ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
กองทุนรวมดัชนี เข้าใจง่าย ใช้เงินลงทุนน้อย เก็บดอกผลกินยาว
ในงานประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ จำกัด (Berkshire Hathaway) ปี 2004 วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท ได้แชร์ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนที่ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งถามว่า “ถ้าคุณลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่มีต้นทุนต่ำโดยที่ไม่ลงทุนหนักๆ ในครั้งเดียว แต่ลงทุนถัวเฉลี่ยอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี คุณจะได้ผลตอบแทนดีกว่านักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ในเวลาเดียวกัน”
บัฟเฟตต์ อธิบายต่อไปว่า “ถ้าคุณสามารถสละเวลามาศึกษาเรื่องลงทุนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6 - 8 ชั่วโมงได้ก็สามารถลงทุนเองได้ แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ให้ลงทุนแบบซื้อสะสมเป็นประจำในกองทุนรวมดัชนี ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงทั้งด้านสินทรัพย์และด้านเวลา เพราะทั้งสองสิ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน”
กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) คือกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีกลยุทธ์การบริหารการลงทุนลักษณะเชิงรับ (Passive Management) ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี โดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้มากที่สุด
สำหรับกองทุนรวมดัชนีในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะลงทุนดัชนีอ้างอิงหุ้น เช่น ดัชนี SET50 Index, SET100 Index หรือดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศก็สามารถไปลงทุนในดัชนีตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย
วิธีการลงทุนของกองทุนรวมดัชนี คือ ผู้จัดการกองทุนจะพยายามจัดสัดส่วนการลงทุนให้ล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เช่น ถ้ากองทุนรวมดัชนีอ้างอิงกับ SET50 Index ก็จะลงทุนในหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดทั้ง 50 ตัวในตลาดหุ้นไทย หรือถ้าอ้างอิงกับ SET100 Index ก็จะลงทุนในหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดทั้ง 100 ตัวในตลาดหุ้นไทย และถ้าอ้างอิงกับหุ้นกลุ่มพลังงาน หมายความว่า กองทุนรวมดัชนีจะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานทั้งหมด
การบริหารการลงทุนในลักษณะนี้ ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมดัชนีใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงมากที่สุด เช่น ถ้าผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้อ้างอิงเพิ่มสูงขึ้น 10% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ของกองทุนรวมดัชนีดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียง 10% เช่นเดียวกันหากผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้อ้างอิงปรับลดลง NAV ของกองทุนรวมดัชนีดังกล่าวก็จะปรับลดลงใกล้เคียงกัน
สำหรับการดูว่ากองทุนรวมไหน คือ กองทุนรวมดัชนี สามารถสังเกตจากชื่อกองทุนซึ่งจะตั้งตามดัชนีอ้างอิง เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET50 Index หมายถึงเป็นกองทุนรวมดัชนีอ้างอิงกับดัชนี SET50 Index หรือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET Banking Sector Index ก็เป็นกองทุนรวมดัชนีอ้างอิงกับดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์
นอกจากนี้ สามารถเข้าไปดูในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม โดยจะเขียนกำกับเอาไว้เลยว่าประเภทกองทุนรวมนี้เป็นกองทุนรวมประเภทไหน อีกทั้งสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ซึ่งจะแยกกองทุนรวมตามนโยบายการลงทุนเอาไว้อย่างชัดเจน โดยกองทุนรวมดัชนีก็เป็นหนึ่งในนั้น
ข้อมูลจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่าความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวมดัชนีหุ้นนั้น เนื่องจากเป็นการเลือกลงทุนในหุ้น โดยมุ่งหวังให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมเกาะกลุ่มไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอ้างอิงและไม่มุ่งเอาชนะผลตอบแทนเหนือดัชนีอ้างอิงเหมือนกับกองทุนรวมที่มีการบริหารการลงทุนลักษณะเชิงรุก (Active Management) โดยในหนังสือชี้ชวนจะบอกเอาไว้อย่างชัดเจนว่ากองทุนรวมดังกล่าวมีกลยุทธ์การบริหารแบบเชิงรุก หรือเชิงรับ
ดังนั้น กองทุนรวมดัชนีหุ้นจึงมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป โดยมีเพียงความเสี่ยงจาก ความผันผวนของดัชนีโดยรวมเท่านั้น แต่จะไม่มีความเสี่ยงจากการที่ผู้จัดการกองทุนบริหารกองทุนผิดพลาด เช่น เลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามที่คาด เพราะเมื่อกองทุนรวมดัชนีเลือกลงทุนตามเป้าหมายแล้ว ผลตอบแทนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงมากที่สุด
ฉะนั้น กองทุนรวมดัชนีจึงมีความเหมาะสมกับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการเริ่มลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแต่ยังไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลว่ากองทุนรวมหุ้นกองไหนมีนโยบายการลงทุนและเลือกหุ้นที่เหมาะสมกับ ความต้องการของตัวเองหรือไม่
นอกจากนี้
กองทุนรวมดัชนี ยังเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว หรือวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ด้วยวิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยสม่ำเสมอ (Dollar Cost Averaging : DCA) เพราะหุ้นเหมาะกับการลงทุนระยะยาว เช่น 10 ปี, 20 ปี เป็นต้น ยิ่งลงทุนยาวเท่าไหร่ความเสี่ยงจะลดต่ำลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
โดยจากข้อมูลล่าสุด (31 มกราคม 2562) ผลตอบแทนรวมตั้งแต่ปี 2552 - 2561 (10 ปี) ของ SET50 Index (SET50 Total Return : SET50 TRI) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 17.77% ต่อปี ดังนั้น กองทุนรวมดัชนีที่ลงทุนอ้างอิงกับ SET50 Index ก็จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ใกล้เคียงกัน
เนื่องจากกองทุนรวมดัชนีที่มีการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง มีการบริหารจัดการที่ง่ายๆ จึงไม่ได้มีผู้จัดการกองทุนหรือนักวิเคราะห์จำนวนมากในการวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกหุ้นหรือพยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆ ดังนั้น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุนรวมดัชนีจึงอยู่ในระดับที่ต่ำ
หากพิจารณาผลตอบแทนของกองทุนรวมดัชนีก็จะล้อไปกับผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกลงทุนกองทุนรวมดัชนีจึงควรเน้นไปที่ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องอยู่ในระดับต่ำ
โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fact Sheet) ของแต่ละกองทุน โดยพิจารณา 4 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมดัชนีก็อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นสูงๆ หรือสนใจกองทุนรวมที่มีผู้จัดการเก่งๆ ในการคัดหุ้นเข้าพอร์ต เพราะกองทุนรวมดัชนี นักลงทุนไม่สามารถเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนได้ เมื่อลงทุนไปแล้วนักลงทุนจึงอยู่ในสถานะเหมือนว่าลงทุนในหุ้นทุกตัวที่กองทุนเลียนแบบ ดังนั้น อาจมีหุ้นบางตัวที่นักลงทุนไม่ชอบก็ได้
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมดัชนี ต้องถามตัวเองก่อนว่าเหมาะกับกองทุนประเภทนี้หรือไม่ จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนยาวขนาดไหน หรือมีเงินเหลือที่จะนำมาลงทุนกับกองทุนรวมดัชนีแบบ DCA หรือไม่ เพราะการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ควรมีจุดเริ่มต้นที่ดีและเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด