ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
จัดพอร์ตเกษียณอย่างไร ให้ปลอดภัยที่สุด
ถ้ามีใครถามว่า “ตอนอายุ 60 ปี มีเงินเก็บ 5 แสนบาท คิดว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังวัยเกษียณหรือไม่” คำตอบที่ได้คงไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ไม่พอแน่นอน เมื่อได้คำตอบแบบนี้มักมีคำถามตามมาว่า “ที่ผ่านมาไม่เก็บเงินจริงๆ จังๆ หรือ” หลายคนอาจบอกว่า “เก็บ แต่ไม่รู้เพราะอะไร เงินถึงไม่งอกเงยตามเป้าหมายที่วางเอาไว้”
ถ้าพูดถึงการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีปัจจัยที่กระทบต่อการวางแผนการเงินหลักๆ ได้แก่
หากคน 2 คน มีเป้าหมายทางการเงินเหมือนกัน คนที่มีเงินเริ่มต้นการออมมากกว่าจะได้เปรียบ เช่น นาย ก. และ นาย ข. อายุ 30 ปี ทั้งคู่ตั้งเป้าเกษียณตอนอายุ 60 ปี ฝ่ายแรกตัดสินใจแบ่งเงินจากโบนัส 50,000 บาทเป็นจุดเริ่มต้นเก็บเงินเพื่อเกษียณ จากนั้นออมเงินสม่ำเสมอทุกเดือนๆ ละ 3,000 บาท ขณะที่ฝ่ายหลังเริ่มต้นด้วยเงิน 20,000 บาท แล้วออมเงินทุกเดือนๆ ละ 1,500 บาท ดังนั้นแสดงว่า นาย ก. ออมมากกว่า นาย ข. โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการออมเงินจึงมีมากกว่า
ถ้าสามารถหาผลตอบแทนจากการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้นได้จะทำให้ถึงเป้าหมายการเงินได้เร็วขึ้น เช่น อยากมีเงินเก็บ 5 ล้านบาทในวันเกษียณอายุ ถ้าออมเงินทุกเดือนๆ ละ 3,000 บาท ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ต้องออมเงินประมาณ 498 เดือน (ประมาณ 41 ปี) แต่ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จะออมเงินเพียง 375 เดือน (ประมาณ 31 ปี) หรือถ้าได้ผลตอบแทนสูงขึ้นย่อมส่งผลให้ในวันเกษียณจะมีเงินเก็บมากกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้
คนที่ออมเงินเร็วกว่าจะมีเงินเก็บมากกว่าคนเก็บเงินทีหลัง เช่น นาย ง. และ นาย จ. มีแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ฝ่ายแรกเริ่มเก็บเงินอายุ 25 ปี เดือนละ 3,000 บาท ฝ่ายหลังเริ่มเก็บเงินเมื่ออายุ 40 ปี เดือนละ 3,000 บาท เมื่อถึงปีเกษียณ ฝ่ายแรกย่อมมีเงินเก็บมากกว่า
เมื่อรับรู้ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ทางออกที่น่าสนใจ คือ การจัดพอร์ตแบบสมดุลตามอายุ (Life Path Portfolio) วิธีการคือ “อายุน้อย มีหุ้นเยอะ อายุเยอะ มีหุ้นน้อย”
หมายความว่า พอร์ตลงทุนจะถูกปรับลดความเสี่ยงลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยช่วงอายุน้อย พอร์ตควรจะมีนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูง เช่น หุ้น เนื่องจากเป็นช่วงวัยรับความเสี่ยงได้สูงและมีระยะเวลาในการลงทุนยาวนานกว่าจะเกษียณ หากเกิดความผิดพลาดจากการลงทุนก็มีเวลาในการแก้ไข
เมื่ออายุมากขึ้น นโยบายการลงทุนควรจะถูกปรับลดความเสี่ยงลงให้เหมาะสมกับอายุที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อใกล้วัยเกษียณ นโยบายการลงทุนควรจะถูกลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเงินลงทุน
การจัดพอร์ตแบบสมดุลตามอายุในประเทศไทยได้รับความนิยมขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอดีตที่มีเฉพาะกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF ปัจจุบันมีกองทุนรวมทั่วไปเปิดให้บริการแล้ว
หากสนใจลงทุนกับกองทุนรวมที่มีนโยบายพอร์ตแบบสมดุลตามอายุ เพียงบอกเจ้าหน้าที่ บลจ.ว่าเกิดปีไหน มีแผนเกษียณปีไหน จากนั้นผู้จัดการกองทุนจะนำไปไว้ในพอร์ตกับผู้ที่มีอายุและปีเกษียณที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากแต่ละพอร์ตจะมีความเหมาะสมกับกลุ่มคนที่คล้ายคลึงกัน โดยพอร์ตทำหน้าที่ปรับตามคนกลุ่มนั้นๆ โดยอัตโนมัติ
ตัวอย่าง การจัดพอร์ตแบบสมดุลตามอายุ สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ
อายุ (ปี) |
สัดส่วนการลงทุน (%) |
||
หุ้น |
ตราสารหนี้ |
สินทรัพย์อื่นๆ |
|
ต่ำกว่า 30 |
90 |
- |
10 |
31 - 35 |
80 |
- |
20 |
36 - 40 |
60 |
30 |
10 |
41 - 45 |
50 |
50 |
- |
46 - 50 |
40 |
60 |
- |
51 - 55 |
20 |
80 |
- |
56 - 60 |
5 |
95 |
- |
ปัจจุบันยังมีผู้ที่วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจัดพอร์ตลงทุนไม่เหมาะสมนัก เช่น มีสัดส่วนตราสารหนี้ 80% อีก 20% ลงทุนในหุ้น หากช่วงไหนเศรษฐกิจขยายตัวเต็มที่ การลงทุนในตลาดหุ้นได้รับผลตอบแทนสูง ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตลักษณะนี้จะอยู่ในระดับที่ต่ำ หรือเน้นหุ้น 90% อีก 10% ลงทุนตราสารหนี้ หากช่วงไหนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบ จะทำให้พอร์ตได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ดังนั้น การจัดพอร์ตแบบสมดุลตามอายุ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้มากพอที่จะเลือกสินทรัพย์ลงทุนอะไร ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสารหรือไม่ต้องการปรับพอร์ตด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันเหมาะกับผู้ที่ต้องการหาผลตอบแทนสูงในช่วงอายุน้อย รักษาผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงกลาง และรักษาเงินต้นในช่วงก่อนเกษียณ
เพื่อลดความผิดพลาดจากการเลือกแผนลงทุน การจัดพอร์ตลงทุนแบบสมดุลตามอายุเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณได้บรรลุเป้าหมายตามที่วางเอาไว้
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด