ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
SCB SME First to Move : เปิดวิสัยทัศน์ CEO ช่วงวิกฤตินี้ SME ต้องโตอย่างไร?
ย้อนกลับเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ยากที่ใครจะจินตนาการภาพของโลกในวันที่เกือบทุกกิจกรรมเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักและวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากภัยไวรัสโควิด-19 หลังจากฝ่าฟันวิกฤติมาร่วมปีกว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน CEO บมจ.แสนสิริ และคุณพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME SCB มาร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์การนำพาองค์กรธุรกิจและธุรกิจ SME ให้รอดในอีก 6 เดือนข้างหน้า พันธกิจที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีต่อสังคมในภาพรวม พร้อมกับข้อแนะนำผู้ประกอบการ SME ฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้
ใครปรับตัวได้ก่อน คนนั้น “รอด”
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ในฐานะคุณเศรษฐา เป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่างแสนสิริ ซึ่งมีพันธกิจในการดูแลพนักงาน คู่ค้า สังคม โดยทุกภาคส่วนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมให้อยู่รอดไปด้วยกัน คุณเศรษฐากล่าวถึงช่วง 14-15 เดือนที่ผ่านมาว่าทั้งโลกได้ต่อสู้อย่างหนักที่จะรอดจากโควิด ในส่วนประเทศไทย ซึงมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นตรงที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งก็สามารถยืนหยัดมาได้ ซึ่งวัคซีนที่มีผลิตมาหลายตัวเป็นสิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติในอีก 6 เดือนข้างหน้า และถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐบาลรับฟังภาคเอกชนในเรื่องนโยบายวัคซีนทางเลือกและปรับตัวเรื่องนโยบายวัคซีนทันที สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ทั้ง SME องค์กรธุรกิจ รัฐบาล ยืนอยู่ได้เมื่อถึงตอนนั้น
จากประสบการณ์ทำธุรกิจกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหลายวิกฤติ คุณเศรษฐาเป็นผู้บริหารองค์กรรายแรกๆ ที่ปรับตัวได้รวดเร็วมาก “อยากจะแชร์เป็นบทเรียนให้ SME หนุ่มสาวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระแสเงินสด กำไรขาดทุนเป็นเรื่องรอง ถ้าไม่มีเงินสดอย่าว่าแต่จะลงทุนเพิ่ม หรือซื้อวัสดุอุปกรณ์เลย จะเก็บบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ก็ทำไม่ได้” คุณเศรษฐากล่าว แสนสิริจึงถือว่าเป็น First Mover จัดโปรโมชั่นระบายสินค้าตั้งแต่ในไตรมาสที่ 1 และมีเงินสดในมือกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทสำหรับรองรับสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น
บริหารความคาดหวังของ “ธนาคาร” แหล่งเงินทุนช่วงวิกฤติ
สิ่งที่คุณเศรษฐามองว่าเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน คือการรักษาคำพูดและบริหารความคาดหวังให้ดี การพูดคุยกับธนาคารต้องบอกเล่าความเป็นไปในบริษัท เช่น ยอดขาย กำไร ฯลฯ อย่างตรงไปตรงมา และต้องมีความเที่ยงตรงในการทำตามในสิ่งที่เราพูดไว้ อย่าให้มีเรื่อง Negative Surprise เกิดขึ้น ทั้งนี้ในวิกฤติโควิดครั้งนี้ต่างจากวิกฤติปี 40 ตรงที่สถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งมาก และพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินก็ต้องการความมั่นใจ ความจริง ในการเปิดเผยข้อมูลจากผู้ประกอบการ ว่าเงินที่เขาให้ไปจะได้คืนกลับมา และในวันนี้ ธนาคารไม่ใช่แค่แหล่งเงินทุนอย่างเดียว แต่ช่วยทำเรื่องการตลาดด้วย เช่น แอป Robinhood ของ SCB ที่ไม่เก็บค่า GP ผู้ประกอบกการร้านอาหาร สิ่งที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องเข้าไปพูดคุยกับธนาคารว่าต้องการให้ช่วยอะไรบ้าง
