คุณยายแกะกล่อง “91 แล้วไง หัวใจยังเวรี่กู้ด”

เรื่อง/ภาพ: WAY


คุณยายปราณี
แห่งเพจ ‘คุณยายแกะกล่อง’ ที่มีแฟนติดตามกว่า 21,000 คน (สัมภาษณ์ เดือนพฤษภาคม 2561)  ไม่เคยบอกเพื่อนๆ ในกลุ่มเลยว่า “ฉันทำคลิปนะ”


ไม่ใช่ว่าอายแต่คุณยายให้เหตุผลสั้นๆ ว่า สายตาไม่ดี รุ่นนี้ไม่ค่อยจะมีใครใช้ Facebook กันแล้ว โทรศัพท์มีเอาไว้เพื่อโทรศัพท์อย่างเดียว แต่ทำไมนะ เวลาหลานชวนมาทำถ่ายคลิปทำเพจ คุณยายวัย 91 จึงเซย์เยสแต่โดยดี โดยมีคอสตูมหลักเป็นชุดอยู่กับบ้าน


เห็นแต่งตัวธรรมดาๆ อย่างนี้ ภูมิหลังของคุณยายปราณี คือแน่นปึ้ก อดีตครูสอนภาษาอังกฤษตัวแม่ที่สปีคอิงลิชราวกับเจ้าของภาษา ไหนจะเป็นนักแปล นักฝึกอบรม นักออกข้อสอบอีก แต่อยู่ๆ ก็ถูกหลานใช้บริการให้มานั่งรีวิวข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของ สว. (สูงวัย) ฮาวทูแต่งหน้าของสาวๆ รุ่นย่า ไปจนถึงคลิปสอนทำอาหารที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมแทบทุกช่วงวัยแบบสิบสิบสิบ!


แน่นอนว่า เราไม่รอช้า ตรงดิ่งขอเข้าไปพูดคุยทำความรู้จักกับบล็อกเกอร์น้องใหม่คนนี้ แม้ที่มาที่ไปแรกสุดของเพจนั้น คุณปัน-ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย หลานชายของคุณยาย ฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซเนอร์ แอดมินเพจและโปรดักชั่นทีม (คนเดียว) ที่อยู่เบื้องหลังความยียวนตลกๆ แสนน่ารักนี้บอกว่า “แค่อยากชวนคุณยายหาอะไรทำแก้เหงาเฉยๆ” แต่ดูเหมือนว่า ‘แค่หาะไรทำ’ นี่แหละกลับต่อยอดและส่งต่อผลลัพธ์ไปไกลกว่าแค่สร้างเสียงหัวเราะ


เพราะคุณยายไม่เพียงแกะกล่องนั่นโน่นนี่ แต่สตอรี่ของคุณยายปราณียังส่งต่อเรื่องราวอบอุ่น ขีดเส้นรอบวง ลากครอบครัวที่อาจจะอยู่ไกลกันให้กระเถิบเข้ามาใกล้ ได้มาล้อมวงคุยกันอีกครั้ง


“วันนี้เสียงแห้งหน่อยนะคะ…” คุณยายเริ่มต้นบทสนทนาด้วยประโยคนี้ :)

Q: รู้สึกอย่างไรบ้างที่กระแสตอบรับเพจ คุณยายแกะกล่อง ดีมาก

คุณยาย: ก็รู้สึกว่าเรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกเยอะ เวลามีคนคอมเมนต์เข้ามา คนโน้นคนนี้อ่านเขาก็มาเล่าให้ฟัง บางทีก็เข้าที ทำให้เราปลื้มใจว่าเราได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นประโยชน์


ปัน: คือไม่คิดว่าคนกลุ่มวัยรุ่นหรือรุ่นไหนก็ตามจะให้ความสนใจกับคนแก่รีวิวของขนาดนี้ ก็ตกใจพอสมควร คอมเมนต์ทุกอันสนุกมากครับ ว่างๆ ส่วนใหญ่ผมจะนั่งอ่านคอมเมนต์ อย่างคอมเมนต์ที่บอกว่าเขาเอาคลิปให้คนแก่ที่บ้านดูแล้วก็ถ่ายรูปมาให้ดูว่าคนแก่ที่บ้านนั่งดูอยู่นะ คือเป็นสังคมหัวสีขาวๆ เหมือนกันนั่งดูคนผมขาวผ่านโทรศัพท์มือถือ น่ารักดี คิดว่าโอเค เลยคิดว่าสิ่งที่เราทำน่าจะสนุกพอสมควรถึงทำให้เขาหยิบเรื่องราวในอินเทอร์เน็ตไปแชร์ต่อ

 

Q: ทำไมถึงตั้งชื่อเพจว่า คุณยายแกะกล่อง

คุณปัน: คำว่า แกะกล่อง อย่างแรกหมายถึงแกะกล่องของใช้ของคุณยาย สองคือด้วยความที่คุณยายอายุ 91 แล้วแต่ความจำยังดีก็มาจากแกะกล่องความรู้ของคุณยาย เป็นความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่คุณยายสาวๆ 


(จังหวะนี้คุณยาย ขอแทรกคิวหลาน)

คุณยาย: จริงๆ ไม่ใช่ไอเดียของดิฉัน ปันมาชวนว่าทำคลิปเล่นกันไหม อาจเพราะเห็นดิฉันทำอะไรไม่ค่อยได้ หลังๆ มานี่ ตามองไม่เห็น พอมองไม่เห็นก็อ่านหนังสือไม่ได้ พออ่านหนังสือไม่ได้สักอย่างชีวิตก็ว่าง ก็พยายามหาอะไรทำ แต่ก็ไม่มีอะไรทำ


ปัน: ช่วงก่อนหน้านี้ที่คุณยายป่วยต้องเข้าไปโรงพยาบาล พอกลับบ้านมา ผมเห็นว่าคุณยายเบื่อๆ เหงาๆ ไม่มีอะไรทำ ปกติเขาไม่ได้เป็นคนขี้บ่นด้วยแหละ แต่แอบได้ยินว่าเขาบอกเบื่อ เลยลองดูว่าถ้าให้คุณยายรีวิวของจะทำได้ไหม


ปัน: ด้วยความที่คุณยายเคยเป็นคุณครู น่าจะมีความรู้เยอะ อายุ 91 แล้ว เลยคิดว่าถ้าทำคลิปกันคุณยายอาจสนุกขึ้น ส่วนตัวเขาเป็นคนชอบพูดอยู่แล้ว ชอบเล่าเรื่อง มีความรู้เยอะ แล้วข้าวของเครื่องใช้ก็เยอะเลยชวนมาทำคลิปดู


Q: ตอนนั้นคุณยายรู้จักคลิปหรือยังคะ แล้วรู้ไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง

คุณยาย: ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำอย่างไร เขาบอกว่าจะให้เราเล่าประสบการณ์ ให้พูดถึงของที่เราใช้ โดยเฉพาะของใช้ที่สะสมไว้ พูดไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีสคริปท์  คิดอย่างไรก็พูดออกไป เราก็สนุก บางทีก็หยุดถ่ายกลางคัน บางทีก็มากไป บางทีก็พูดไม่ค่อยชัด แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่อยากจะพูดถึง


ปัน: คุณยายงงอยู่พักหนึ่งเลย ต้องอธิบายสักพักกว่าจะเข้าใจว่า Facebook คืออะไร ต้องใช้อย่างไร เวลาที่เราถ่ายเราก็ต้องบอกให้คุณยายทำอะไรบ้าง พูดอะไรบ้าง จะต้องตัดอย่างไร หลายอย่าง


Q: ของแต่ละอย่างที่รีวิว (เช่น ไม้เท้า, ทิชชูเปียก) คุณยายคิดคนเดียวเลยไหมคะ

คุณยาย: ไม่ค่ะ ช่วยกันคิด ลูกหลานก็ช่วยคิด บางทีเราบอกว่าจะทำอย่างนี้ เขาก็บอกว่ามันยังไม่เหมาะ มีการปรึกษากัน


Q: เห็นมีคลิปสอนแต่งหน้าด้วย คุณยายมีเครื่องสำอางอะไรที่รู้สึกว่าขาดไม่ได้แน่ๆ ไหม

คุณยาย: ดินสอเขียนคิ้ว ถ้าจะไปข้างนอกก็ต้องทา ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคิ้ว สีคิ้วดิฉันจางแล้ว (ยิ้ม)

Q: แล้วมีเลือกเสื้อผ้าก่อนไหมว่าวันนี้พูดเรื่องนี้ต้องแต่งชุดนี้

คุณยาย: ก็ใส่เสื้ออยู่บ้าน เอาสบายๆ แต่เขา (คุณปัน) ก็จะมีบอกว่า สีนี้ไม่สวย เอาที่มันมีลวดลายหน่อย แต่ก็จะเอาสบายเป็นใหญ่ ดูไม่น่าเกลียด


Q: ในกระบวนการตัดต่อคุณยายเข้ามามีส่วนร่วมไหม

คุณปัน: จะเป็นแผนก QC ครับ ดึกๆ จะเดินเข้ามาขอดูหน่อย เอ๊ะ ตรงนี้พูดเร็วไปนะ ไม่เอาๆ ตรงนี้พูดไม่ดีหรืออย่างบางทีผมถ่ายเสร็จแล้วออกไปข้างนอก ก็โทรมา ‘ฮัลโหล คืนนี้กลับมาอัดเพิ่มให้หน่อยนะ ลืมพูดไปอย่างหนึ่ง’ (ยิ้ม) บางทีเขาลืมพูดก็ต้องมาอัดเพิ่มให้ ทุกอย่างที่พูดคือความคิดของคุณยายล้วนๆ เลย


Q: ฟีคแบ็คในครอบครัวเป็นอย่างไร

คุณปัน: ทุกคนก็จะถาม อย่างน้าผมจะถามว่า ลงเมื่อไหร่เนี่ย ส่งลิงก์มาให้หน่อย แล้วบางทีก็มาแอบๆ ถามว่า นี่จะทำอะไรเหรอ ขนาดคนในบ้านผมยังไม่บอกเลย (หัวเราะ)


ที่บ้านจะนั่งกันเป็น board member เลยครับ ช่วงทานอาหารเย็น จะมีคุณยายนั่งหัวโต๊ะ ลูกๆ หลานๆ จะมานั่งอ่านคอมเมนต์แล้วก็มาช่วยกันคิด ก็สลับวนเวียนกันมา ทุกเย็นมากันไม่ต่ำกว่า 3-4 คน แล้วมาดูกันว่าอยากจะให้ทำอะไรเพิ่ม เขาก็จะคุยกัน บ้านนี้จะเป็นเหมือนศูนย์รวมตัว คุณยายเป็นที่ปล่อย wifi (ยิ้ม)


Q: ทำคลิปช่วยคุณยายหายเหงาได้ไหม

คุณยาย: ทุกคนแหละค่ะ ไม่ว่าสูงหรือไม่สูงอายุ ถ้าเหงาก็รำคาญ ถ้ามีอะไรทำอยู่เรื่อยๆ ก็คือสนุก อย่างพวกคุณสาวๆ คงมีงานทำจนเกินสนุก สักวันหนึ่งก็จะได้พัก พอพักจริงๆ แล้วมันน่าเบื่อค่ะ ไม่มีอะไรทำ รู้สึกเหมือนอยู่ไปทำไม ว่างเปล่า เลยต้องหาอะไรทำ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง นอนไป 8 ชั่วโมง ที่เหลือก็ลุกขึ้นกินข้าว ทำนั่นทำนี่ ดูทีวี อ่านหนังสือ ถ้าหากว่ามีช่วงไหนที่ไม่มีอะไรทำก็เบื่อ ก็ต้องเสาะหาอะไรทำอยู่เรื่อยๆ

