ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Pay it Forward: I am a Businesswoman แบบ ปอย-ตรีชฎา
ทุกการลงทุนล้วนมีความหมายต่อชีวิต และทุกชีวิตล้วนมีเรื่องราวเบื้องหลังมากมาย คุณปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ ก็เช่นกัน เบื้องหลังความสวยงามในวงการบันเทิง ใครจะรู้ว่าเธอ คือ นักธุรกิจหญิงผู้แข็งแกร่ง ที่สู้ไม่ถอยกับการทำธุรกิจที่ตัวเธอรักจนประสบความสำเร็จ พบกับการเปิดใจครั้งแรกในฐานะของผู้บริหาร 3 บริษัทจาก 3 ธุรกิจ ที่จะมาแชร์มุมมองแนวคิดในการบริหารธุรกิจ ตลอดจนส่งต่อประสบการณ์อันเป็นประโยชน์จากการวางแผนการเงินในแบบปอย-ตรีชฎา
จากดาราสาวสู่เส้นทางนักธุรกิจหญิง
ถ้าพูดถึงดาราสาวมากฝีมือเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ต้องมีชื่อของคุณปอยอยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน คุณปอยได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทการเป็นนักธุรกิจหญิงว่าเป็นคนชอบจินตนาการ ชอบทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง ตอนคิดจะสร้างแบรนด์คุณปอยรู้ดีว่าจุดแข็งของผลิตภัณฑ์คือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเหนือกว่าระดับมาตรฐาน เมื่อเป็นเช่นนั้นเป้าหมายในการสร้างแบรนด์จึงไม่ใช่การขายภายในประเทศเพียงอย่างเดียวจะต้องสร้างให้เป็น Global Brand ให้ได้ แต่จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถและเสริมศักยภาพของแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เองขึ้นจึงมุ่งหน้าไปที่บริษัท Ogilvy เอเจนซี่อันดับหนึ่งของไทย เพราะรู้ดีว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่เชี่ยวชาญจึงต้องพึ่งพามืออาชีพมาช่วยสร้างแบรนด์และวางกลยุทธ์ PR จนสามารถปักหลักวางรากฐานแบรนด์ได้สำเร็จ คุณปอยยังมองอีกว่าการพัฒนาแบรนด์ที่แท้จริงคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดี เมื่อสินค้าดีแล้วก็จะขายตัวมันเองได้ ไม่ใช่สินค้าขายได้เพราะการทำมาร์เก็ตติ้งเพียงอย่างเดียว จากความคิดตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจในการวางรากฐานแบรนด์ให้แข็งแกร่ง คุณปอยบอกว่า ตั้งแต่เปิดบริษัท เฟอร์ฟู แปซิฟิก จำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร เมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการทำมาร์เก็ตติ้งน้อยมาก ทำให้สามารถมีเวลาไปดูแลลูกค้าเก่าและพัฒนาในเรื่องคุณภาพสินค้าให้ดีมากกว่าเดิม
ไม่คุ้นเส้นทาง ย่อมหลงทางเป็นธรรมดา
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจย่อมต้องเจอกับอุปสรรคเป็นธรรมดา คุณปอยก็เช่นเดียวกันได้เล่าถึงบทเรียนอันล้ำค่าที่หาไม่ได้จากในตำรา ตอนที่เปิดตัวขายสินค้าครั้งแรกคุณปอยคิดแค่ว่าจะขายสินค้าเองแบบ B to C ทำโปรโมทชั่นผ่าน Instagram ให้คนในออฟฟิศ 2 คนเป็น Call Center มี 10 คู่สายโทรศัพท์ ทำลิสต์คำถามคำตอบเตรียมไว้ ปรากฏว่าคู่สายเต็มสินค้าขายหมดทันที ส่วนอีเมลที่เตรียมให้ลูกค้าส่งหลักฐานการโอนเงินก็เกิด Error เพราะมีมากกว่า 5 หมื่นฉบับ ทำให้ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดว่าต้องบริหารเรื่องช่องทางการขายให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
ต่อมาได้มีบริษัทมาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้า ตอนแรกคุณปอยมองว่าดีเพราะตัดปัญหาในเรื่องช่องทางการขาย ไม่ต้องติดต่อลูกค้าหรือจัดส่งสินค้าเอง ได้รับเงินก้อนแล้วสามารถนำไปต่อยอดลงทุนได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แม้ว่าปัญหาเรื่องช่องทางการขายจะหมดไป แต่ปัญหาใหม่ก็เดินตามเข้ามา เพราะไม่สามารถควบคุมเรื่องราคาสินค้าและการสื่อสารผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้คุณปอยต้องออกมาตั้งหลักใหม่อีกครั้ง ในครั้งนี้จึงมองรอบด้านหาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา โดยสร้างช่องทางการขาย 2 ช่องทางได้แก่ e-Commerce ที่มีระบบให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรง แก้ปัญหาการขายผ่านตัวแทนที่ไม่สามารถควบคุมได้ และขายผ่าน Modern Trade เช่น Watson Eve&Boy และร้านขายยาชั้นนำ
การจะก้าวเข้าไปสู่ Modern Trade ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจ SMEs แล้วมีเทคนิคอะไรถึงประสบความสำเร็จ คุณปอยเล่าว่า ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทได้วางแนวทางเอาไว้ว่าจะเป็น SMEs ที่มีมาตรฐานมากที่สุด เวลาสร้างโปรดักส์จะนึกเสมอว่าต้องทำสินค้าให้เกินกว่ามาตรฐานทั่วไป เปรียบเหมือนอาคารหลังเล็กๆ ที่ไม่มีฝุ่นละอองเลยทุกซอกทุกมุม อาคารยิ่งเล็กยิ่งดี เพราะสามารถควบคุมได้ทั้งหมด พอต้องเอาสินค้าไปเสนอขายกับ Modern Trade ทำให้ไม่ต้องปรับอะไรใหม่ เพราะตัวสินค้าได้มาตรฐานเหนือกว่าสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว และคุณปอยยังได้สร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้ามากขึ้นไปอีก ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ไปผ่านการรับรองคุณภาพจากสถาบันชั้นนำทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณะสุข ทำให้เวลาไปยื่นเสนอขายที่ Modern Trade แทบไม่ต้องทำอะไรเลย ที่สำคัญเวลาออกโปรดักส์จะเลือกทำสิ่งที่ใหม่ ที่เมืองไทยไม่เคยทำมาก่อน เพราะอะไรยิ่งยากมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดคู่แข่งหรือมีคนทำตามน้อยมาก นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้การทำธุรกิจประสบความสำเร็จมากว่า 10 ปี
ใช้ฟรีแลนซ์ช่วยสร้าง Super Productive
การก่อตั้งบริษัทย่อมต้องมีพนักงานประจำเป็นขุมกำลังในการขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมาย แต่สำหรับคุณปอย คิดในมุมต่าง เพราะบทเรียนในอดีตจากความผิดพลาดในการบริหารทรัพยากรบุคคล พบว่าแทนที่ผู้จัดการจะดูเรื่องผลงานกลับโฟกัสในเรื่องขาดลามาสาย ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ ทำให้ต้องมารีเซ็ทใหม่ หาวิธีการใหม่ ซึ่งจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับหลายแบรนด์ ประกอบกับเป็นคนใฝ่หาความรู้จากการทำงานจึงขอโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับผู้บริหาร ทำให้เรียนรู้ว่าการใช้ฟรีแลนซ์ในการขับเคลื่อนบริษัทช่วยสร้าง Super Productive มากกว่าพนักงานแบบ Full Time จนปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน Full Time เพียงแค่ 20% นอกนั้นจะเป็นฟรีแลนซ์ และในอนาคตจะให้ทำงานแบบ Work from Home เพราะได้เซ็ทระบบทั้งหมดไว้แล้วสามารถ Cross Check งานต่างๆ ได้ทันที ตอนนี้เพียงแค่ดูภาพรวมที่ออกมาเท่านั้น