“ถ้าลูกค้ารอด แบงก์ก็รอดด้วย ตอนนี้แบงก์ยังคงสนับสนุนสินเชื่อให้ธุรกิจตามปกติ” คุณพิกุลกล่าว ซึ่ง SCB ก็พร้อมดูแลเรื่องเงินทุนเต็มที่เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผู้ประกอบการธุรกิจต้องทำให้ธนาคารมั่นใจว่าจะชำระคืนได้อย่างไร โดยสิ่งที่สำคัญที่ธนาคารมองคือแผนธุรกิจว่าจะขายสินค้าได้หรือไม่ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด การขายสินค้าในราคาที่จะมีกำลังกลับมาจ่ายสินเชื่อคืนให้ธนาคารได้ ซึ่งตรงนี้ SME ต้องตอบให้แบงก์มั่นใจให้ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ SME แตกต่างจากธุรกิจรายใหญ่ คือเรื่อง Structure ของเงินทุน วินัยทางการเงิน แผนธุรกิจระยะยาว ที่ SME มักจะตอบไม่ได้และกลายเป็นข้อจำกัดของ SME ไทยที่ในการขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่ง SCB ก็มีเปิดคอร์สอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเพื่อปิดจุดอ่อนตรงนี้
อยากรอดต้อง LEAN
คุณเศรษฐากล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ SME เข้าไปติดต่อเล่าปัญหาให้ธนาคารฟัง ซึ่งธนาคารเองก็พร้อมจะช่วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองจะทำเหมือนเดิมไม่ได้ ก็ต้องปรับตัว มีแนวทางพัฒนาตัวเอง เช่น การ LEAN เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ด้วย เพราะ SME มีจุดอ่อนที่ระบบปฏิบัติการ และต้นทุน ถ้าไปหาธนาคารแล้วไม่ยอมปรับตัวเองเลยก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นต้องปรับตัวให้ไว ส่องหาจุดบกพร่องและความผิดพลาด เพื่อมาปรับปรุงการบริหารและการจัดการ
ในช่วงนี้ก็เป็นจังหวะให้องค์กรใหญ่อย่างแสนสิริ หันมาสำรวจตัวเองเพื่อพัฒนาปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในการปรับปรุงคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำสินค้าให้คนส่วนมากเข้าถึงได้ อย่างสมัยก่อนมี dcondo ราคา 2 ล้านกว่าๆ ในช่วง New Normal ก็เปิดตัว THE MUVE คอนโดฯ แบรนด์ใหม่ ราคาเริ่มต้นเหลือ 1 ล้านต้นๆ ทำเลใกล้แหล่งงาน มหาวิทยาลัย และชุมชน ในราคาที่เข้าถึงได้ เหมาะกับกำลังซื้อในตอนนี้
สำหรับคำถามว่าถ้าตัวคุณเศรษฐาเป็นผู้ประกอบการ SME ในวันนี้ จะทำอะไร? คำตอบคือ อันดับแรกไปหาธนาคารก่อน เพราะต้องลดรายจ่าย เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ซึ่งการลดดอกเบี้ยเป็นการลดต้นทุน จากนั้นก็ บริหารจัดการตัวเอง Lean ตัวเอง และขอ soft loan มาซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้า ค้าขายต่อไป รวมถึงตกลงกับธนาคารว่าถ้าหมดโควิดแล้วจะใช้เงินคืนเมื่อไหร่ อีกอย่างที่สำคัญคือในช่วงวิกฤติ ผู้ประกอบการ SME ควรโฟกัส Core Business ของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชำนาญ ทำอะไรได้ดี ก็ควรทำสิ่งนั้นต่อไป
ทำ Business Matching จับมือ SME ให้รอดไปด้วยกัน
