เตรียมเกษียณแบบชิลสุดๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงวันหนึ่งของชีวิต เราต้องหยุดทำงาน ซึ่งภาวะการหยุดทำงานดังกล่าว เราเรียกว่า ‘การเกษียณอายุ’ จึงเป็นที่มาว่า หนึ่งในแผนการเงินภาคบังคับที่เราๆ ท่านๆ ทุกคนต้องเตรียมนั่นคือ ‘การวางแผนเกษียณอายุ’


เหตุผลที่การวางแผนเกษียณอายุเป็นเรื่องสำคัญก็เพราะว่า ช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นช่วงเวลาที่แหล่งที่มาของรายได้จะเปลี่ยนจากเงินเดือนหรือรายได้ประจำ  มาเป็นรายได้จากเงินเก็บที่เราเฝ้าพยายามเก็บออมมาตั้งแต่ในช่วงวัยทำงานของเราแทน  แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินเก็บของเราจะมีเพียงพอให้เราใช้จ่ายไปได้ตลอดจนถึงวัยหลังเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ใกล้เกษียณ (Pre – retirement) จะมีกลยุทธ์มาปรับแผนการเงินก่อนเกษียณอย่างไรดี


เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถบริหารเงินและทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุอย่างมั่งคั่ง ที่กำลังจะใกล้เข้ามา


1. ทบทวนแผนเกษียณอายุอย่างสม่ำเสมอ

ในความเป็นจริง เราไม่ควรมาเริ่มต้นการวางแผนเกษียณอายุ หรือเพิ่งจะมาทบทวนแผนเกษียณอายุตอนที่เราจะใกล้เกษียณ เพราะอาจจะเตรียมการไม่ทัน เราควรจะเริ่มต้นวางแผนเกษียณอายุให้เร็วที่สุด (ถ้าเป็นไปได้ให้เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มทำงาน)  และทบทวนแผนนั้นเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ  1 ครั้ง ซึ่งสิ่งที่เราต้องหมั่นทบทวน คือ จำนวนรายได้ที่เราต้องการจะมีสำหรับดำรงชีวิตหลังเกษียณ เพราะผลของเงินเฟ้อ อาจทำให้เราต้องมีเงินเพื่อการเกษียณมากกว่าที่เราได้เคยประมาณการไว้ (เงินเฟ้อคือภาวะที่ข้าวของมีราคาสูงขึ้น ทำให้เงินเท่าเดิมซื้อของไม่ได้เท่าเดิม หรือทำให้อำนาจซื้อของเงินน้อยลง)


นอกจากนี้ เรายังต้องหมั่นทบทวนถึงแหล่งที่มาของรายได้เพื่อการเกษียณอายุของเราว่ามาจากแหล่งไหนบ้าง เช่น พอร์ตการลงทุนต่างๆ แล้วผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ เหล่านั้นเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเราควรจะเริ่มทบทวนเป็นประจำอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปีก่อนที่จะถึงเวลาเกษียณอายุจริง

2. หากทบทวนแล้วพบว่าเงินเก็บไม่พอใช้ในวัยเกษียณ จะทำอย่างไร

ด้วยเหตุผลนี้ จึงยิ่งมาตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการวางแผนเกษียณอายุ เพราะหากว่าเราทบทวนแล้วพบว่าเงินเก็บไม่พอใช้ในวัยเกษียณ เราอาจจะยังมีเวลาที่มากพอในการเตรียมการนั่นเอง แต่สำหรับใครที่เริ่มช้า แล้วพบว่าเงินที่เก็บไว้มีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ  สิ่งที่ทำได้คือ เราอาจต้องเลื่อนระยะเวลาการเกษียณอายุของเราออกไปอีก เพื่อทำงานหาเงินมาเพิ่มให้มีจำนวนเพียงพอกับกองทุนเกษียณอายุที่ต้องการ นั่นหมายความว่า เราจะไม่สามารถเกษียณอายุ ณ เวลาที่เราต้องการได้ และสิ่งที่เราต้องทำก็คือ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย มีการ ออมเงิน เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และทำให้เงินออมงอกเงยนั่นเอง


3. การบริหารจัดการทรัพย์สินหลังการเกษียณของเรา

เคยมีคนตั้งคำถามว่า ‘เราต้องลงทุนไปถึงเมื่อไหร่’ คำตอบคือเราต้องลงทุนไปตลอดชีวิต แม้ว่าเราจะเกษียณอายุแล้วก็ตาม เพราะอย่าลืมว่า แม้เราจะเกษียณอายุ แต่เงินเฟ้อไม่มีวันเกษียณอายุตามเราดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญหลังเกษียณอายุ คือ กลยุทธ์การรักษาอำนาจซื้อ หรือการลงทุนนั้นๆ ต้องให้อัตราผลตอบแทนที่อย่างน้อยชนะเงินเฟ้อ


