การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

ถึงแม้ว่าก่อนเกษียณหลายคนจะเตรียมเงินไว้แล้วก้อนหนึ่งและมั่นใจว่าเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่เมื่อใกล้เกษียณ กลับเริ่มกังวลว่าเงินก้อนนี้อาจจะหมดเร็วกว่าที่คาด เหตุผลสำคัญคือ ไม่ได้ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ทำให้เกิดมีคำถามกับตัวเองว่า หลังเกษียณแล้วจะใช้เงินต่อเดือนเท่าไหร่ ถึงจะพอดี


ดังนั้น นอกจากจะต้องวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ต้องทำการประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอีกด้วย รวมทั้งมีแผนสำรองด้านการเงินเผื่อเอาไว้สำหรับรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น มีเป้าหมายเตรียมเงินเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท ควรเก็บเงินเผื่อเป็น 4.5 ล้านบาท เป็นต้น


ความสำคัญของการประเมินค่าใช้จ่าย จะทำให้รู้ว่าการดําเนินชีวิตหลังเกษียณเป็นไปในทิศทางตามที่ต้องการหรือไม่ ยิ่งต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถแบ่งระดับของคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ ได้ 3 ระดับ

1.เกษียณแบบขั้นต้น

หรือการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณแบบมีเงินเพียงพอใช้ในแต่ละเดือนสําหรับค่าใช้จ่ายจําเป็นต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น


2.เกษียณแบบสบาย

เป็นการรักษาคุณภาพชีวิตหลังวัยเกษียณให้เหมือนกับช่วงที่ยังทำงาน โดยค่าใช้จ่ายก่อนและหลังเกษียณจะไม่แตกต่างกัน หรืออย่างน้อยๆ หลังเกษียณจะพยายามให้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ


3.เกษียณแบบหรูหรา

เป็นการเก็บเงินเพื่อเกษียณให้มากกว่าการเกษียณแบบสบาย หมายความว่า ต้องเก็บเงินเพิ่มเพื่อนำไปใช้ในกรณีพิเศษเมื่อเกษียณ เช่น เดินทางท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง เป็นต้น


วิธีประมาณค่าใช้จ่ายวัยเกษียณเบื้องต้นสามารถดูตามไลฟ์สไตล์ ด้วยการเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนในปัจจุบัน จากนั้นก็ปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์เมื่อตอนเกษียณว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อย่างสะดวกสบาย หรืออย่างหรูหรา หากนึกไม่ออกก็สามารถดูไลฟ์สไตล์ของคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ซึ่งจะมีระดับค่าใช้จ่ายไม่แตกต่างกันมากนัก


จากข้อมูลงานวิจัย “เงินใช้หลังเกษียณ : ทำอย่างไรถึงจะออมเงินให้เพียงพอ” ปี 2559 ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจคนไทยหลายกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ พบว่าค่าใช้จ่ายวัยเกษียณเฉลี่ยต่อเดือนแบบพอเพียงและสะดวกสบายระดับต่ำสุด คือ กลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ประมาณ 8,153 บาท และ 9,193 บาท ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายวัยเกษียณเฉลี่ยต่อเดือนแบบหรูหราฟู่ฟ่าต่ำสุด คือ กลุ่มพนักงานในโรงงาน ประมาณ 14,005 บาท

ค่าใช้จ่ายวัยเกษียณเฉลี่ยต่อเดือน (บาท)

กลุ่มอาชีพ
(เฉลี่ยทุกจังหวัด ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย)

พอเพียง

สะดวกสะสบาย

หรูหรา

ผู้บริหารบริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ

18,030

29,446

53,541

ข้าราชการ

16,056

25,446

43,464

อาชีพที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ทนาย ผู้สอบบัญชี

15,545

21,164

40,754

พนักงานในสำนักงาน เช่น พนักงานบัญชี พนักงานทรัพยากรบุคคล พนักงานการเงิน

11,460

18,288

35,778

พนักงานให้บริการ เช่น พนักงานขาย พนักงานโรงแรม พนักงานทำความสะอาด พนักงานขับรถ

8,153

12,366

21,887

พนักงานในโรงงาน

7,248

9,494

14,005

ระดับฐานราก เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน

5,679

9,193

21,541

อาชีพอื่นๆ

9,748

14,767

32,668

ที่มา : งานวิจัย “เงินใช้หลังเกษียณ : ทำอย่างไรถึงจะออมเงินให้เพียงพอ” ปี 2559 ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไลฟ์สไตล์ในวัยเกษียณจะเป็นอย่างไรก็จะมีค่าใช้จ่ายหลักๆ อยู่ใน 5 กลุ่ม

1. ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ของใช้ภายในบ้าน

2. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ค่านํ้า ค่าไฟ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การซ่อมแซม

3. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น ค่าโดยสารรถสาธารณะ นํ้ามัน ทางด่วน ค่าบำรุงรักษารถยนต์

4. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล อาหารเสริม เบี้ยประกันชีวิต การตรวจสุขภาพ

5. ค่าใช้จ่ายเพื่อนันทนาการ เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยว การสังสรรค์ รวมถึงค่าบริจาค ทำบุญเข้าวัด


นอกจากทำการประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ควรทำการประมาณในการจัดการทางเงิน ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

1.ทำงบดุลส่วนบุคคล (สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ) เพื่อให้รู้จักและเข้าใจสถานะทางการเงินของตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารเงินเมื่อเกษียณ

2.ทำงบรายได้ค่าใช้จ่าย (รายได้ – ค่าใช้จ่าย = เงินเกินหรือเงินไม่พอ) ทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง แต่ถ้าจดบันทึกรายรับ รายจ่าย จะเป็นข้อมูลการเงินที่สำคัญ และถ้ามีปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ทันท่วงที


ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทควรประมาณการค่าใช้จ่ายให้สูงกว่าปกติ เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นหรือค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นแค่ไหน แต่ถ้าเตรียมเงินและทำการประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเป็นขั้นตอน จะทำให้มั่นใจได้ว่า หลังเกษียณจะมีเงินใช้ตามตามไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างแน่นอน