Q: แล้วมีกิจกรรมอื่นอีกไหมที่ทำนอกจากทำคลิป

คุณยาย: เล่น Sudoku เพราะว่ามันเป็นตัวเลข แต่ก็ทำยากขึ้น เพราะพอมองไปปั๊บ มันไม่เห็นทั้งหมดเหมือนเคย เห็นเป็นจุดๆ แทน ต้องมานั่งไล่ว่ามีเลขอะไรบ้าง ทำให้เสียเวลาหน่อยหนึ่ง แล้วก็เล่น target (หรือ crossword) บ้าง คือยังสามารถอ่านหนังสือเป็นตัวๆ ได้ แต่ไม่สะดวกมาก เลยไม่ค่อยมีอะไรทำ ค่อนข้างเบื่อ ก็พยายามหางานทำอย่างไปล้างถ้วยล้างชาม พับเตียง ไม่ให้ตัวเองอยู่ว่างๆ บางวันก็ออกไปซื้อพวกกับข้าวหรือของใช้แต่เวลาก็ยังเหลืออีกเยอะ


Q: นัดเจอกับเพื่อนบ้างไหม

คุณยาย: บ่อยค่ะ หนึ่งเดือน สองเดือนบ้าง ดิฉันมีอยู่ 4 กลุ่ม กลุ่มทำงานที่เดียวกันหนึ่งกลุ่ม กลุ่มที่สองคือที่เรียนภาษาอังกฤษด้วยกัน กลุ่มหนึ่ง แล้วก็กลุ่มจุฬาฯ แต่เดี๋ยวนี้เหลือน้อยแล้ว เหลือ 3 คน แล้วอีกกลุ่มหนึ่งคือที่ไปเรียนหนังสือด้วยกัน


พวกเราพยายามเจอกันบ่อยๆ เพราะทุกคนอายุมากขึ้น ก็อยากพบปะเพื่อนฝูง มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เขาอายุน้อยกว่าดิฉันอยู่หน่อย เขาทานข้าวไม่ค่อยลง ลูกเขาถามว่า คุณแม่อยากทานอะไร เขาก็บอกว่าอยากทานกับเพื่อน เพราะเพื่อนเป็นสิ่งที่ต้องมี ถ้าไม่ได้นัดเจอกันก็ต้องโทรศัพท์คุยกัน


Q: เพื่อนๆ ว่ากันไงบ้างเรื่องคลิป

คุณยาย: ไม่มีใครรู้ว่าดิฉันทำคลิป (หัวเราะ)


Q: ทำไมไม่บอกเขาล่ะคะ

คุณยาย: ไม่บอก เขาคงดูไม่เป็น Facebook อะไรเขาคงไม่ค่อยได้ดู รุ่นดิฉันใช้โทรศัพท์เพื่อโทรศัพท์อย่างเดียว จะไปทำโน่นทำนี่ อย่างมากก็แค่ถ่ายรูป น้อยคนที่จะไปเล่น Facebook หรือ  Apps อะไร เพราะว่าตาไม่ค่อยดีกัน

Q: แต่คุณยายก็ดูสุขภาพแข็งแรงมาก มีการออกกำลังกายอย่างไรบ้าง

คุณยาย: ตอนสาวๆ ก็ไม่ออกอะไรมากเพราะทำงานทั้งวัน ต้องเดินต้องลุก ต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก เหมือนกับว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัวอยู่แล้ว เมื่อก่อนนี้ถูบ้านใช้มือนะ หลังๆ นี่ใช้ม็อบกันเรื่อย มันก็ทุ่นแรงแต่ไม่สะอาด


