“บอกลาโรคฮอตฮิต...ออฟฟิศซินโดรม”

บทความโดย :  พ.ญ.อาภารัตน์  สุริยวงศ์พงศา

แพทย์ประจำออฟฟิศซินโดรมคลินิก รพ.นนทเวช

การทำงานแบบ New Normal ในยุคโควิด ทำให้พนักงานบริษัทต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านแทนที่ออฟฟิศ หมอสังเกตเห็นว่า มีคนไข้ที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ มารักษามากขึ้น โดยส่วนมากมักมีประวัติสัมพันธ์กับการใช้อุปกรณ์และโต๊ะทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นใช้โต๊ะกินข้าวหรือใช้เครื่องแป้งแทนโต๊ะทำงาน ทำให้เกิดอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม  โดยเริ่มจากเป็นน้อยๆแล้วค่อยๆสะสมจนนั่งทำงานไม่ได้นาน บางรายมีอาการปวดศีรษะรุนแรง นอนไม่หลับ  ต้องมาแอดมิทที่โรงพยาบาลเพื่อฉีดยาแก้ปวด นอกจากจะรบกวนประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังส่งผลสุขภาพในชีวิตประจำวันด้วย

จัดการกับปัญหาออฟฟิศซินโดรม อย่างไรดี?

ก่อนจะไปจัดการกับตัวร้ายต้องทำความรู้จักให้ดีเสียก่อนว่าเขาเป็นใคร?  เขาเรียกพรรคพวกมาได้อย่างไร ?และทำไมเขาถึงอยู่กับเรานาน?


ออฟฟิศซินโดรม
คือ กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดหดตัวเกร็ง มักเกิดบริเวณกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หลัง ที่มีสาเหตุจากการทำงานที่อยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ จนเส้นใยกล้ามเนื้อที่ใช้งานนาน ๆ มีการหดเกร็งจนเกิดเป็น


Trigger point ”  ซึ่งเป็นจุดของกล้ามเนื้อที่มีความไวต่อการถูกกด กดแล้วจะแสดงอาการปวดร้าวไปตามรูปแบบของ กล้ามเนื้อนั้น ๆ   โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 6 ชม. มักมี trigger point ของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยักไหล่ ตามรูปที่ 1 เมื่อกด Trigger point บริเวณกล้ามเนื้อนี้ จะทำให้มีอาการปวดร้าวขึ้นบริเวณขมับทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น ไมเกรนได้ นอกจากนี้ Trigger point ที่เกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อคอ อาจทำให้มีอาการหูอื้อ มึนงง ตาพร่ามัวร่วมด้วยได้

เมื่อเริ่มมี Trigger point อันแรกเกิดขึ้นแล้วมักเหนี่ยวนำให้มี Trigger point  ของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ตามมาจึงทำให้เกิดอาการ ปวดร้าวแผ่ไปได้ไกลกว่าจุดเริ่มต้นมาก เช่นอาการปวดบ่าร้าวขึ้นศีรษะ หรืออาการปวดสะบักร้าวลงแขนได้


กล้ามเนื้อที่หดรั้งเป็นเวลานานจะกดทับหลอดเลือดทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นลดลง จึงทำให้ออกซิเจนที่ถูกลำเลียงมากับเลือดเข้าสู่เซลล์น้อยลง ส่งผลกระทบต่อการหายใจระดับเซลล์ เกิดการหายใจระดับเซลล์ติดขัด ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อสร้างพลังงานลดลง กล้ามเนื้อจึงขาดพลังงานที่ต้องใช้ในการคลายตัว   ยิ่งถ้าเรานั่งทำงานผิดท่าหรือนั่งนานโดยไม่เปลี่ยนท่า ก็จะทำให้กล้ามเนื้อล้าสะสม จนเกิดเป็นเยื่อพังผืดหดรั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม โดยมีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยพอรำคาญ หรือปวดรุนแรงจนส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงควรใส่ใจดูแลป้องกันเพื่อไม่ให้โรคลุกลาม


การป้องกันอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้แก่

1. จัดท่านั่งทำงานให้เกิดสมดุลร่างกายตามรูป 2.2 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการล้าสะสมของกล้ามเนื้อที่เกิดการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง (รูป2.1)

จากรูป 2.2 หัวใจหลักในการลดอาการปวดกล้ามเนื้อบ่า คือการปรับระดับความสูงของเก้าอี้ ให้นั่งแล้วสามารถวางข้อศอกงอพอดีทำมุม 90องศากับหน้าโต๊ะ เป็นการช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อยักไหล่  upper trapezius ไม่ให้ทำงานนานจนเกินไป เนื่องจากสามารถวางพักแขนบนโต๊ะได้ โดยไม่ต้องยักไหล่อยู่ตลอดเวลาที่ต้องพิมพ์คอมพิวเตอร์ และหัวใจหลักของการลดอาการปวดคอ คือการปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อลดการยื่นหรือก้มคอไปหาจอคอมพิวเตอร์ และเป็นการป้องกันโรคกระดูกต้นคอเสื่อมอีกด้วย


2 .การปรับเปลี่ยนอริยาบททุก30 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานต่อเนื่องได้พักเบรก


3. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ บ่า สะบัก ตามรูป 3.1-3.3 จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ปวด ทำให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น

4. การดูแลเรื่องอาหารไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาด ธาตุเหล็ก วิตามินดี และ บี 12 จะเป็นปัจจัย ที่ทำให้การรักษาออฟฟิศซินโดรมไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร


5. ผู้ที่มีความปวดเรื้อรัง หรือมีความเครียด วิตกกังวล และความกลัว ต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้กลไกของสมองที่ออกฤทธิ์ ระงับปวดมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้เราปวดมากขึ้น การฝึกสมาธิ ก่อนนอนอย่างน้อยวันละ 5 นาที จะช่วยให้เราอยู่ กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต  และไม่พะวงถึงอนาคต จะทำให้เกิดความสงบ เป็นการผ่อนคลายสมอง ลดระดับฮอร์โมนเครียด ลดระดับความเจ็บปวด


การรักษาอาการปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรม

หากปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการปวดยังไม่ทุเลา สืบเนื่องมาจากการมี Trigger point สะสม การปรึกษาแพทย์เพื่อ แนะนำแนวทางการรักษาก็จะช่วยให้กลับไปทำงานได้มีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยการรักษา มีหลายวิธี  ยกตัวอย่างเช่น

  • การกินยาคลายกล้ามเนื้อ การกินยาบรรเทาอาการปวด
  • การรักษาทางกายภาพบำบัดลดอาการปวดด้วยคลื่นอัลตร้าซาวน์ การรักษาด้วยแสงเลเซอร์เพื่อเพิ่มพลังงานให้กล้ามเนื้อ
  • การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave therapy) เพื่อคลายปมพังผืดและกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่
  • การฝังเข็มสลายปมพังผืด โดยวิธี  Dry Needling
  • การนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

การรักษาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมที่ได้ผลดี ต้องเกิดจากความเข้าใจถึงสาเหตุ เรียนรู้ถึงวิธีลดปัจจัยเสี่ยง ปรับวิธีการทำงานเพื่อป้องกันโรค รวมถึงรู้วิธีการรักษาตนเองเบื้องต้นเพื่อไม่ให้อาการรุนแรง ตลอดจนดูแลเรื่องการออกกำลังกาย อาหารและผ่อนคลายความเครียดอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าโรคนี้รักษาได้ไม่ยาก ถ้าทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้


สำหรับใครที่เป็นออฟฟิศซินโดรมแต่ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ Partner ในการนำเสนอบริการ ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คุณปรึกษาแพทย์เบื้องต้นได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยสามารถดาวน์โหลดผ่านแอป SCB  EASY จากเมนู ”มาตรการช่วยเหลือโควิด-19” แล้วเลือกเมนู “บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์” (ให้บริการโดยแอป Doctor A to Z sponsored by SCB)


สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-