จากผู้ผลิตอาหารเสริมสู่ถนนสาย Bio Pharma
ด้วยความเป็นคนที่ชอบคิดนอกกรอบและจากการรู้จักอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย รวมถึงมีเพื่อนที่อยู่ในวงการเภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์ ทำให้มีแนวคิดในการทำธุรกิจวิจัยยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ คุณปอยได้เล่าไอเดียที่คิดตั้งบริษัทว่า เริ่มจากประเทศไทยมีจุดแข็งที่เกษตรกรรม มีพืชสมุนไพรนานาชนิด มีบริการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ประกอบกับไทยมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้ และจากแบ็กกราวด์ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง ม.นอร์ทเชียงใหม่ และได้เสริมความรู้เพิ่มเติมในหลายหลักสูตร เช่น ประกาศนียบัตรประสารทวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมพันธุกรรม ทำให้มีกลุ่มอาจารย์และเพื่อนที่เป็นเครือข่ายในด้านเหล่านี้ได้มาพูดคุยและเกิดไอเดียทำธุรกิจ จึงรวมตัวกันตั้งบริษัท Bio Pharma Tech ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยพัฒนายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และได้ร่วมมือกับหลายสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น นายแพทย์ Erik H.Fleischman ในการร่วมทำวิจัยผลิตภัณฑ์ , สถาบันเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต, ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงามมาโนเซ่, ห้องแลปจากเวียดนาม และในอนาคตหลังจากโควิดสิ้นสุดคุณปอยตั้งเป้าว่าจะไปขอจดสิทธิบัตรยาหรือ FDA ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อทำธุรกิจนี้ให้เป็นระดับ Global ต่อไป เส้นทางธุรกิจในสาย Bio Pharmaceutical ของคุณปอยจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันในเร็วๆ นี้
ถนนอีกสายสู่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเรียบร้อยนุ่มนวล ทำให้หลายคนนึกไม่ถึงว่าธุรกิจตัวถัดมาที่คุณปอยได้จับคือการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสมรภูมิเดือดที่หากใครไม่รู้ลึกรู้จริงในพื้นที่โอกาสพลาดมีสูงมาก แต่สำหรับคุณปอยได้พิสูจน์แล้วว่า เธอสามารถก้าวมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือทองได้อย่างงดงามการันตีจาก 4 โครงการระดับ Hi-End ที่ Sold Out เส้นทางการเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร คุณปอยเล่าว่าเพราะพื้นเพเป็นคนภูเก็ตทำให้เข้าใจลักษณะของทำเลที่นี่ได้ดี ประกอบกับได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยทำให้เข้าใจ Insight ความต้องการของชาวต่างชาติว่าชื่นชอบอะไร ทำให้มองเห็นโอกาสทำธุรกิจและรู้ว่า คือ น่านน้ำสีฟ้าที่หาคู่แข่งได้ยาก
แม้คุณปอยจะบอกว่าธุรกิจนี้เป็นเพียงแค่งานอดิเรก แต่ด้วยความที่ต้องรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ทำ ก่อนลงทุนจะเข้าไปลุยด้วยตัวเองเสียก่อน ใช้เรดาร์ตั้งแต่การหาทำเลที่ตั้ง ห่างไกลชุมชน มีต้นไม้ใหญ่ ดูคุณภาพดิน การเลือกใช้โครงสร้างอาคารฯลฯ รวมทั้งการหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทั้งราคาประเมินที่ดิน กฎหมายข้อห้าม ข้อจำกัดต่างๆ ระบบสาธารณูปโภค ที่ดินติดกับใคร และสถาบันการเงิน เรียกได้ว่าคุณปอยมีเช็คลิสต์ยาวเป็นหางว่าวเพื่อมองหาทำเลที่ต้องการอย่างแท้จริง เพราะความใฝ่เรียนรู้และลงมือทำจริงด้วยตัวเอง ทำให้คุณปอยสามารถวิเคราะห์โครงการ ประเมินความเสี่ยงและหาความเป็นไปได้ในธุรกิจ จนประสบความสำเร็จในฐานะนักพัฒนาอสังหาริทรัพย์