ทุกวันนี้จะออกกำลังกายในที่นอนคือตื่นมาจะยังไม่ลุกขึ้นทันที เราก็ยกขาทำท่าขี่จักรยาน เพื่อบริหารหัวเข่า ฉะนั้นหัวเข่ายังดี ไม่ต้องไปผ่าเหมือนคนอื่นเขา แล้วก็ชกลมบ้าง บางวันก็ยืนแกว่งแขน ของง่ายๆ ค่ะ เดินแถวๆ นี้ แต่ถ้าออกไปไกลกว่านี้ต้องมีคนไปด้วย


Q: แสดงว่าคุณยายให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก

คุณยาย: คือระวังมาก ถ้าเราเจ็บขึ้นมา คนที่เป็นทุกข์มากที่สุดคือตัวเราเอง ลูกหลานก็เดือดร้อนด้วย อย่างไปโรงพยาบาลทีก็ต้องพาไป แล้วก็ต้องอยู่กับเรา รอจนกว่าจะตรวจเสร็จ ก็พยายามไม่เจ็บ


ถึงทั่วไปจะเรียกว่าแข็งแรงก็จริงแต่ที่ลำบากคือเดินค่ะ เพราะว่ามองไม่เห็น เวลาไปไหนต้องเลือกสถานที่ที่เดินได้ง่าย อย่างไปตามห้างจะเดินง่ายเพราะพื้นมันเสมอกัน ที่จริงดิฉันชอบเดิน อย่างถ้าไปเซ็นทรัลชิดลมจะชอบขึ้นรถไฟฟ้าเพราะว่ามันเร็ว แต่หลังๆ ถูกห้าม ลูกๆ กลัวว่าดิฉันจะหกล้มหกลุก กลัวจะตกบันได (ยิ้ม) จริงๆ เราขึ้นได้ ขึ้นทีละขั้นเกาะราว แต่ถ้ามันสูงมากก็ต้องพักกลางทาง ถ้ามีบันไดเลื่อนก็ค่อยยังชั่ว


Q: มีนโยบายทางการเงินในใจที่ใช้ตั้งแต่เป็นสาวๆ จนถึงปัจจุบันไหม

คุณยาย: เป็นคนขี้เหนียวค่ะ (หัวเราะ) ต้องคิดก่อนจะใช้ เรื่องออมเงินก็ออมมาตลอดตั้งแต่ตอนเด็กๆ เป็นการออมเพื่อความมั่นคง เผื่อจำเป็นขึ้นมาก็สามารถจัดการได้ แล้วดิฉันไม่ชอบเป็นหนี้ ดิฉันทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวัน พอสิ้นเดือนจะมาวิเคราะห์ว่า ค่าใช้จ่ายในบ้านเท่าไร ค่าของใช้ในบ้านเท่าไร ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าอาหารสด ค่าอาหารสำเร็จรูป หรือไปทานข้าวนอกบ้าน ดิฉันจะแยกบัญชีแต่ละบัญชีออกมาแล้วดูว่าอะไรมันเป็นอย่างไร การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้เราคุมตัวเองได้


Q: แล้วมีการปลูกฝังนิสัยการออมเงินกับลูกหลานอย่างไร

คุณยาย: ปลูกหรือเปล่าปันๆ


คุณปัน: (หัวเราะ) มีครับมี


คุณยาย: คือจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เวลาจะซื้ออะไร ต้องคิดหน้าคิดหลัง แต่ถ้าหากจำเป็น แพงก็ต้องยอม


คุณปัน: คุณยายประหยัดมากครับ แม่ผมเคยหยิบขวดสบู่มาให้ดู มันเป็นสบู่เศษๆ ที่มาจากสบู่ก้อนชิ้นเล็กๆ ผมถามว่าสบู่อะไร แม่บอกว่าคุณยายเอาไปยำเทรวมกัน แล้วต้มใหม่จะได้ใช้อีกรอบ


คุณยาย: ไม่อยากให้เสียของ ที่จริงสบู่ก็ไม่ได้แพงแต่ทิ้งไปก็เสียดาย


คุณปัน: บ้านนี้ชอบแซวคุณยายครับ


คุณยาย: เธอแซวมากกว่าเพื่อน (ยิ้ม)

Q: ดูคุณยายกับคุณปันสนิทกันมาก

คุณปัน: ปกติคิดว่าค่อนข้างมากอยู่แล้วนะครับ ถ้าช่วงไหนที่ผมไม่มีงานก็อยู่บ้านจะได้เจอกันบ่อย แล้วคุณยายก็เลี้ยงผมเองตั้งแต่เด็ก คือตอนเด็กผมเหงาไง คุณยายก็มาคุยด้วย แต่ตอนนี้เขาเหงาผมก็มาคุยด้วย สลับกัน (หัวเราะ)


Q: เคยมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันของช่วงวัยที่ห่างกันบ้างไหม

คุณปัน: เวลาผมคุยกับคุณยาย ผมจะมองว่าคุณยายไม่ใช่คุณยาย มองคุณยายเหมือนคนที่อายุไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เป็นเพื่อน เป็นแม่ เป็นพี่ ตรงนี้จะทำให้ระยะห่างเวลาที่จะคุยกันมันใกล้กันมากขึ้น เข้าใจกัน รู้เรื่องกันมากขึ้น คือเปลี่ยนความคิดเราว่าอย่ามองว่าเป็นคุณยาย เพราะถ้าคิดว่าเขาเป็นคนแก่ เราจะเกร็ง เราจะเริ่มรู้สึกว่าเขาคือคนแก่ เราจะต้องคุยอย่างไร พูดอย่างไรเพื่อให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าเราพูดไปเลย ถึงไม่เข้าใจอย่างไรแล้วเราค่อยมาอธิบายทีหลังจะเข้าใจได้ง่ายกว่า เขาจะเข้าใจเรามากขึ้นด้วย เข้าใจในเรื่องใหม่ๆ ของเรา


คือไม่ต้องคิดว่าจะ treat เขามากขนาดนั้น เพราะโดยส่วนตัวผมมองว่าคนแก่ไม่ชอบให้คนมาดู มาเห็นว่าตัวเองเป็นคนแก่ แต่ถ้าเรา take care เขา treat เขาเป็นคนแก่ จะทำให้เขารู้สึกว่านี่ฉันแก่หรอ ทำไม่ต้องมา treat อย่างนี้ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะ treat เขาเหมือนคนแข็งแรงทั่วไป อารมณ์ดี อย่างนี้ดีกว่า


Q: แล้วตัวคุณยายมีวิธีการเข้าหาเด็กๆ อย่างไร ทำไงให้เด็กไม่รู้สึกเกร็งที่จะคุยด้วย

คุณยาย: ต้องพูดคุยกันเรื่อยๆ ถึงจะรู้ว่าอีกฝ่ายเขาคิดอะไร ผู้ใหญ่อาจจะคิดอะไรไม่เหมือนเด็ก เด็กก็ต้องฟังบ้างว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ เหมือนกัน ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กมีอะไรแปลกๆ ถามกันได้ คือพยายามคุยกันให้มากๆ เข้าไว้ ถ้าคุยกันไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจกันเรื่อยๆ แต่อย่าบ่นมากแล้วกัน (หัวเราะ) เผอิญว่าดิฉันเป็นคนไม่ขี้บ่น แล้วก็ไม่เคยดุหลาน ลูกหลานเขาว่าง่ายเราก็ต้องว่าง่าย (ยิ้ม)


Q: สุดท้ายแล้ว ตอนนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองเหงาจนว่างอยู่ไหม

คุณยาย: ก็ยังว่าง ถ้าเขา (ปัน) อยู่ก็ว่างน้อยลง พอเขาไปทำงาน ไม่อยู่ก็ว่างมากขึ้น แต่ก็พยายามหาอะไรทำ (ยิ้ม)