ชีวิตลั้ลลาประสาฟรีแลนซ์

ก่อนที่เราจะมารู้ว่า อาชีพฟรีแลนซ์นั้นต้องวางแผนการเงินอย่างไรเรามาทำความรู้จักกับอาชีพ “ฟรีแลนซ์” หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “อาชีพอิสระ” กันก่อนดีกว่า


คำว่า “อาชีพอิสระ” มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไป แต่ในที่นี้จะนิยามคำว่า อาชีพอิสระ ไว้ว่า เป็นอาชีพที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของคนเดียว และเป็นผู้บริหารงานเอง ไม่มีเจ้านาย ไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนจากนายจ้าง และอาจมีผู้ช่วยเหลืองานได้ไม่เกิน 5 คน มีรายได้อย่างไม่จำกัดจากผลกำไรของการประกอบอาชีพ ซึ่งการที่จะมีรายได้อย่างไม่จำกัดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพเป็นสำคัญ หรือว่าง่ายๆ ก็คือ ได้รับเงินตามผลงานนั่นเอง


อย่างไรก็ตามการเป็นเจ้านายตัวเอง นำมาซึ่งความรับผิดชอบในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ หรือด้านที่ธุรกิจประสบความล้มเหลว ในฐานะเจ้าของอาชีพก็ต้องรับผลนั้นแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการวางแผนการทำงาน การมีระเบียบวินัยและการวางแผนการเงินอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ทุกคน

ฟรีแลนซ์ต้องวางแผนการเงินเรื่องอะไรบ้าง
  • เรื่องแรกเลย คือ การวางแผนสภาพคล่อง การเป็นฟรีแลนซ์อาจมีรายได้ที่ไม่แน่นอน (เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับผลงาน ต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำที่แน่นอน) ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมเงินสภาพคล่องไว้มากกว่าปกติ คือ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายประมาณ 8 – 12 เดือน (จากปกติที่แนะนำไว้คือ 3 – 6 เดือน) นอกจากนี้การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แม้รายได้จะไม่แน่นอน แต่เราสามารถทำประมาณการค่าใช้จ่ายออกมาได้ เพื่อให้เราสามารถกันเงินสำรองได้อย่างเหมาะสม

  • การวางแผนประกันสุขภาพ การเป็นฟรีแลนซ์ หมายถึงการรับผิดชอบตัวเอง จะไม่มีประกันกลุ่มหรือประกันสุขภาพจากบริษัทหรือนายจ้าง ดังนั้นควรวางแผนประกันสุขภาพไว้ในระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากโรงพยาบาลที่เราเลือกใช้บริการว่ามีระดับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่ประมาณเท่าใด เราก็เลือกซื้อประกันสุขภาพที่มีระดับความคุ้มครองที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น

  • การวางแผนประกันชีวิต ผู้ประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่มักดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ดังนั้นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงไม่ใช่มีแค่ร้านค้า หรืออุปกรณ์ทำมาหากินเท่านั้น ตัวเราเองเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด จึงอย่าได้มองข้ามความสำคัญของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพด้วย เพราะหากผู้ประกอบอาชีพอิสระมีภาระหนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ การมีทุนประกันเหมาะสมและครอบคลุมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยแบบประกันที่เหมาะสม คือ แบบชั่วระยะเวลา และแบบยูนิต ลิงค์ ที่เน้นความคุ้มครองสูง

  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระควรมีการวางแผนเกษียณอายุผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ เช่น กองทุน SSF และ RMF หรือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญด้วย เพราะอย่าลืมว่าเมื่อเป็นฟรีแลนซ์ ก็ทำให้เราไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุน กบข. (หากเป็นข้าราชการ) ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบในการเตรียมเงินเพื่อการเกษียณอายุของตัวเองไว้ให้พร้อม คำแนะนำหากเป็นไปได้ควรกันเงินออมอย่างน้อย 10 – 15% ของรายได้และนำมาลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF เป็นประจำทุกเดือน แต่ถ้าเป็นไปได้ควรลงทุนให้เต็มสิทธิ์ภาษีนั่นคือ อย่างละ 15% ของรายได้

  • เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนของรายได้ของอาชีพฟรีแลนซ์ ทำให้การวางแผนการลงทุนของผู้ประกอบอาชีพอิสระ อาจไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นในสัดส่วนที่สูงได้ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วนขึ้นมา อาจจำเป็นต้องขายการลงทุนในราคาที่ไม่ต้องการ หรือในราคาที่ขาดทุนก็เป็นได้ นอกจากนี้ไม่ควรลงทุนในหุ้นที่ทำกิจการเหมือนอาชีพตนเอง เพราะอาชีพของผู้ทำอาชีพอิสระเองก็เหมือนการลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว ทำให้ไม่เกิดการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

  • เรื่องสำคัญเรื่องสุดท้ายที่ต้องพิจารณาวางแผนให้รอบคอบ คือ การวางแผนภาษี ควรศึกษาวิธีปรับรูปแบบเงินได้จากมาตรา 40(2) ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 50 ของรายได้แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ไปอยู่ในมาตราอื่นๆ เช่น 40(5) (6) (7) หรือ (8) แทน เพราะเราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหรือแบบเหมาได้ตามอัตราที่กำหนด และไม่จำกัดเพดานการหักค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่ารายได้ในมาตรา 40(2)

ทิ้งท้าย การเป็นฟรีแลนซ์ หรือ ผู้ทำอาชีพอิสระนั้น ยิ่งเราทำงานอิสระมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องวางแผนมากขึ้นเท่านั้น เพราะการมีแผนการเงินที่ดี เปรียบเหมือนมีเข็มทิศของชีวิตเลยทีเดียว มิเช่นนั้นคุณอาจจะเจอปัญหาที่ว่า ทำงานหาเงินมาได้มากก็จริง แต่ทำไมจึงไม่มีเงินเก็บเลย ก็เพราะเงินไหลออกไปตามรูรั่วต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นเรามาวางแผนการเงินให้ดี เพื่อชีวิตลั้นลา ประสาฟรีแลนซ์กันเถอะ


บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