รู้จัก Ricult สตาร์ทอัพ AgriTech แก้ Pain Point เกษตรกร ยกระดับธุรกิจเกษตรไทย

ทำไมธุรกิจการเกษตรที่มีการจ้างงานมากถึง 1 ใน 3 แต่กลับสร้างตัวเลข GDP ได้เพียง 8.7%? คำถามนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder & CEO Ricult  ผู้ผ่านประสบการณ์การเป็น  Tech Entrepreneur และที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา หันมาก่อตั้งทำ Ricult สตาร์ทอัพเรื่องการเกษตร ซึ่งคุณอุกฤษได้แบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้จาก MIT ถึงการนำความรู้มาใช้พัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร


รู้จัก Ricult สตาร์ทอัพ AgriTech


Ricult แพลตฟอร์มดิจิทัลบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและการจัดซื้อผลผลิตแบบครบวงจร โดยเปิดให้เกษตรกรใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยในไทยมีเกษตรกรใช้งานกว่า 6 แสนราย และได้ขยายไปที่เวียดนามและปากีสถาน จนปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยใช้อยู่กว่า 1 ล้านราย ในอีกด้านหนึ่งระบบ ERP ของ Ricult ก็เป็นระบบที่โรงงานเกษตรแปรรูปขนาดใหญ่ใช้ Big Data มาบริหารจัดการทำ Sourcing และ Contract Farming  สินค้าเกษตรเข้าสู่โรงงาน ให้สามารถจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างสม่ำเสมอ


ทำไมธุรกิจการเกษตรถึงน่าสนใจ?


สาเหตุที่สนใจภาคอุตสาหกรรมเกษตร ประเทศไทยมีการจ้างงานในภาคเกษตร 32% แต่สร้าง GDP ได้เพียง 8.7% แสดงถึงช่องว่างในการใช้เทคโนโลยีดึงศักยภาพของภาคการเกษตรออกมาและหา s-curve ใหม่ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศพัฒนาและเติบโตได้ ทั้งนี้ องค์ประกอบที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายคือ 1) Technology Disruption นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนธุรกิจ 2) การเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรให้สอดรับการภาวะสังคมผู้สูงวัย ซึ่งส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน 3) การปรับ Mindset ผู้ประกอบการไทยเพื่อรับมือประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามที่ธุรกิจการเกษตรกำลังมาแรงมาก และผู้ประกอบการเวียดนามมี Mindset พร้อมเปลี่ยนแปลงและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ  นอกจากนี้ นโยบายเรื่อง BCG (Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy) ที่เป็น s- curve ใหม่ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุน ยังเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรในหลายด้าน เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์วิตามิน ฯลฯ จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจการเกษตรจะขอเงินทุนจากภาครัฐได้ง่าย

ricult-startup-agritech-01

สตาร์ทอัพ คืออะไร?


คุณอุกฤษให้คำจำกัดความ “สตาร์ทอัพ” ว่าคือ ธุรกิจที่ repeatable และ scalable ที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ แม้จะขาดทุนอย่างมากในช่วงแรก แต่เมื่อคนติดแพลตฟอร์มแล้วก็จะสามารถทำกำไรเป็นสิบเท่าเป็นร้อยเท่าได้ สตาร์ทอัพในปัจจุบันทำได้ยากกว่าเดิม เพราะจากที่ทั่วโลกต่างปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้สตาร์ทอัพระดมทุนได้ยากมาก ส่งผลให้เกิดคำนิยามใหม่คือ Profitable ที่ต้องคำนึงถึงการทำกำไรด้วย และ Sustainable ผูกธุรกิจเข้ากับหลัก ESG ส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชนและสังคม


อะไรคือสูตรลับปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของ MIT


จากที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology)  เป็นสถานที่บ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า 3,000 บริษัทที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเทียบเท่ากับประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซีย อินเดีย แล้วอะไรคือเคล็ดลับของ MIT ในการสร้างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ คุณอุกฤษสรุปหลักการดังนี้


3 สิ่งที่ต้องมีในการเริ่มทำสตาร์ทอัพ


1)  การมี Technological Breakthrough มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะมาใช้ในธุรกิจ และสิทธิบัตรที่จะใช้เทคโนโลยี


2)  มีไอเดียที่จะทำธุรกิจ


3)  มี Passion รักในธุรกิจที่ทำ เป็นแรงผลักดันในการทำธุรกิจ


ส่วนประกอบให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ


1)  ทีมงานที่แข็งแรง


2) การลงมือทำ (Execute)  สำคัญมาก ไอเดียยังเปลี่ยนกันได้ แต่ทีมงานและการลงมือทำสำคัญที่สุด


แล้วทีมที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง?


·  Hacker : คนสร้างของ -  ทีมงานเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เทคโนโลยี


·  Hustler : คนที่รู้เรื่องทางธุรกิจ


·  Hipster : คนที่ออกแบบดีไซน์ สำคัญมากกับการทำธุรกิจสมัยใหม่ ที่เน้นเรื่อง Branding


การทำธุรกิจสตาร์ทอัพประกอบด้วย 24 ขั้นตอน  ที่จะได้ Framework ธุรกิจออกมา ซึ่ง 24 ขั้นตอนนี้ แบ่งเป็น 6 ธีม ได้แก่


1) Know Your Customer : รู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ต้องการอะไร?


