กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ภัยใกล้ตัวของคนทำงาน

บทความโดย :  นายแพทย์อาคเนย์ วงษ์สวัสดิ์

Urologist Surgeon ศัลยแพทย์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


หนุ่มสาวที่ชอบนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศ หรือที่บ้าน ชอบกลั้นปัสสาวะเวลามีงานติดพันหรือทำอะไรเพลินๆ ไม่ค่อยลุกไปเข้าห้องน้ำ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ทั้งสิ้น แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรง แต่ก็สร้างความรำคาญและความทรมานในการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน


รู้จักโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย จากสถิติพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี โดยเฉพาะสาวๆ ออฟฟิศที่นั่งติดอยู่กับโต๊ะทำงาน ไม่ขยับเขยื้อนตัวลุกไปไหน สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมาจากสรีระทางร่างกายของผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ดังนั้นเชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนักโดยเฉพาะเจ้าเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายเข้าไปอีก


สาเหตุ ของกระเพาะปัสสาวะอักเสบมาจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่ง 75-95% โดยประมาณเกิดจากเชื้ออีโคไล  ซึ่งเชื้อนี้จะมีอยู่มาก ที่บริเวณรอบทวารหนัก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือการสวนปัสสาวะ นอกจากนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยา การใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณจุดซ่อนเร้น การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • กลั้นปัสสาวะนาน ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี
  • ปัสสาวะบ่อยจนเกินไป ทำให้ต้องเบ่งและสัมผัสกับเชื้อโรคมากขึ้น
  • การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิง หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี เช่น เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า  ก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากช่องคลอดและทวารหนักได้
  • ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว
  • ไม่ค่อยเคลื่อนไหวมักนั่งๆ นอนๆ
  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • ดื่มน้ำน้อย
  • การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฎิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
  • การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการที่สำคัญ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากถ่ายปัสสาวะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
ปัสสาวะไม่ค่อยสุดหรือมีปัสสาวะหยดหรือไหลซึมออกมาอีก

  • ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็งหรืออาจปวดแบบถ่วงๆแบบเป็นๆหายๆหรืออาจรู้สึกปวดตลอดเวลา
  • พอรู้สึกปวดต้องไปรีบถ่าย บางครั้งกลั้นไม่ได้จนมีปัสสาวะเล็ดออกมา
  • ปัสสาวะปวดเบ่งหรือไม่ค่อยออก
  • ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุดหรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น
  • ต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไปในคืนหนึ่งๆ


ในกรณีที่กระเพาะปัสสาวะอักเสบเล็กน้อยหรือเป็นแบบเรื้อรัง อาการดังกล่าวข้างต้น อาจมีเพียงเล็กน้อยจนผู้ป่วยไม่ได้สังเกตอาการหรืออาจเคยชินกับอาการเหล่านั้น


การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ควรพบแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย มีไข้ เมื่อตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจจำเป็นต้องตรวจหาต้นเหตุอื่นๆที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย


โรคที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคนี้

  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
  • โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานอย่างปกติ
  • โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหย่อน
  • โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
  • โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกินปกติ
  • โรคเยื่อบุช่องคลอดซูบแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ


ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญ ของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบและมะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ให้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม ทั้งชนิดยา ขนาดยาและระยะเวลาที่ให้
  • ให้ยารักษาอาการเช่น อาการปวด อาการเจ็บแสบ อาการปัสสาวะลำบาก
  • ให้ดื่มน้ำเสมอๆ วันละ 2-5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)
  • ให้รักษาอนามัยของร่างกายและอนามัยในกิจกรรมทางเพศ
  • ต้องติดตามตรวจปัสสาวะหลังให้ยารักษา (5-10 วัน)


วิธีป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • รักษาความสะอาดในการขับถ่าย
  • ไม่ควรใช้สเปรย์ หรือยาดับกลิ่นตัวบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อการระคายเคือง
  • เลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับใครที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ Partner ในการนำเสนอบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คุณปรึกษาแพทย์เบื้องต้นได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยสามารถดาวน์โหลดผ่านแอป SCB  EASY จากเมนู ”มาตรการช่วยเหลือโควิด-19” แล้วเลือกเมนู “บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์” (ให้บริการโดยแอป Doctor A to Z sponsored by SCB)


สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-