นอกจากนี้ ในยามที่เราเกษียณแล้วนั้น การรักษาทรัพย์สินของเราให้เพียงพอเพื่อสามารถใช้ได้ตลอดช่วงเวลาที่เหลือก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นเราอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนด้วยการมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงการลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทน เป็นต้น


ตัวอย่างการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ได้แก่

  • การบริหารสภาพคล่อง เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆในการจัดสรรเงินลงทุนในยามเกษียณของเรา เพราะเราจะต้องมีเงินสำรองยามฉุกเฉินอย่างน้อยเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 1 – 3 ปี โดยเฉพาะส่วนที่ต้องใช้เมื่อเจ็บป่วย ดังนั้นการลงทุนในช่วงอายุนี้ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น การลงทุนในหุ้นนอกตลาด หรือตราสารการเงินที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองเพราะว่าเราอาจต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งเดือนหรือบางครั้งเป็นปีกว่าที่จะขายหลักทรัพย์เหล่านั้นออกมาเป็นเงินสดได้

  • การบริหารจัดการกระแสรายได้ การพิจารณาว่าจำนวนรายได้หลังเกษียณอายุที่เราต้องการเป็นเท่าไหร่จะขึ้นอยู่กับ3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องการจะใช้หลังเกษียณอายุจำนวนเงินรวมถึงทรัพย์สินที่เก็บไว้สำหรับการเกษียณอายุและระยะเวลาที่เราคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากเกษียณอายุ

คำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยทำให้รายได้ของเราสมดุลกับค่าใช้จ่าย

  1. จัดทำรายการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าท่องเที่ยว หรืองานอดิเรก และที่ขาดไม่ได้คือค่ารักษาพยาบาล สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการประเมินใหม่อย่างสม่ำเสมอทุกต้นปี เพราะว่าจำนวนเงินที่เราเคยประเมินไว้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปีเนื่องจากผลของ “เงินเฟ้อ” ซึ่งปกติแล้วอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี แต่ว่าค่าใช้จ่ายบางอย่างอาจมีการเพิ่มสูงมากกว่านั้น เช่น ค่ายา ค่าอาหาร ค่าเชื้อเพลิง และ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

  2. ตรวจสอบดูจำนวนเงินและทรัพย์สินสำหรับการเกษียณของเรา ทั้งที่อยู่ในบัญชีธนาคารและที่ลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ และอย่าลืมจัดทำบันทึกรายละเอียด วิธีติดต่อซื้อขายไว้ให้ครบ

  3. ประมาณการจำนวนปีที่เราต้องดำเนินชีวิตหลังจากที่เราเกษียณแล้ว

    สองข้อหลังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดรายได้แต่ละเดือนที่เราสามารถนำมาใช้ โดยที่ไม่ทำให้เงินเก็บของเราหมดไปก่อนเวลาอันควร ว่าจะเป็นเท่าไหร่

  4. อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขการลงทุน ในการขายคืนกองทุน เราจำเป็นต้องตรวจสอบเงื่อนไขการขายคืน โดยเฉพาะ กองทุน ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ว่าครบกำหนดเงื่อนไขที่เราสามารถขายคืนได้แล้วหรือไม่

  5. รายได้จากการลงทุนเพื่อการเกษียณ เราควรมีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในการเบิกเงินลงทุนของเราออกมาจากตราสารทางการเงินต่างๆ ที่ลงทุนไว้ เพื่อรองรับการใช้จ่าย อาจเป็นทุกสิ้นเดือนหรือทุกครึ่งปี โดยในปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายๆ แห่ง ได้ให้บริการเสริมในการขายกองทุนอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลาที่เรากำหนดไว้ หน่วยลงทุนจะถูกขายคืนตามจำนวนที่เรากำหนด และโอนเงินค่าขายคืนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของเราโดยอัตโนมัติ

กล่าวโดยสรุป เพื่อเป็นการมั่นใจว่าเราจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอจนวาระสุดท้ายของชีวิต การวางแผนเกษียณอายุ การทบทวนแผนเกษียณอย่างสม่ำเสมอ  และการบริหารเงินในช่วงเวลาการเกษียณเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก อย่าชะล่าใจรอจนใกล้เกษียณแล้วถึงคิดจะวางแผนเก็บเงิน  เพราะมันจะสายเกินไป ‘ไม่มีใครวางแผนที่จะล้มเหลว แต่ที่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก’ แล้ววันนี้คุณวางแผนเกษีญณอายุแล้วหรือยัง?

บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร