ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
คนโสด เก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ
ปัจจุบัน คนไทยมีแนวโน้มไม่แต่งงานเพิ่มสูงขึ้น บางคนตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะโสดไปตลอดชีวิต จึงทำให้เชื่อว่าเมื่อใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่ต้องเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณให้มากเหมือนคู่แต่งงานหรือครอบครัวที่มีลูก แต่ความจริงแล้วการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของคนโสดก็ไม่ต่างไปจากคนมีครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น คนโสดไปตลอดชีวิตกลับต้องเริ่มต้นวางแผนการเงินให้รัดกุม เพราะอย่าลืมว่าเมื่อแก่ตัวไปจะไม่มีใครมาคอยดูแล พูดง่ายๆ ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังจนวันสุดท้ายของลมหายใจ ดังนั้น ก่อนถึงวัยเกษียณต้องสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันด้านการเงินให้พร้อมเต็มที่
1. เตรียมเงินฉุกเฉิน
ตามหลักการการออมเงินเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน อย่างน้อยๆ คือ 3 เดือน ของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น หากใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท ควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน 45,000 บาท แต่เมื่อจะใช้ชีวิตโสด ไม่มีใครคอยดูแลหรือคอยแชร์ค่าใช้จ่าย ดังนั้น ควรมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 6 เดือน นั่นคือ 90,000 บาท (15,000 x 6 เดือน)
วิธีการออมเงินเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน คือ ทุกเดือนต้องกันเงิน เช่น 10% ของเงินเดือน ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น
2.ลงทุน
การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของคนโสดก็ไม่แตกต่างไปจากคนที่มีครอบครัว เริ่มจากการตั้งเป้าหมายหลังเกษียณว่ามีแผนใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วประเมินว่าตัวเองจะมีอายุจากวันเกษียณไปจนถึงเสียชีวิตอีกกี่ปี เช่น อยากใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (240,000 บาทต่อปี) และคาดว่าจะเสียชีวิตตอนอายุตอน 85 ปี สมมติว่าเกษียณอายุ 60 แสดงว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 26 ปี
หมายความว่าต้องมีเงินก่อนเกษียณ 6,240,000 บาท และหากคำนวณอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีก็ต้องเตรียมเงินมากกว่านี้ จากนั้นต้องแบ่งเงินไปลงทุนในช่องทางเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
3. ซื้อประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง
หากเกิดเหตุการณ์เจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลที่สูง แล้วเกิดในช่วงหลังเกษียณ เงินเก็บที่มีอาจไม่เพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะคนโสดที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล
ดังนั้น จึงควรทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่ารักษาพยาบาล โดยอาจทำเป็นสัญญาแนบกับประกันชีวิต แต่ต้องดูเงื่อนไขของสัญญาเพิ่มเติมและระยะเวลาสิ้นสุดของประกันชีวิตหลักด้วย เพราะเมื่อประกันชีวิตหลักสิ้นสุดลง สัญญาเพิ่มเติมก็ต้องสิ้นสุดความคุ้มครองโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากเลือกแบบเป็นสัญญาแนบท้ายควรพ่วงกับประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองนาน เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อโอกาสในการต่ออายุของความคุ้มครองสุขภาพที่นานขึ้น แต่ข้อเสีย คือ ค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างสูง
หรือสามารถซื้อประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงแบบแยกต่างหาก ข้อดี คือ ค่าเบี้ยประกันถูกกว่าที่มีสัญญาแนบกับประกันชีวิต แต่ข้อเสีย คือ เป็นการจ่ายเบี้ยเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองแบบปีต่อปี แต่ก็ต่อสัญญาในปีต่อไปได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงรูปแบบไหน ควรทำตั้งแต่อายุน้อยๆ เพราะค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าการทำตอนอายุมากขึ้น
4. เตรียมเงินสำหรับพ่อแม่ป่วยฉุกเฉิน
ถึงแม้คิดจะเป็นโสด แต่ยังมีพ่อแม่ที่ต้องคอยดูแล ดังนั้น นอกจากจะวางแผนการเงินให้ตัวเองแล้วก็ต้องวางแผนให้ท่านทั้งสองด้วย โดยเฉพาะเมื่อท่านป่วยฉุกเฉินก็จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา ด้วยการวางแผนซื้อประกันชีวิต
ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตให้พ่อแม่ ก็ต้องดูว่าประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสมกับท่านทั้งสองมากที่สุด โดยให้พิจารณาถึงความเสี่ยงในการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากท่านทั้งสองมีโอกาสเจอโรคที่มีความเสี่ยงสูง ก็ควรซื้อประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แต่ถ้าท่านยังมีสุขภาพแข็งแรง ก็ควรเลือกซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพราะถ้าผู้เอาประกันเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นเมื่อใดก็ตาม บริษัทประกันจะจ่ายเงินผลประโยชน์เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันที่ผู้เอาประกันได้ซื้อไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
5. วางแผนเรื่องที่อยู่อาศัย
เมื่อคิดเป็นโสดไปตลอดชีวิต อาจมีบางเรื่องที่สามารถประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้ เช่น ที่อยู่อาศัยก็มีขนาดเล็กลง หรือคอนโดมิเนียม 1 ห้อง ขนาดพอเหมาะกับการใช้ชีวิตคนเดียว หรือบางคนไม่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่เพื่อคอยดูแลท่าน และไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เพราะใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางแทน ดังนั้น จึงสามารถไปเน้นการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้
การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณของผู้ที่คิดครองความโสดไปตลอดชีวิต ไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ นั่นคือ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุน้อยๆ ลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือนและมีวินัย จัดพอร์ตให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง รวมถึงการทำความเข้าใจสินทรัพย์และความเสี่ยงก่อนลงทุนเสมอ ถ้าทำได้จะพบกับคำว่า “โสด หล่อ สวย และรวยมาก”