Wealth Management แบบปอย-ตรีชฎา
หลายคนสามารถหาเงินได้มาก แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถบริหารเงินให้งอกเงยหรือสร้าง Passive Income โดยไม่ต้องลงแรงให้เหนื่อย ในส่วนคุณปอยที่มีรายได้เข้ามาหลายทางทั้งจากงานในวงการบันเทิงและการจับธุรกิจที่หลากหลาก ทำให้อยากรู้ว่าในเรื่องการบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management ในแบบคุณปอยเป็นอย่างไร เธอเล่าว่าได้ค้นพบความมหัศจรรย์ในเรื่อง Financial Literacy จากการอ่านหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” หรือ Rich Dad Poor Dad ของ Robert Kiyosaki หนังสือขึ้นหิ้งด้านการเงินการลงทุน ที่ได้จุดประกายให้เห็นความสำคัญของหนี้สินและทรัพย์สินว่าแตกต่างกันอย่างไร ทำให้หันมาทบทวนวงจรการเงินของตัวเองอย่างรอบคอบ วิเคราะห์งบดุลชีวิต เรียนรู้ที่จะสร้างวินัยทางการเงินและรู้จักการลงทุนให้เงินงอกเงย พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังคนในครอบครัวซึ่งก็คือน้องของเธอนั่นเอง เพราะคุณปอยมองว่าถ้าหากน้องรู้จักการบริหารเงินและการลงทุนแล้ว ต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม น้องก็ยังสามารถอยู่รอดยืนบนลำแข้งของตัวเองได้
ก่อนจากกันคุณปอยได้ฝากข้อคิดที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวินัยทางการเงินว่า ขอยกข้อคิดจากหนังสือ Misbehaving เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ของ Richard H.Thaler ที่ว่าในอดีตเวลาวางแผนธุรกิจหรือวางแผนการเงิน คนจะคิดว่าทำอย่างไรให้ได้มากที่สุด(Maximize) ซึ่งวิธีการนี้มันเก่าไปแล้ว ในตอนนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของตัวเรามากที่สุด(Optimize) เพราะถ้า Maximize มากๆ แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรหรือ ต่อยอดความสุขได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นทำแบบพอดีจะดีกว่า รวมไปถึงการบริหารการเงินต้องรู้จักตัวเองว่าต้องการอะไร ยิ่งตอนนี้รายได้หายาก การตัดรายจ่ายง่ายกว่า เราเลือกชีวิตเรา ไม่ใช่คนอื่นเลือก ถ้าหากเข้าใจเรื่องต้นทุน เข้าใจเรื่องรายจ่าย ก็บริหารความมั่งคั่งได้ นี่คือเคล็ดลับการบริหารเงินของคุณปอย
การเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความเสร็จของคุณปอยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้เกิดจากการเป็นคนมีชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท รู้ลึก รู้จริง ใฝ่หาความรู้ พิถีพิถันทุกรายละเอียด เพื่อสานฝันการทำธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ตอบโจทย์และเข้าใจ Insight ของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยไม่ได้มุ่งหวังเพียงผลกำไรแต่อย่างเดียว จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จบนถนนสายธุรกิจของนักธุรกิจหญิงที่มีชื่อว่าปอย-ตรีชฎา
ติดตามย้อนหลังได้
-ที่นี่-
ที่มา : SCB TV ซีรีส์ "Pay it Forward" ตอน "I am a Businesswoman" ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 25 มิ.ย. 63