2) What can we do for customer? : เราควรสร้างอะไร ทำอะไรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า


3) How customer acquire your product? : ลูกค้าจะเข้าถึงโปรดักส์เราได้อย่างไร ตอบโจทย์เรื่อง Distribution Channel


4) How we make money? : ทำสินค้าออกมา ก็ต้องขายได้ด้วย


5) จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร?


6) จะขยายธุรกิจออกนอกประเทศได้อย่างไร?

จากสูตร MIT มาเป็น Ricult


คุณอุกฤษนำหลักการของ MIT มาพัฒนาสตาร์ทอัพ เริ่มที่การศึกษากลุ่มลูกค้าซึ่งก็คือเกษตรกรไทย และปัญหาของพวกเขา เช่นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เกิดจากอะไร? ซึ่งจากการคุยกับเกษตรกรเป็นร้อยคน คุณอุกฤษพบว่ามีสาเหตุจาก พื้นที่เพาะปลูกเล็ก ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ปัญหามูลค่าผลผลิต มีปัญหาด้านชลประทาน สภาพอากาศแปรปรวน และเกษตรขาดความรู้ ดังนั้น จึงได้พัฒนา Ricult สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มดิจิทัลบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและการจัดซื้อผลผลิตแบบครบวงจรบนโทรศัพท์มือถือที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ และช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาของเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะต้องตอบโจทย์ของเกษตรกรแล้ว ยังต้องคุยกับฝั่งโรงงานแปรรูปผลผลิตเกษตรด้วย และ Ricult ก็เป็นการนำ Big Data มาเป็นโซลูชั่นทำให้ระบบซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ Ricult ประกอบด้วยเทคโนโลยี AI ที่เกษตรกรสามารถใช้ช่วยวางแผนการเพาะปลูกและพยากรณ์อากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม บริการโดรนพ่นปุ๋ย


ในการจะทำให้เกษตรกรยอมลงแอป ก็ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าที่เกษตรกรว่าเขาจะยอมรับเทคโนโลยีผ่านอะไร และมีการทำกลยุทธ์ Go to Market ทั้ง Online (Youtube/LINE) และ Offline (Workshop กับบริษัทปุ๋ย) จน Ricult เข้าถึงเกษตรกว่า 6 แสนราย จากทฤษฏี Innovation Adoption Curve ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงคนให้ยอมรับนวัตกรรม โดยแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม 1) กลุ่มบุกเบิก (Early Adopter) 2) กลุ่มล้ำสมัย 3) กลุ่มนำสมัย 4) กลุ่มปลายสมัย 5) กลุ่มปิด ดังนั้นจึงสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องหาคนกลุ่ม 1) และ 2) ให้เจอ และไม่จำเป็นต้องคุยกับกลุ่ม 4) และ 5) ดังนั้น กลุ่มที่ 1) และ 2) คือ กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายของ Ricult


ในส่วนโมเดลธุรกิจของ Ricult  ที่ให้เกษตรกรใช้ฟรี แต่ทำรายได้จากการขายข้อมูลของเกษตรกรให้ภาครัฐ ธนาคารเพื่อการปล่อยสินเชื่อ บริษัทปุ๋ย เป็นต้น รวมถึงการต่อยอดด้วยการประยุกต์ใช้ Big Data ในภาคการเกษตร (BCG) ทั้งนี้การลงมือทำเร็วยิ่งได้เปรียบ ออกแบบโปรดักส์ให้เร็วโดยใช้หลักการ MVP (Build – Measure-Learn) นำเอาฟีดแบ็กลูกค้ามาปรับปรุงแล้วทำใหม่และปรับปรุงไปเรื่อยๆ


การจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเทคโนโลยี ประกอบด้วย Technology People และ Process นอกจากเทคโนโลยี ต้องเข้าใจ People และ Process ด้วยว่าจะใช้เทคโนโลยีมาเข้ากับการทำงานของเกษตรกรได้อย่างไร สุดท้ายแล้ว คุณอุกฤษสรุปทิ้งท้ายว่าในการทำธุรกิจ การลงมือทำสำคัญกว่าไอเดีย (Execution Matters more than Idea) และวิธีการประเมินมูลค่าของธุรกิจ  คือ Idea x Execution แม้ไอเดียดี แต่ถ้าลงมือทำได้ไม่ดี มูลค่าธุรกิจก็เท่ากับศูนย์  ไอเดียแม้จะไม่ดีมาก แต่ถ้ามีการลงมือทำที่ดี ธุรกิจก็สามารถเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้


ที่มา: โครงการ DIPROM AgriBiz Scale Up Beyond Disruption เพื่อส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้านการเกษตรให้เติบโตแบบ 10X วันที่ 16 กันยายน 2565