7 สเต็ป คงความฟิตสุขภาพการเงิน

เมื่อเราอายุยังน้อยการตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยังรอได้ ไม่ต้องรีบร้อน แต่ในความจริงแล้วไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่การหมั่นตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองทั้งในวันนี้และในอนาคต นี่เป็น 7 เรื่องที่ควรหมั่นตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของคุณ

1. รู้ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินเท่าไหร่

ทรัพย์สินที่คุณมีและหนี้สินที่คุณต้องจ่ายจะเป็นตัวบอกความมั่งคั่งทางการเงินของคุณ ทรัพย์สินอาจหมายถึงเงินสด เงินฝากธนาคาร ทองคำ หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวมต่างๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิ่งของอื่นๆ ที่มีราคา เช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับต่างๆ  ส่วนหนี้สินคือรวมหนี้ที่คุณต้องชำระทั้งหมด ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง ซึ่งทรัพย์สินและหนี้สินควรมีการคำนวณอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเอามูลค่าทรัพย์สินที่มีมารวมกันและลบด้วยหนี้สิน จะทำให้คุณเห็นสถานะทางการเงินของตัวเองชัดเจนขึ้น

2. ตรวจสอบเป้าหมายทางการเงิน

ในแต่ละปี ให้คุณคิดถึงเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ว่าตอนนี้ยังเป็นไปตามแผนหรือไม่ และทั้งแผนระยะสั้น กลางและยาว สอดคล้องกันหรือไม่ การเงินของคุณยังอยู่ในเกมส์หรือไม่  แผนระยะสั้นเช่น ปลดหนี้บัตรเครดิต หรือแผนระยะกลางคือเก็บเงินซื้อบ้าน ทั้งแผนระยะสั้นและระยะกลางอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ่อยกว่าแผนการเงินระยะยาวเช่น การเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ดังนั้นสำหรับแผนระยะสั้นและระยะกลางควรทำการประเมินทุกๆ 3 ถึง 6 เดือน

3. ตรวจสอบเครดิตของตัวเอง

สถาบันการเงินต่างๆ ที่คุณใช้บริการจะส่งข้อมูลเครดิตของคุณให้เครดิตบูโรทุกเดือน และธนาคารจะส่งรายงานที่ส่งให้เครดิตบูโรให้ลูกค้าด้วยว่าทางสถานะของเครดิตเป็นปกติหรือไม่ โดยเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลเครดิตของประชาชนแต่ละคนไว้ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบข้อมูลเครดิตของคุณที่ทางเครดิตบูโรเก็บไว้ได้ สามารถอ่านวิธีการขอข้อมูลเครดิตบูโรได้ที่ https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/gep-yon-lang-gee-pee

4. ระบุรายชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์

เมื่อคุณซื้อประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ หรือประกันบำนาญต่างๆ คุณจะถูกถามให้ระบุผู้ได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ในกรณีที่คุณเสียชีวิต ซึ่งปกติจะเป็นคู่สมรสหรือบุตรจะเป็นบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ แต่คุณสามารถระบุให้ผู้อื่นเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ก็ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากชีวิตนั้นไม่แน่นอนอาจมีการหย่าร้างกับคู่สมรสเดิมหรือการเสียชีวิตของคู่สมรสหรือของบุตร ดังนั้นจึงควรตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์แต่ละฉบับเป็นประจำทุกปี

5. วางแผนภาษี

ตรวจสอบรายได้รวมเพื่อทราบฐานภาษีของตัวเอง และวางแผนในการลดหย่อนภาษีให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด โดยตรวจสอบสิทธิในการลดหย่อนภาษีของตัวเองว่าสามารถซื้อ SSF หรือ RMF ได้เท่าไหร่ รวมทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพและประกันบำนาญ ดอกเบี้ยบ้าน เงินบริจาค และอื่นๆ  เพราะการวางแผนภาษีที่ดีก็เหมือนมีเงินเก็บเพิ่ม และการแจ้งนายจ้างระหว่างปีว่าคุณมีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้างจะช่วยทำให้คุณถูกหักภาษีในแต่ละเดือนน้อยลง และสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนให้งอกเงย แทนที่จะต้องรอเป็นปีเพื่อให้ได้รับเงินคืนภาษีกลับมา

6. การลงทุนกับเป้าหมายการเป้าหมายการเงิน

ควรตรวจสอบการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ ทองคำและอื่นๆ ทุกควอเตอร์ ในเดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคมและตุลาคม เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนสอดคล้องกับแผนการเงินและสอดคล้องกับช่วงอายุของคุณ

7.ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีประกันที่เหมาะ

ควรทำการตรวจสอบการประกันทั้งประเภทและวงเงินคุ้มครองอย่างน้อยปีละครั้ง เช่น ถ้าเกิดเพิ่งมีบ้านก็ควรมีประกันภัยบ้านที่รวมทั้งอัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่นน้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมทั้งอุบัติเหตุอื่นๆ ที่อาจสร้างความเสียหายให้ตัวบ้าน รวมทั้งการโจรกรรม ถ้าคุณเป็นหัวหน้าครอบครัวควรมีประกันชีวิตที่มีวงเงินที่สามารถทำให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังใช้ชีวิตต่อไปอีกได้อย่างน้อย 5 ปี ถ้าคุณต้องจากไปก่อนเวลาอันสมควร หรือประกันชดเชยรายได้ในกรณีเจ็บป่วยหรือทุพลภาพไม่สามารถทำงานได้ ถ้าหากมีลูกที่ยังเล็กก็ควรมีประกันสุขภาพให้ลูกเพราะเด็กเล็กมักเจ็บป่วยบ่อยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีราคาแพง เป็นต้น

ชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน รายได้ที่อาจเป็นไปได้ทั้งมุมบวกและมุมลบ เช่น การตกงานกะทันหัน การเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ การแต่งงานมีครอบครัว การหย่าร้าง ทุกเหตุการณ์ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพและเป้าหมายทางการเงินของคุณ เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อให้มั่นใจว่า สุขภาพทางการเงินของคุณยังดีอยู่การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น การมีประกันที่เหมาะสมทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพทั้งสำหรับตัวคุณเองและคนในครอบครัวที่คุณต้องดูแลเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่จะช่วยสร้างวามมั่นคงทางการเงินแถมยังช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย  SCB มีผลิตภัณฑ์ด้านประกันครบวงจรสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่


อ้างอิง

https://bettermoneyhabits.bankofamerica.com/en/saving-budgeting/financial-fitness-tips