CTO คือใคร? สำคัญอย่างไรกับธุรกิจยุคดิจิทัล

เทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร ช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่เท่าทันต่อกระแสโลกยุคดิจิทัล แต่การสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นในองค์กร คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดอาจไม่ใช่เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูง เพราะการคัดสรรสิ่งที่เหมาะกับองค์กรต้องคิดและทำร่วมกันเป็นทีม ถ้าจะพัฒนาหรือเลือกซอฟต์แวร์มาใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ก็จะต้องหาคนที่มีความรู้ด้าน IT เข้ามาช่วย ซึ่งคนนั้นก็คือ CTO หรือ Chief Technology Officer

noppadol

แล้วจะหา CTO ที่ใช่ได้อย่างไร? คุณนภดล พันธุ์ปัญญาเลิศ (คุณกอล์ฟ) กรรมการบริษัท ไอดิโอ เทค จำกัด จะชวนเรามาทำความเข้าใจ Tech Startup Team และกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อหา CTO ที่ธุรกิจต้องการ

 

เหตุผลที่ทำให้ Startup ล้มเหลว

ปัจจุบันมี Startup ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ Startup ที่ประสบความสำเร็จมีน้อยมาก และสิ่งที่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว 3 อันดับแรกก็คือ

  • 40% No Market Demand: Idea หรือ Business Model ที่คิดขึ้นมา ไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า หรือมีลูกค้าไม่มากพอที่จะผลักดันให้ Business Model นั้นดำเนินต่อไปได้
  • 28% No Funding: เงินทุนที่มีหรือที่ได้รับมาไม่มากพอ เมื่อเงินทุนหมด ก็ต้องล้มเลิกไป
  • 23% Not Having Right Team: ไม่มีทีมที่ดีพอในการผลักดันให้ Business Model นั้นเกิดขึ้น


จะเห็นว่า Business Model จะสำเร็จได้ ต้องเป็นไอเดียที่ดี มีความเป็นไปได้ มีตลาดรองรับ ที่สำคัญต้องมีทีมที่สามารถทำผลิตภัณฑ์และบริการนั้นๆ ออกมาได้จริง เพราะหากผลิตภัณฑ์และบริการยังไม่ตอบโจทย์ แต่ทีมงานที่ดีจะสามารถปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เหมาะกับตลาดได้

Startup ที่ประสบความสำเร็จมักจะประกอบไปด้วยบุคคล 3 ประเภท คือ  Hustler, Hipster และ Hacker โดย Hustler ก็คือ CEO (Chief Executive Officer) ซึ่งเก่งด้านการบริหาร มีทักษะในการนำเสนองาน หาตลาดใหม่ หาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจ แต่ธุรกิจของ Hustler จะเป็นจริงได้ก็จะต้องอาศัย Hipster หรือ COO (Chief Operating Officer) ในการออกแบบ User Experience ให้น่าใช้ เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ผู้บริโภค และคนสุดท้ายคือ Hacker หรือ CTO (Chief Technology Officer) คือ คนที่มีหน้าที่สร้างสรรค์ไอเดียทั้งหมดให้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา


คุณกอล์ฟยกตัวอย่าง Startup Dream Team อย่าง Apple Startup Team ให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่ง Steve Job ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ถือเป็นตัวอย่างของ Hustler ที่ชัดเจน แม้ว่า Steve Job จะเป็นคนที่มี Vision ในระดับโลก และมีไอเดียการทำธุรกิจอยู่ในหัวมากมาย แต่สิ่งที่ Steve Job คิดนั้นจะเป็นจริงไม่ได้เลยหากไม่มี Jonathan Lve อยู่เบื้องหลังการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น iPhone, iMac, iPod, iPhone, Apple Watch ให้ดูสวยงามน่าใช้ และคนที่สร้างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบไว้ให้เกิดขึ้นได้จริงก็คือ Steve Wozniak วิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple และเป็นคนที่สร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลกขึ้นมา ซึ่ง Steve Wozniak ก็คือ CTO ที่เรากำลังพูดถึงนั่นเอง

 

CTO ทำอะไรบ้าง?

หน้าที่ของ CTO คือการพัฒนาให้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นเกิดขึ้นจริง โดยมีหน้าที่หลักๆ คือ

  • Manage the Team: ดูแลทีมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ

  • Define Technology Stack: เลือกเครื่องมือและเทคโนโลยี ในการพัฒนาระบบให้ถูกต้องและเหมาะสม

  • Manage Operation & Track Performance: บริหารงานให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมายและระยะเวลา รวมถึงดูแลการทดสอบระบบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • Have a Technical Vision: มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วางแผน และรอบรู้ในเทคโนโลยี

  • Represent the Company: CTO ของ Startup ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วยว่าจะสามารถพัฒนาสิ่งที่คิดให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่

คนที่เรียบจบด้าน IT ทุกคน ไม่ได้เขียนโปรแกรมได้ทุกคน คุณกอล์ฟแบ่งคนที่เรียนจบสาย Computer Engineer หรือ Computer Science ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ System และ Developer  โดย System จะแบ่งเป็น 2 สายคือ สาย Implement ที่ทำหน้าที่สร้างและเชื่อมต่อระบบต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ เช่น ระบบ Network, Securities, Computer Server หรือการนำซอฟต์แวร์ไปติดตั้ง และอีกสายคือ Admin ที่คอยดูแลระบบต่างๆ ให้ทำงานได้เป็นปกติ


ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Developer จะประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม คือ

  1. Designed ซึ่งแบ่งเป็น System Analytic ทำหน้าที่จะออกแบบภาพรวมของระบบ กำหนดส่วนประกอบต่างๆ สำหรับ Software ว่าจะเชื่อมต่อกันอย่างไร และอีกฝ่ายคือคนที่ทำหน้าที่ออกแบบ UX/UI  ซึ่งจะต้องเข้าใจความต้องการของผู้กลุ่มเป้าหมาย สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มออกมาได้สวยงาม ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค

  2. Coding ทั้งส่วน Front End ซึ่งทำขึ้นมาตามที่ UX/UI ออกแบบ และส่วน Back End หรือส่วนที่ทีมพัฒนาเข้ามาใช้งาน สามารถดู API, Database และการประมวลผลต่างๆ ได้

  3. QC & Support ได้แก่ การตรวจสอบคุณภาพของระบบให้ทำงานได้ถูกต้องตามความต้องการ และงาน DevOps ซึ่งเป็นคนที่เขียนโค้ดได้ และเข้าใจงานพัฒนาระบบ สามารถช่วยตั้งต้นให้คนเขียนโปรแกรมทำงานง่ายขึ้น

    คนที่เป็น Full Stack จะสามารถทำงานในส่วนของ Developer ได้เกือบทั้งหมด โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ CTO เพื่อให้งานทุกส่วนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 

รู้จักกับ Tech Stack

Tech Stack เป็นชุดเครื่องมือ รวมถึงเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาซอฟต์แวร์หรือระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Web Application, Mobile Application, Desktop หรือ Micro Computer โดยคุณกอล์ฟได้โฟกัสไปที่การสร้าง Web Application กับ Mobile Application เป็นหลัก ซึ่งการพัฒนาจะมี 3 รูปแบบหลักคือ

  1. Native Application คือซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานบนแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น การเขียนโปรแกรมที่ทำงานบน Android  กับ iOS ก็ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการพัฒนาที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้ซอฟต์แวร์ทำงานได้ทั้งสองแพลตฟอร์ม

    ข้อดี: ความเร็วในการแสดงผล สามารถใช้ลูกเล่นต่างๆ ในฮาร์ดแวร์ของระบบได้แทบทุกอย่าง และทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพราะต้องดาวน์โหลดมาลงที่เครื่อง

    ข้อเสีย: ต้นทุนพัฒนาสูง ต้องใช้คนที่มีทักษะด้าน Android  และ iOS รวมถึงต้องผ่านการอนุมัติจาก Google Play หรือ App Store ถึงจะดาวน์โหลดได้ และการจะอัปเดตต้องทำจากตัวเครื่องเท่านั้น

    ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่พัฒนาด้วย Native Application: เกม Pokemon GO, Facebook, Google Map

  2. Web Application คือซอฟต์แวร์ที่รันได้บนเว็บบราวเซอร์เท่านั้น อุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ทีวี นาฬิกา หากมีเว็บบราวเซอร์ก็สามารถทำงานได้

    ข้อดี: พัฒนาได้เร็ว  ค่าใช้จ่ายถูก ไม่ต้องติดตั้งลงเครื่อง  อัปเดตได้ทันทีผ่านการเข้าใช้งานบนเว็บไซต์

    ข้อเสีย: ไม่สามารถใช้ฟีเจอร์ที่อยู่บนตัวอุปกรณ์ได้เต็มที่ รวมถึง Performance และ User Experience จะไม่ดีเท่า Native Application

    ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่พัฒนาด้วย Web Application: Google Docs, Netflix ที่เข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์, Slack

  3. Hybridge Application เป็นระบบเป็นกึ่งกลางระหว่าง Native Application และ Web Application

    ข้อดี: เขียนโปรแกรมครั้งเดียวรันได้ทั้ง Android  และ iOS ไม่ต้องพัฒนาสองรอบ ต้นทุนพัฒนาจึงต่ำกว่า เหมาะกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีฟังก์ชันไม่ซับซ้อน และมีงบประมาณจำกัด

    ข้อเสีย:ไม่สามารถทำฟังก์ชันบางอย่างได้ และ Performance ไม่ดีเท่า Native Application

    ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่พัฒนาด้วย Hybridge Application: Instagram, Twitter, Gmail

จากที่กล่าวมาข้างต้น คุณกอล์ฟได้ยกตัวอย่างจากโปรเจกต์ที่มีการนำเสนอไว้ดังนี้


หากต้องการทำซอฟต์แวร์จองรถบรรทุกสินค้าสำหรับบริษัทให้พร้อมใช้งานเร็วที่สุด ตัว Web Application จะตอบโจทย์ด้านความรวดเร็ว แต่หากต้องการให้ลูกค้าดาวน์โหลดและสามารถเข้าถึงระบบ GPS ได้ง่าย ก็สามารถเลือกเป็น Hybridge Application ได้


