ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
บ้านพักคนชรา ทางเลือกใหม่ของการเกษียณสุข
ตอนเราเป็นเด็ก ก็มักจะถูกตั้งคำถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?”
เมื่อเราใกล้จบการศึกษา ก็มักจะถูกตั้งคำถามว่า “เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร?”
เมื่อเราวางแผนสร้างครอบครัว ก็มักจะถูกตั้งคำถามว่า “แต่งงานแล้วจะไปอยู่ที่ไหน?”
แต่มีคำถามนึง ที่เชื่อว่าเรามักไม่ค่อยได้ถามกัน นั่นคือ “หากเราแก่ตัวลง จะอยู่อย่างไร?”
เหตุผลที่เราไม่ค่อยได้ถามคำถามนี้กันสักเท่าไหร่ นั่นก็เป็นเพราะว่า เราส่วนใหญ่มีภาพในใจว่า “เราก็ต้องอยู่กับลูกหลาน มีลูกหลานดูแลสิ”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่าปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 12 ล้านคน หรือประมาณ 17% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าภายในปี 2574 จะเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านคน หรือประมาณ 28% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 90% ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านของตนเองหลังจากที่เกษียณอายุ แต่ด้วยขนาดครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 3 คน เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงานจึงไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลมากที่สุด
โดยในปี 2560 ไทยมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงประมาณ 371,978 คน ค่าใช้จ่ายในการดูแล 59,519 ล้านบาท/ปี และอีก 20 ปีข้างหน้า คือในปี 2580 จะเพิ่มเป็น 837,484 คน และค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 199,717 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเลยทีเดียว
ดังนั้นภาพฝัน “เกษียณอายุแสนสุข ที่มีลูกหลานคอยดูแล” อาจจะไม่สามารถเป็นจริงได้อย่างง่ายดายหากปราศจากการวางแผนการเงินที่ดีพอ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็เป็นเพราะว่า คนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น มีลูกทั้งน้อยลงและช้าลง และจะอยู่คนเดียวมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การมีประชากรวัยทำงานลดลงก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าอัตราคนเกษียณอายุ เราจึงไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราตอนแก่ได้ ดังนั้นการวางแผนการเงินโดยเฉพาะการวางแผนเกษียณอายุ จึงกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว
เมื่ออัตราส่วนผู้ที่มีความสามารถหารายได้ต่ำลง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะต่ำลงตาม ภาระการหาเงินเพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัวจะตกอยู่ที่คนกลุ่มน้อยในสังคมไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ต้องฝากบั้นปลายชีวิตไว้กับลูกหลาน การวางแผนการเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยเรียนหรือเริ่มต้นทำงานจึงจำเป็นอย่างมาก
บ้านพักคนชราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในแผนการเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนโสดที่ไม่คิดจะแต่งงาน หรือแม้กระทั่งคนที่แต่งงานไปแล้ว แต่ไม่คิดที่จะพึ่งพาลูกหลาน เนื่องจากการเลือกไปอยู่บ้านพักคนชราเองก็คงเป็นทางออกที่ดีเพราะมีคนดูแลที่ครบครันกว่า บางครั้งเราอาจจะสร้างเพื่อนที่วัยใกล้ๆ กันคุยเรื่องเดียวกันในบ้านพักคนชราได้ด้วย
การพิจารณาเลือกบ้านพักคนชราที่ตอบโจทย์ ควรพิจารณาอย่างไร
เริ่มต้น เราต้องพิจารณาจากภาวะสุขภาพของเรา ซึ่งโดยทั่วไปในการดูแลผู้สูงอายุ จะแบ่งรูปแบบการดูแลออกเป็น 3 ระดับ คือ ช่วยเหลือตัวเองได้ ภาวะพึ่งพิง และภาวะติดเตียง
หากเราคิดว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ หรือต้องการไปหาหมอ ทำกายภาพบำบัด ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพบ้าง แต่ไม่ถึงกับต้องมีคนมาดูแลตลอดเวลา เราอาจจะเลือกคอนโดผู้สูงวัย หรือ บ้านผู้สูงวัยได้ เพราะที่นั่นมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้มีพยาบาลมาคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา
หากในอนาคตเราเกรงว่าอาจจะอยู่ในภาวะที่ต้องการคนมาดูแลตลอดเวลา หรืออยู่ในระดับภาวะพึ่งพิงและภาวะติดเตียง อาจจะเลือกบ้านพักคนชราอย่างครบวงจร ที่มีอุปกรณ์การดูแลรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และมีพยาบาลมืออาชีพคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพราะจะสะดวกกว่า
สิ่งที่ต้องพิจารณาถัดมา คือ ความสามารถในการจ่ายหรือเงินเก็บของเรานั่นเอง ว่าเรามีเงินก้อน หรือเงินรายเดือน เช่น เงินบำนาญมากน้อยแค่ไหน เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละโครงการมีตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง ขึ้นอยู่กับระดับการให้บริการ และความเป็นส่วนตัวที่เราต้องการ เช่น ห้องรวม ห้องคู่ ห้องเดี่ยว บ้านเดี่ยวหรือวิลล่า เป็นต้น
หากเรามีเงินเก็บเป็นก้อน สามารถจ่ายเป็นเงินก้อนได้ เราจะสามารถซื้อสิทธิ์การอยู่อาศัยในบ้านผู้สูงอายุหรือคอนโดผู้สูงอายุได้ โดยจ่ายครั้งเดียวสามารถอยู่ไปได้ 20-30 ปีหรือตลอดชีพ ในบางโครงการของเอกชนจะเป็นโครงการจัดสรร ซึ่งผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินไปตลอด ซึ่งราคาก็จะอยู่ที่ตั้งแต่ประมาณสองแสนบาทไปจนถึงหลายล้านบาท (ไม่รวมค่าส่วนกลางค่าน้ำค่าไฟ และค่ากินอยู่ของเรา) หากเราเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี คาดว่าจะมีอายุหลังเกษียณไปอีก 20-30 ปี การจ่ายเงินก้อนเพื่อเข้าอยู่ในบ้านผู้สูงอายุหรือคอนโดผู้สูงอายุ น่าจะคุ้มค่ากว่า เพราะเราจะได้รับการดูแลขั้นพื้นฐาน และมีสังคมผู้สูงวัยที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ อีกทั้งยังได้รับกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินสำหรับบางโครงการที่ขายขาดอีกด้วย
หากเราไม่มีเงินก้อน แต่ได้รับเป็นเงินรายเดือนจากเงินบำนาญหรือเงินปันผล ก็อาจพิจารณาไปอยู่บ้านพักคนชรา ที่คิดค่าใช้จ่ายแบบรายเดือนแทน ซึ่งถ้าเป็นบ้านพักคนชราที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล เช่น บ้านพักคนชราบางแค จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ 1,500 บาทต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ และค่าบำรุงแรกเข้า 300,000 บาทเพื่อใช้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน แต่ถ้าเป็นบ้านพักชราของเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 16,000 – 65,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของผู้สูงอายุ และรูปแบบของความสะดวกสบายต่างๆ ภายในที่พักนั่นเอง
นอกจากจะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือนซึ่งครอบคลุมค่าอาหาร และการรักษาพยาบาลตามอาการแล้ว ควรต้องมีเงินเก็บอีกสำหรับค่ายา ค่าเดินทางไปหาหมอในกรณีพิเศษ รวมถึงค่าบำรุงแรกเข้าในบางโครงการ เช่น บ้านบางแคซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายเดือนถูกมากเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ แต่มีค่าบำรุงแรกเข้า 300,000 บาท เมื่อเรานำค่าใช้จ่ายยิบย่อยเหล่านี้มารวมกัน อาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ได้
อีกทั้งหากเราเลือกบ้านพักคนชราที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ต้องพิจารณาเรื่องของการจองคิวด้วย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าของเอกชน ทำให้มีผู้สูงวัยจำนวนมากให้ความสนใจที่จะไปอยู่ ส่งผลให้จำนวนห้องไม่พอกับความต้องการ ดังนั้นหากเรายังพอมีเวลา เราควรรีบเก็บเงินและวางแผนการเงินให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีเงินมากพอที่เราจะมีทางเลือกที่จะไปอยู่ในสถานที่ที่เราต้องการ และในเวลาที่เราต้องการได้
ดังนั้นในการวางแผนเกษียณอายุ นอกจากที่เราจะถามตัวเองว่าจะเกษียณอายุที่อายุเท่าไหร่ คาดว่าจะมีอายุขัยที่อายุเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องการใช้หลังเกษียณเป็นเท่าไหร่แล้ว เราอาจจะต้องเพิ่มคำถามขึ้นมาอีก 1 คำถามว่าหลังเกษียณแล้ว เราจะพักอาศัยอยู่ที่ไหนด้วย เพื่อที่จะได้มาพิจารณาถึงเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มนี้เข้ามา ก็จะเป็นการวางแผนเกษียณอายุที่รอบด้านมากขึ้น และจะทำให้เรามั่นใจว่าเราจะมีเงินมากพอที่จะเกษียณสุขไม่ว่าจะเลือกไปอยู่ที่ไหนก็ตาม
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร