อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง

เมื่อราว 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการทำร้ายชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากความเกลียดชังชาวเอเชียเพราะคิดว่าเป็นต้นตอของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 มี ชาวฟิลิปปินส์ถูกมีดคัตเตอร์เฉือนที่หน้า มีชาวจีนถูกตบหน้าและถูกเผาทั้งเป็น ยังมีชาวเอเชีย 8 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงถล่มร้านสปา 3 แห่งในคืนเดียว รวมถึงมีชายชาวไทยถูกผลักล้มลงและในที่สุดเสียชีวิตในเมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย

อาชญากรรมลักษณะเช่นนี้เรียกกันว่า “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” หรือ Hate Crime ซึ่งหมายความถึง การกระทำความผิดอาญาที่กระทำลงเพราะอคติว่าตนกับเหยื่อแตกต่างกัน ไม่ว่าจะทางเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนา เป็นการกระทำความผิดที่เข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติ จึงขัดแย้งกับหลักความเท่าเทียมกันของบุคคลได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดของหลายประเทศ

ในสหรัฐอเมริกา ชาวจีนและชาวเอเชียถูกมองเป็น “คนอื่น” มาตั้งแต่ยุคสมัยที่ชาวจีนรุ่นแรกอพยพมาเป็นแรงงานในยุคตื่นทอง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐฯ จับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นไปกักขังไว้ในค่ายกักกัน เพราะกลัวว่าคนเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นสปายให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น

กระแสการต่อต้านชาวเอเชียปะทุขึ้นอีกครั้งในยุคที่ Donald Trump ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพราะเขาพยายามปลุกกระแสชาตินิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงานผิวขาวโดยการใช้ประเทศจีนเป็นศัตรูร่วม กระแสเกลียดชังชาวอเมริกันเชื้อสายจีนและเชื้อสายเอเชียยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามโยนความผิดให้รัฐบาลจีนเป็นต้นเหตุของการระบาด

hate-crime

Mazie Hirono สมาชิกสภาคอนเกรสหญิงเชื้อสายญี่ปุ่น พรรคเดโมแครต จึงได้ผลักดันร่างกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมอันเกิดจากความเกลียดชังจนผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและสภาคอนเกรส ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังอันเนื่องมาจากเชื้อไวรัส COVID-19 (COVID-19 Hate Crimes Act) เพื่อตอกย้ำความจำเป็นในการต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังชาวเอเชียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกา กฎหมายฉบับนี้มุ่งหมายให้รายงานการเกิด Hate Crime เข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับมลรัฐ และเพื่อประกันว่าแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำรายงานมีปรากฏบนอินเทอร์เน็ตในหลากหลายภาษา อีกทั้ง กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อเร่งรัดจัดการกับปัญหา Hate Crime นอกจากนั้น รัฐบาลกลางยังจะจัดสรรงบประมาณแก่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลมลรัฐในการรณรงค์เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหา Hate Crime อีกด้วย

จากรายงาน Stop AAPI Hate Reporting Center ชี้ มีรายงานการเลือกปฏิบัติอย่างน้อย 2,808 ครั้งในช่วงเดือนมีนาคม ถึงธันวาคม พ.ศ. 2563 โดย 70.9% เป็นการดูถูกเหยียดหยามด้วยคำพูด ขณะที่ 8.7% เป็นการทำร้ายร่างกาย บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หลายฝ่ายคาดยังมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่ได้รับการรายงานอีกมากในสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย เรายังไม่มีกฎหมายต่อต้าน Hate Crime โดยตรง เราทำได้แต่เพียงอาศัยฐานความผิดทางอาญาที่ใกล้เคียง เอาผิดกับผู้ก่อ Hate Crime ในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น หากการกระทำ Hate Crime เข้าลักษณะก่อการร้าย ผู้กระทำก็อาจมีความผิดฐานก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 ถึง 135/4 ประมวลกฎหมายอาญาได้ หรือหากการกระทำ Hate Crime เข้าลักษณะการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ผู้กระทำก็จะมีความผิดตามมาตรา 289 (4) ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น

บทความโดย กรรภิรมย์ โกมลารชุน

แหล่งที่มา:

https://thestandard.co/usa-draft-law-effort-against-hate-crimes/

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-56218684

https://www.npr.org/2021/05/20/998599775/biden-to-sign-the-covid-19-hate-crimes-bill-as-anti-asian-american-attacks-rise