หากต้องการแพลตฟอร์มบริหารจัดการสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงานเลือกได้เองจากงบประมาณที่บริษัทมี คุณกอล์ฟแนะนำเป็น  Hybridge Application เพราะเหมาะกับการดาวน์โหลดบนมือถือและนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ Performance มากนัก


ส่วนการทำแพลตฟอร์มที่ต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากๆ ควรทำเป็น Native Application เพราะจะให้ Performance ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นช่วงเสนอ Idea & Concept ก็สามารถทำเป็น Web Application ได้


ปัจจุบันการพัฒนาซอฟต์แวร์ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาในการเขียนโค้ดเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นมา เพราะมี Framework เข้ามาช่วย ถ้าเปรียบกับการก่อกำแพงสร้างบ้าน การเขียนโค้ดก็คือการเริ่มก่ออิฐที่ละก้อนเพื่อทำกำแพง ส่วน Framework ก็คือกำแพงสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งาน สามารถยกมาประกอบตามจุดต่างๆ ได้ตามต้องการ ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์สะดวกและรวดเร็วขึ้น


การพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะเป็น Native Application, Web Application หรือ Hybridge Application จะมีภาษาที่เขียนและ Framework ที่ใช้แตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของ Front End, Back End และส่วน Support ซึ่ง CTO จะเป็นผู้เลือกว่าควรใช้อะไรในการพัฒนาระบบ

จะหา CTO ที่ใช่ได้อย่างไร?

คุณกอล์ฟให้แนวทางการคัดเลือก CTO  จากมุมของของ CEO ไว้ 3 วิธี ได้แก่ การจ้างเป็นพนักงานประจำ (Fulltime), การ Outsource คนมาทำระบบ และการหา Partner & Co Founder มาพัฒนาร่วมกัน โดยควรเปรียบเทียบการหา CTO ในหลายมิติ ซึ่งคุณกอล์ฟยกตัวอย่างไว้ตามตารางนี้

Detail Fulltime Outsource Partner & Co Founder
Project Type Long Term POC/Short Term/Module Long Term
Ownership Medium Low High
Ability to Control High Medium – Low Medium
Cost Variable Fix Share
Communication Easy Medium - Hard Easy

ถ้าเป็นโปรเจกต์ระยะยาวควรหา CTO ที่เป็น Partner & Co Founder เพราะจะได้ความเป็น Ownership สูงกว่า หรืออาจจะจ้างพนักงานประจำก็ได้ เพราะสามารถควบคุมการทำงานได้ดี ทั้งนี้ CTO ที่เป็น  Partner & Co Founder จะมีความเหมาะสมกว่าทั้งในมิติของต้นทุนที่สามารถแชร์ต้นทุนและส่วนแบ่งรายได้กัน รวมถึงมีความง่ายในการสื่อการเพื่อปรับเปลี่ยนระบบไปตามความต้องการของตลาด  การใช้ Outsource อาจจะกำหนดและคุมงบประมาณได้ดีกว่าการจ้างทีมงานประจำที่เป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว แต่การสื่อสารอาจไม่คล่องตัวนักและมักมีปัญหาได้งานไม่ตรงตามความต้องการหาก โปรเจกต์ที่พัฒนามี Requirement ที่ไม่ครบถ้วนชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนั้นการใช้ Outsource จึงเหมาะกับโปรเจกต์ขนาดเล็ก หรือ Module บางส่วนที่สามารถจ้างพัฒนาแยกส่วนได้


สำหรับการทดลองทำ Business Model ใหม่ๆ ที่ต้องการหา CTO มาช่วยงาน คุณกอล์ฟแนะนำให้เริ่มจากการดูใจกันก่อน อาจเริ่มต้นจากการลองทำโปรเจกต์เล็กๆ ร่วมกัน ถ้าการทำงานไปกันได้  ค่อยพัฒนามาเป็นพนักงานประจำหรือก่อตั้งธุรกิจร่วมกันในระยะยาว


ส่วนวิธีสุดท้ายก็คือการเป็น CTO ด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องเรียนรู้  Skill เฉพาะทาง แบ่งออกเป็น Hard Skill ที่เป็นพื้นฐานทางด้าน IT, การเขียนโค้ด และมีความเข้าใจใน Technology Stack เพื่อให้สามารถสื่อสารกับทีมพัฒนาได้เข้าใจ และ ทักษะทาง Soft skill ที่ CTO ควรมีได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการทีมงาน, ความเข้าใจในธุรกิจ เรียนรู้เร็ว คิดวิเคราะห์ได้ดี สามารถบริหารต้นทุนและเวลาใด้อย่างเหมาะสม


ที่มา: คอร์สอบรมออนไลน์ SCB SME : Innovation Based Enterprise#3 “How to find your right CTO” วันที่ 5 มกราคม 2565