อีกหนึ่งข้อแตกต่างของวิกฤติครั้งนี้ คือธนาคารและบริษัทใหญ่ยังคงแข็งแรงอยู่ วิธีการทำ Business Matching ที่ SCB แนะนำลูกค้า SME ที่ทำธุรกิจสินค้าที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น มุ้งลวด ผ้าม่าน วัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินค้าอื่นๆ ไปทำธุรกิจกับบริษัทใหญ่อย่างแสนสิริ ให้แสนสิริเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยซื้อ ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องยอดขายแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้พัฒนามาตรฐานคุณภาพการทำงานของตัวเองด้วย เพราะแต่เดิมที่ขายเอง ทำงานในแบบของตัวเอง แต่พอมาขายให้แสนสิริ ก็ต้องยกระดับคุณภาพการทำงานให้ได้ตามมาตรฐานของแสนสิริ
ในความเห็นของคุณเศรษฐา การช่วยเหลือ SME เป็นหน้าที่ของบริษัทใหญ่ที่ต้องทำ เพราะเสาหลักที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือสังคมที่ต้องช่วยเหลือจุนเจือให้รอดไปด้วยกัน แม้อาจจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นมา แต่ก็ต้องมั่นใจว่าคุณภาพต้องได้มาตรฐาน หรือมีจุดเด่นตอบโจทย์ให้กับลูกค้าของแสนสิริ ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ SME แต่ก็ต้องคัดกรองมาตรฐานสินค้าให้ลูกค้าของเราด้วย อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการ SME ลองติดต่อธนาคารหรือบริษัทรายใหญ่ อาจจะหาทางออกได้ และเมื่อเวลาที่ SME เข้ามาหาบริษัทใหญ่ๆ อยากให้เข้ามาแบบเท่าเทียมกัน เข้ามาด้วยความภาคภูมิใจในจุดแข็งธุรกิจของตัวเองว่ามีดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้า SCB ก็มาติดต่อได้ โดยแสนสิริมีหน่วยงานทำเรื่อง Partnership เป็นการทำงานกับหุ้นส่วนธุรกิจที่มาเติมเต็มให้ธุรกิจของแสนสิริ ให้ทั้งสองฝ่าย win-win ในระยะยาว
อีก 6 เดือนข้างหน้า ธุรกิจจะเป็นอย่างไร?
ในความเห็นของคุณเศรษฐามองในมุม Super Positive ว่าอีก 6 เดือนเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว จะเป็น Big Turnaround ของธุรกิจ ที่จะกลับมาเหมือนเดิม 80% เพราะจากที่โลกหยุดไป 20 เดือน ผู้คนที่อัดอั้นมากนานจะมีความกระหายในกลับมาจับจ่ายสร้างความสุขให้ตัวเอง โลกจะมีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในทิศทางที่บวกมาก ๆ ในส่วนแสนสิริก็ต้องเริ่มสร้างโปรเจ็กต์ตั้งแต่วันนี้ให้พร้อมขายในช่วงปลายปีเมื่อตลาดกลับมา โดยระหว่างบ้านกับคอนโด ตลาดบ้านยังไปได้เรื่อยๆ ตลาดคอนโดจะฟื้นตัวช้ากว่า แต่คอนโดทำเลดีก็ยังมีศักยภาพ ยังมีความต้องการอยู่ ทำเลดีในที่นี้คือที่สามารถปล่อยเช่าได้ เช่น CBD เส้นรถไฟฟ้า สุขุมวิท พหลโยธิน รัชดา รามคำแหง เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญคือราคาต่อยูนิตที่คนสามารถเข้าถึงได้ ราคาต้องตอบโจทย์ New Normal เพราะผู้คนจะมีความสามารถในการซื้อต่ำลง
การบริหารวิกฤติในแบบฉบับของคุณเศรษฐา
“เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ จึงต้องให้ทำงานหนักเพื่อเข้าให้ถึงข้อมูล เข้าให้ถึงตัวเลข รวมถึงการมีวินัย กล้าตัดสินใจ และการไม่ยึดติด เพราะการยึดติดจะทำให้ตัดสินใจช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ ถ้าสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปได้ ก็สามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ได้” คุณเศรษฐากล่าวสรุป
ที่มา : Clubhouse SCB SME Survival Club ชวนเปิดห้องคุย First to Move : SME ต้องโตอย่างไร? วันที่ 21 เมษายน 2564