คิดแบบ Mark Zuckerberg

สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงหรือนักธุรกิจหลายต่อหลายคน อาจฝันที่จะประสบความสำเร็จอย่างเจ้าพ่อ Facebook - Mark Zuckerberg แต่ในโลกของความเป็นจริงต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนน้อยมากที่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ทำไมบางคนถึงประสบความสำเร็จได้ยืนอยู่บนตำแหน่งตัวท้อปของโลก แต่ในขณะที่บางคนไปไม่ถึงฝั่งฝัน วันนี้เราจะมาศึกษาหนทางแห่งความสำเร็จของ Mark Zuckerberg โดยสรุปไฮไลท์หลักๆ ที่ทำให้ Zuckerberg ประสบความสำเร็จในธุรกิจ จากหนังสือเรื่อง Think Like Zuck ที่เขียนโดย Ekaterina Walter


1.ใช้แพสชั่นผลักดันการทำงาน

ใช้แพสชั่นที่มีอยู่ในตัวผลักดันตัวเอง เป็นวิธีการทำงานที่ Zuckerberg ใช้ในการทำงานจนทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในทุกวันนี้  แพสชั่นทำให้เขามีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน ในความเป็นจริงจุดเริ่มต้นของ Facebook ไม่ได้มีอะไรที่ต่างจาก Myspace แต่เพราะแพสชั่นของ Zuckerberg ที่อยากสร้างสังคมออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้คนได้ติดต่อถึงกัน และในที่สุด Facebook ก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้เกิดการขยายวงของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล นี่เป็นตัวอย่างของการทำตามแพสชั่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถจะไปหาแรงบันดาลใจจากที่อื่น เพราะการมีแรงบันดาลใจสามารถช่วยผลักดันแพสชั่นและไอเดียของตัวคุณเองให้ไปสู่การปฏิบัติได้ ประโยชน์อีกอย่างของการมีแพสชั่นคือจะช่วยให้คุณยืนหยัดต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกง่ายๆ ถึงแม้คุณอาจล้มเหลวหรือผิดพลาดแต่แพสชั่นจะทำให้คุณลุกขึ้นมายืนใหม่ เรียนรู้จากความผิดพลาด และต่อสู้จนประสบความสำเร็จในที่สุด อีกสิ่งที่สำคัญมากคือ ไม่ว่าคุณจะมีแพสชั่นหรือรักในสิ่งนั้นมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่ลงมือทำคุณก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เหมือนกับข้อความหนึ่งบนโปสเตอร์ที่ Facebook สำนักงานใหญ่ที่ว่า “Done is better than perfect.”

2.องค์กรที่จะประสบความสำเร็จต้องมีวิชั่นที่สร้างแรงบันดาลใจ

นอกเหนือจากการมีแพสชั่น นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องมีวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายส่วนตัว และไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกจนกว่าเป้าหมายนั้นจะสำเร็จ วิสัยทัศน์ช่วยสร้างความแตกต่างให้องค์กร นอกจากนี้การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจจะทำให้คุณมององค์กรมากกว่าการเป็นเพียงแค่ธุรกิจ ซึ่งจะทำให้คุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าในระยะยาว สำหรับ Mark Zuckerberg วิชั่นของเขาที่มีต่อ Facebook คือ “to make the world more open and connected.” นั่นทำให้ไม่ว่าจะมีคนเสนอเงินมากเท่าไหร่ในการซื้อ Facebook เขาก็ไม่ยอมขาย เพราะเขายังรู้สึกว่าเขายังไม่บรรลุเป้าหมาย และด้วยแนวคิดแบบนี้เองจึงเป็นที่มาของสโลแกนอันโด่งดังของ Facebook ที่ว่า “The journey is only one percent finished.”

3.จ้างพนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงานและยึดถือคุณค่าในทิศทางเดียวกับองค์กร

คนที่รักในงานย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่มีใจหรือทำไปวันๆ ดังนั้นองค์กรจึงต้องเลือกคนที่ใช่ตั้งแต่แรก และถึงแม้จะเลือกคนที่ใช่เข้ามาแล้วก็เป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะทำให้พนักงานรักและภูมิใจในงานที่ทำและทำงานอย่างเต็มความสามารถ องค์กรต้องปฏิบัติต่อพนักงานอย่างดีและดูแลพวกเขาให้มีความสุข เพราะถ้าพนักงานได้รับการดูแลที่ดีจากองค์กร พวกเขาก็จะดูแลลูกค้าอย่างดีเช่นกัน ดังนั้นองค์กรต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี ให้ความไว้วางใจ ทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่สนุกในการทำงาน นั่นคือทำให้ออฟฟิศของ Facebook เต็มไปด้วยเสียงดนตรี อุปกรณ์เกมต่างๆให้พนักงานเล่น ที่ช่วยให้พนักงานได้มีโอกาสได้พักและผ่อนคลายจากการทำงาน

4.ไม่มีข้อต่อรองเรื่องคุณภาพ

Facebook เริ่มต้นจากนักศึกษาอายุ 19 ปี ที่เรียนเขียนโปรแกรมแต่สุดท้าย Facebook ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ไม่สามารถจะมีอะไรมาแทนได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คีย์ที่ทำให้มี Facebook ในวันนี้เพราะ Mark Zuckerberg โฟกัสอยู่ตลอดเวลาในการสร้างสินค้าที่ดีที่สุดและทำให้ผู้ใช้มี user experience ที่ดีที่สุด และในความเป็นจริงการสร้างสินค้าและบริการทีดีที่สุดควรเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานขององค์กร เป็นสิ่งที่องค์กรจะไม่รอมชอมเด็ดขาดในคุณภาพของสินค้า นั่นหมายความว่าสินค้าหรือบริการจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือเหนือกว่าความคาดหวังของลูกค้าอยู่เสมอ ในช่วงที่ Facebook กำลังเริ่มโต ในทุกก้าวย่าง Zuckerberg ต้องมั่นใจว่าเป็นการโตอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อความต้องการใหม่ๆ ของผู้ใช้ได้จริง ดังนั้นในช่วงแรก Facebook เปิดให้ใช้เฉพาะนักศึกษาที่ Harvard เท่านั้น จนกระทั่งเขามั่นใจในศักยภาพของตัวระบบและ server ว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้นได้  อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าองค์กรจะต้องระมัดระวังในการรักษามาตรฐานของสินค้าให้อยู่ในระดับสูง แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายจิ๊กซอร์ เพราะองค์กรยังต้องสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ต้องคอยหาวิธีการที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนออกมาในปรัชญาของ Facebook ที่ว่า “move fast and break things.” ปรัชญานี้ทำให้ Facebook พัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ภายในมากมายก่อนที่จะนำออกมาใช้กับผู้ใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็น Timeline, Chat และฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากการระดมสมองและทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในบริษัทจะสร้างฟีเจอร์ดีๆ ได้มากมายแล้ว ยังทำให้พนักงานได้เกิดการเรียนรู้ว่าไอเดียใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก และการผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขอเพียงไม่หยุดคิดและปรับปรุงแก้ไข สุดท้ายก็จะได้ Solution ที่ใช่ในที่สุด “Not all new ideas work the first time, and failure is OK.”


5.ทีมผู้นำที่ดีต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถที่หลากหลายและทักษะที่แตกต่าง

ทีมที่ดีต้องประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีทักษะความสามารถที่แตกต่างมาอยู่ร่วมกัน เช่น ทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งต้องประกอบด้วยทั้งกองหน้าที่เฉียบคม กองกลางที่แม่นยำ กองหลังที่เหนียวแน่น เช่นเดียวกับองค์กรซึ่งนอกจากมีทีมผู้นำที่มีความสามารถทักษะที่ต่างกันแล้วแต่ความต่างนั้นต้องส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างลงตัวด้วย เช่น Facebook เมื่อมี Sheryl Sandberg เป็น COO ทำให้ Zuckerberg สามารถโฟกัสในสิ่งที่เขาถนัดคือการสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กรและการพัฒนาสินค้า ในขณะที่ Sandberg เก่งในเรื่องการบริหารธุรกิจซึ่ง Zuckerberg ไม่ถนัด ดังนั้นงานในด้านการพัฒนาการบริหารงานในองค์กรจึงเป็นหน้าที่ของ Sandberg ซึ่งมีประสบการณ์และชำนาญในด้านนี้มากกว่า ดังนั้นองค์กรที่มีทีมงานที่มีความรู้และทักษะที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทำงานเป็นทีมและส่งเสริมซึ่งกันและกันจะทำให้สามารถแก้ปัญหาด้วยมุมมองที่หลากหลายรวมทั้งสร้างโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในหลายๆ มุมมอง

องค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มีผู้นำที่มีแพสชั่น มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสร้างทีมงานเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และโฟกัสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง ความล้มเหลว ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เสมอแต่อย่ายอมแพ้หรือล้มเลิกแพสชั่นที่คุณมี แต่ลองมองไปรอบๆ ตัวจนเจอสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณสู้ต่อไป เชื่อเถอะว่าถ้ายังเดินหน้าไม่ย่อท้อคุณจะพบกับแรงบันดาลใจนั้นและประสบความสำเร็จในที่สุด


ที่มา
https://lifeclub.org/books/think-like-zuck-ekaterina-walter-review-summary