกระวายว่าจะกลับเย็นเกินเวลารดน้ำผักน้อยๆ หรือเปล่า เรียกว่า เวลาที่เอื้ออำนวยแบบนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสานสัมพันธ์ความรักในการเกษตรแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว


2) เพื่อกายและใจที่แข็งแรง


แม้พืชผักในท้องตลาดเริ่มติดป้ายปลอดสารพิษ แต่แท้จริงบางอย่างอาจเป็นเพียงผ่านกระบวนการชำระสารเคมีนานกว่าที่เคย ดังนั้นการได้กินผักที่เป็นอินทรีย์จริงๆ จึงมีน้อยมาก แต่หากลองเข้าสู่วงการปลูกเองที่การันตีความปลอดภัย ได้ลองลิ้มชิมรสผักหวานกรุบกรอบ สดและสะอาดแบบไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ เชื่อว่าการปลูกผักบริโภคเองจะเป็นโลกใหม่ของผู้รักสุขภาพแน่นอน เพราะนอกจากได้รับประทานผักสดไฟเบอร์สูงช่วยระบบย่อยอาหาร และยังไร้สารเคมีอีกด้วย และถือเป็นแรงหนุนต่อสุขภาพใจให้ดีตามมา เพราะการได้เห็นผลผลิตจากการลงมือของตัวเอง มักจะสร้างสารความสุขให้ผู้ปลูกได้อิ่มใจไม่น้อย

homegrown-vegetable-opportunity-01

3) ประหยัดสตางค์คือผลพลอยได้


แน่นอนว่าการปลูกผักอาจยุ่งยากกว่าการซื้อหาจากร้าน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่อาจยังไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ขอให้อดใจรอสักนิด เมื่อได้ผลผลิตต่อเนื่องแล้ว เราจะมีแรงใจขยายแปลงและเพิ่มชนิดผักมากขึ้น เผลอแวบเดียวเดียวรั้วข้างบ้าน ริมระเบียงคอนโดมิเนียมจะมีผักที่ชอบให้เลือกกินมากมาย สุดท้ายจะเห็นการเปรียบเทียบที่ชัดว่า การมีแปลงผักของตัวเองประหยัดกว่าการไปซื้อผักข้างนอกกำละ 10-20 บาทต่อครั้ง แถมยังต้องเสี่ยงกับสารเคมีและยาฆ่าแมลงด้วย การประหยัดแบบนี้ จะยิ่งเห็นได้ชัดกับบ้านที่มีสมาชิกหลายคน โดยเฉพาะช่วงผักแพงในฤดูแล้งที่ที่หลายอย่างราคาแทบจะเอื้อมไม่ถึงกันเลย


4) ช่วยรักษ์โลกจากสิ่งที่มี


อุปกรณ์เพาะปลูกไม่จำเป็นต้องเริ่มจากของใหม่ทั้งหมด สามารถนำสิ่งของข้างกายมาปรับแต่งเป็นที่ปลูกผักได้มากมาย ตั้งแต่ ขวดน้ำพลาสติกมาเพาะชำผักที่ขึ้นง่าย กระเช้าปีใหม่หรือเศษไม้อัดนำมาปรับเป็นกระบะปลูกผัก แม้กระทั่งกระเบื้องหลังคาเก่าก็สามารถมาปลูกผักสลัดได้ หรือตะกร้าพลาสติกใส่ขนมจีน ก็แปลงร่างนำมาร่อนดินละเอียดสำหรับเพาะต้นกล้าได้ เปลือกไข่ไก่ที่ตอกกินล้างและตากให้แห้งแล้ว รอมาผสมกับกากกาแฟที่ดริปดื่มประจำทุกเช้าหลังนำไปตากให้แห้ง ก็สามารถมาเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับพืชได้เหมือนกัน

5) สัมพันธภาพที่ดีครอบครัว-เพื่อนบ้าน-ชุมชน


แปลงผักยังสร้างความสามัคคีและกิจกรรมที่เรียกการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัว เช่น ช่วยกันรดน้ำพรวนดิน โดยเฉพาะเด็กๆ จะได้มีเวลาจับดิน ดูไส้เดือน และเรียนรู้เรื่องเกษตรแบบนอกห้องเรียน ขณะที่ยังแบ่งปันผลผลิตให้เพื่อนบ้านหรือชุมชน พร้อมแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ กล้าต้นไม้ที่ต่างได้รับและฟูมฟักจนโต นำไปสู่การสร้างความสามัคคีในชุมชน ใช้พื้นที่ส่วนกลางให้เกิดเป็นผลผลิตผักอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ด้วย


ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอว่า การปลูกผักสวนครัวสำหรับคนเมืองนั้น สามารถทำต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ได้อิงกระแสเพียงเพียงช่วงครู่เหมือนสายลมพัดผ่านเท่านั้น


ที่มา
https://home.kapook.com/view106872.html
https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/7f618f8d-0bf7-e611-80dc-00155dddb706?isSuccess=False
https://health.mthai.com/howto/health-care/14086.html
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/56457
https://www.greenery.org/articles/homemade-fertilizer/?fbclid=IwAR2csW0QC0KrzYWgZ3WCq9cLbFYjj8AI_Mr6ld3pHSeV00XhH1APgJHAGec