ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เกมโชว์ที่น่าหดหู่ที่สุดในโลก
เรื่อง: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
How student debt crisis inspires a game show
Hi-Light:
“เราถามนักศึกษาจบใหม่หนึ่งร้อยคนว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้พ่อแม่เจอในห้องมากที่สุด คุณคิดว่าคืออะไรครับ” พิธีกรอ่านคำถามจากโพย
ทีอารา หญิงผิวดำหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรีบกดปุ่มตอบด้วยความว่องไว เธอแทบจะพูดก่อนพิธีกรเรียกชื่ออยู่แล้วว่า “ถุงยาง?” ถูกไหม? คำตอบก็คือถูก! “ถูกครับ! มีคนตอบว่าถุงยางเป็นอันดับหนึ่งเลยครับ! ได้คะแนนที่หนึ่งเลยครับทีอารา รับไปเลยสองร้อยเหรียญ!”
นี่คือเกมโชว์ - เกมโชว์เดียวที่ “พยายามแก้ปัญหาหนี้การศึกษา” ไมเคิล ทอร์พี พิธีกรของรายการประกาศไว้อย่างนั้น แต่เขาก็ยอมรับว่า “มันเป็นเกมโชว์ที่ไม่ควรมีอยู่” นิตยสาร The Atlantic เรียก Paid Off (ชื่อของรายการนี้) ว่าเป็น “เกมโชว์ที่หดหู่ที่สุด” และมันก็ยังเป็น “เกมโชว์ที่เป็นอเมริกัน” ที่สุดด้วย
นั่นหมายความว่าอเมริกากำลังอยู่ในสถานะหดหู่ที่สุดใช่ไหม?
คำตอบก็คือใช่ - วิกฤติหนี้การศึกษาของอเมริการุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น
หนทางรอดแบบดีฟอลต์หนทางแรกที่คนมักจะนึกถึงที่สามารถพาเราไต่เต้าชนชั้นทางสังคมพอให้ขึ้นไปลืมตาอ้าปากได้ก็คือการศึกษา เราอาจได้ยินคำพร่ำสอนของพ่อแม่และญาติโยมในตอนยังเป็นเด็ก “เรียนให้สูงๆ เรียนให้เก่งๆ เข้าไว้ลูก จะได้เป็นเจ้าคนนายคน” แต่เมื่อทุกคนถูกสอนให้เรียนสูง - เรียนเก่ง และตำแหน่ง “เจ้าคนนายคน” มีจำกัด นี่จึงกลายเป็นเกมที่มีผู้ชนะเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ผลลัพธ์ส่วนหนึ่งคือค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น สูงจนใครบางคนไม่อาจจ่ายไหว ในทศวรรษที่ผ่านมา หนี้การศึกษาระดับวิทยาลัยของอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ - เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า
บัณฑิตจบใหม่บางคนไม่ได้ “เริ่มต้นจากศูนย์” ณ วินาทีที่พวกเขาสาวเท้าออกจากรั้ววิทยาลัย แต่พวกเขา “เริ่มต้นจากการติดลบ” โดยอาจติดลบหรือเป็นหนี้มากถึง 60,000 เหรียญสหรัฐ (1.8-1.9 ล้านบาท) เมื่อเราคิดว่าพนักงานระดับกลางๆ ของบริษัทในสหรัฐได้รายได้เท่ากันในระยะหนึ่งปี เราก็อนุมานได้ว่าบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้ต้องเสียเวลาไปมากมายในการที่จะได้ “เริ่มต้นจากศูนย์” อย่างแท้จริง
Paid Off มีผู้เข้าแข่งขันในแต่ละเทปสามคน แต่ละคนจะประกาศปริมาณหนี้ของตนเองซึ่งมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นเหรียญออกมา ฟอร์แมตหลักของรายการคล้ายกับรายการเกมเศรษฐี - เป็นการตอบคำถาม - คำถามในรายการมีตั้งแต่คำถามเชิงวิชาการ (ที่พวกผู้เข้าแข่งขันควรได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย) ไปจนถึงคำถามนอกห้องเรียน (อย่างเช่น “คนควรเดทกันนานเท่าไร จึงจะตดต่อหน้ากันได้” คำตอบยอดนิยมคือหกเดือน) บางคำถามเป็นการวิพากษ์สังคมที่ตั้งใจพุ่งเป้าไปที่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาของอเมริกาโดยเฉพาะ ส่วนเป้าหมายของผู้เข้าแข่งขันก็คือการปลดหนี้
ในไทยเองมีรายการที่พอเทียบเคียงกันได้คือรายการ “ปลดหนี้” ทางช่อง 7 ที่ฉายมาตั้งแต่ปี 2001 ที่ต่างออกไปจากการปลดหนี้การศึกษาในรายการ Paid Off, คนที่มาร่วมรายการปลดหนี้มักเป็นชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ติดหนี้ทำกินเสียมากกว่า ความคิดเห็นในพันทิปที่มีต่อรายการนี้เป็นความคิดเห็นชื่นชมเป็นส่วนมาก “หลายครั้งที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันร้องไห้ เราก็ซึ้งไปด้วย” “ตอนเด็กๆ โครตไม่ชอบเลยย บ่ายสามวันเสาร์ทีไรเซ็งทุกที... แต่พอโตมาได้ดูเต็มๆ ว่ารายการนี้คืออะไร.. ก็รู้สึกชอบรายการนี้จัง ช่วยคนยากคนจน คนที่เขาเป็นหนี้ คนเหล่านี้ล้วนแต่สู้ชีวิต...” เป็นอาทิ
เกมโชว์สามารถใช้เป็นกระจกส่องวัฒนธรรมได้ไหม? Amir Hetsroni ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย Koc ในอิสตันบูลบอกว่าได้ เขาตีพิมพ์งานศึกษาชุดคำถามของรายการ Who wants to be a millionaire? (เกมเศรษฐี) ในประเทศต่างๆ เจ็ดประเทศ (สหรัฐฯ รัสเซีย โปแลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ อิสราเอลและซาอุดิอารเบีย) พบว่าถึงแม้ฟอร์แมตของรายการจะคล้ายคลึงกัน แต่ชุดคำถามที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องตอบนั้นแตกต่างกันมาก “ประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่ามักถามคำถามที่เป็นสากลมากกว่า ส่วนประเทศเล็กๆ อย่างประเทศในยุโรปก็มักถามคำถามเชิงท้องถิ่นมากกว่า” นอกจากนั้น “ประเทศในแถบตะวันตกจะถามคำถามเรื่องบันเทิงมากกว่า ในขณะที่ประเทศรัสเซียและโปแลนด์จะถามคำถามทางภาษาและประวัติศาสตร์มากกว่า” Hetsroni คิดว่าเราสามารถใช้เกมโชว์เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมหนึ่งๆ ได้ ว่าคนในประเทศนั้นสนใจอะไร มีความคิดเห็นเช่นไร มีความสุข ความทุกข์ หรือความเจ็บปวดอย่างไร
แล้วเกมอย่าง Paid Off และเกมปลดหนี้กำลังบอกอะไรกับเรา?
สำหรับคำถามนี้ ใครพร้อมตอบสามารถกดปุ่มตรงหน้าได้เลยครับ