อยากลาออกจากงาน ต้องวางแผนการเงินอย่างไร

แม้ว่าหลายๆ คนจะชอบงานของตัวเอง แต่บางครั้งก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าชีวิตการงานของตนนั้นไม่มีที่ติ เพราะแม้กระทั่งงานที่ดีที่สุดก็ยังต้องมีข้อเสียที่เราต้องยอมรับ และเมื่อคุณทำงานประจำมาถึงจุดหนึ่ง คุณอาจจะค้นพบตัวเอง และอยากลาออกจากงาน เพื่อไปทำงานที่คุณรักด้วยความพอใจ เช่น อยากออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับงานอิสระ และต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน หรืออยากออกมาลงทุนเปิดร้านเป็นของตัวเอง เพราะคุณเชื่อว่าหากได้ทำในสิ่งที่รัก ชีวิตของคุณจะมีความสุขมากกว่านี้


แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจลาออกจากงาน หากยังไม่มีแผนการที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการเงินที่ดี เพราะหากปราศจากการวางแผนที่ดี อาจทำให้การเงินของคุณสะดุด เงินขาดมือหรืออาจถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ เรียกว่าผิดแผน เครียดชีวิตพัง บทความนี้จึงอยากแนะนำให้เตรียมตัวก่อนลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ดังนี้


1. วางแผนเรื่องอาชีพเสริม

ช่วงเวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นเวลาที่ดีในการลองทำอาชีพเสริมที่อาจกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคตได้ เช่น ขายของออนไลน์ ลงทุนคอนโด ทำคลิปท่องเที่ยว เป็น blogger เขียนบทความหรือรีวิวสินค้า การทำอาชีพเสริมสามารถปูทางไปสู่ธุรกิจส่วนตัวได้ เพราะถ้าลองทำแล้วไม่ใช่ ก็มีเวลาลองใหม่จนเจออาชีพที่สร้างตัวได้อย่างแท้จริง และต้องลองทำจนกว่าจะมั่นใจว่าอาชีพเสริมนั้นมีรายได้ที่เพียงพอ คือ อย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายต่อเดือนของคุณ

 

2. วางแผนสร้างพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้าง passive income หรือรายได้จากสินทรัพย์

ในระหว่างที่คุณมีรายได้จากงานประจำ คุณต้องมีการออมเงิน และแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน เพื่อสร้างรายได้ในรูปของเงินปันผลจากพอร์ตการลงทุนของคุณ ในช่วงแรกของการทำงาน คุณอาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าคุณชอบทำงานอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่คุณสามารถเริ่มต้นลงมือทำได้เลยทันที คือ การวางแผนการเงิน และการลงทุน หากคุณมีรายได้ทั้งจากอาชีพเสริม และพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายต่อเดือน ก็จะช่วยให้คุณอุ่นใจได้เมื่อต้องลาออกจากงานประจำ

3. มีเงินสำรอง

คุณควรมีเงินสำรองไว้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน และมีเงินสำรองเป็นทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งมากน้อยต่างกันตามประเภทธุรกิจ ดังนั้นถ้าเลือกได้ควรเลือกธุรกิจที่ใช้ทุนน้อยก่อนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องเงินไม่พอ


4. จัดการหนี้สิน

ก่อนลาออกจากงานประจำ ต้องพยายามเคลียร์หนี้สินออกไปก่อนให้มากที่สุด โดยเฉพาะหนี้เลว (หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง และไม่ก่อให้เกิดรายได้) หรือถ้าไม่สามารถเคลียร์ได้หมด แนะนำให้ขอรีไฟแนนซ์เพื่อให้มีดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด และหนี้สินทั้งหมดไม่ควรเกินทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่


5. วางแผนสมัครบัตรเครดิตเพิ่ม

เมื่อคุณลาออกจากงาน สิ่งที่จะหายไป คือ statement เงินเดือน หรือหลักฐานการมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ซึ่งเท่ากับการมีเครดิตที่ดี โดยผู้ที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ ต้องมีรายได้มั่นคงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนและมีประวัติการชำระเงินที่ดี หลังจากที่ได้รับการอนุมัติให้กลายเป็นผู้ถือบัตรแล้ว ก็มักจะไม่มีการตรวจสอบรายได้อีก ดังนั้นก่อนลาออกควรสมัครบัตรเครดิตเพิ่มเติม เอาที่มีสิทธิประโยชน์คุ้มค่า ตอบโจทย์การใช้งานและไลฟ์สไตล์ของคุณ และสามารถขอยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีได้ง่าย

6. วางแผนเรื่องประกันสังคม และประกันสุขภาพ

เมื่อลาออกจากงาน คุณต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อรับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 4,500 บาท และยังมีสิทธิคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต


นอกจากนี้เงินประกันสังคมที่คุณจ่ายไปทุกเดือน ส่วนหนึ่งนำไปสะสมเป็นเงินออมชราภาพ คุณสามารถเข้าไปเช็กยอดเงินได้ที่เว็บหรือแอปของประกันสังคม โดยสามารถขอคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ส่วนจะได้รับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินเข้าประกันสังคม หลังจากลาออกภายใน 6 เดือนคุณควรยื่นสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมต่อแบบผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 เพื่อมีสิทธิประโยชน์คุ้มครองรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ และรักษาสิทธิเงินออมชราภาพ


หากคิดว่าสิทธิประโยชน์คุ้มครองรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุไม่น่าจะเพียงพอ อาจพิจารณาทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม เพราะเมื่อคุณลาออกจากงาน สิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลจากประกันกลุ่มที่บริษัทเคยให้ ก็จะหมดลงตามไปด้วย

7. วางแผนจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อคุณลาออกจากงาน เท่ากับเป็นการลาออกจากสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งหากคุณนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา โดยที่ยังมีอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับทำผิดเงื่อนไขทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้เงินที่ได้มานั้น คุณจะต้องเอามายื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย หากไม่อยากเสียภาษีในเงินส่วนนี้ คุณสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคุณ ไปอยู่ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ ทำให้สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้หลากหลาย และสะสมเงินไว้จนถึงเกษียณได้ รวมถึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เช่นเดิม


ทั้งนี้ การเลือกที่จะโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF จะต้องแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้างเมื่อลาออก เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โอนเงินไปยัง RMF ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารการลาออกครบถ้วน สำหรับกองทุน RMF ที่สามารถรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ต้องมีการระบุในหนังสือชี้ชวน ว่าเป็นกองทุนที่รับโอนเงินจาก PVD หรือ RMF for PVD และต้องมีการแยกบัญชี RMF for PVD ออกจาก RMF ทั่วไป


กล่าวโดยสรุป ความมั่งคั่งหรือความสำเร็จทางการเงิน แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าคุณทำงานประจำหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าอยากเป็นใคร มีเป้าหมายชีวิตในอนาคตอย่างไร และเริ่มต้นทำวันนี้อย่างไรต่างหาก เพราะหากลาออกจากงานโดยปราศจากเป้าหมายและแผนการที่ดี ชีวิตคุณอาจพัง และอาจต้องกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนตามเดิมก็เป็นได้


บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร