วางแผนประกันสำหรับลูก

วัยเด็ก เป็นช่วงวัยซุกซนเพราะต้องการเรียนรู้ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้งโดยไม่คาดคิดหรือเจ็บป่วยได้ง่าย ทำให้หลายครอบครัวตระหนักถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับช่วงวัยเด็กของลูก จึงได้ทำประกันเพื่อการคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการทำประกันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การคุ้มครองต่อ การสูญเสียชีวิตเท่านั้น ยังเป็นการวางแผนทางการเงินสำหรับชีวิตลูกได้เช่นกัน ซึ่งหลายครอบครัวได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของลูก ทั้งนี้การวางแผนเรื่องเงินควรทำอย่างรอบคอบ เพราะแต่ละช่วงวัยจะมีความจำเป็นในเรื่องค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน

การทำประกันชีวิต จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องการวางแผนทางการเงินสำหรับอนาคตของลูกได้อีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างวินัยในการออมที่ดีแล้ว ยังช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ว่าอนาคตของลูกจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งในเรื่องสุขภาพ ทุนการศึกษา รวมทั้งมีเงินใช้ยามฉุกเฉินอีกด้วย

ยิ่งในปัจจุบัน รูปแบบการทำประกันชีวิตมีความหลากหลาย พ่อแม่สามารถเลือกแบบประกันให้ตรงกับความต้องการ เช่น ทำประกันเพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หรือทำประกันเพื่อความคุ้มครองด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล เป็นต้น

สำหรับวิธีการวางแผนประกันชีวิตก็ไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นง่าย ๆ จากการตอบคำถามเกี่ยวกับผู้ถือกรมธรรม์กับผู้รับผลประโยชน์ให้ได้เสียก่อนว่าประกันแบบไหน ใครควรเป็นผู้รับความคุ้มครอง หรือผลประโยชน์ เนื่องจากจะมีผลต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

ข้อแนะนำก่อนทำประกัน

1.ศึกษาข้อเปรียบเทียบเรื่องการทำประกันจากหลาย ๆ บริษัท เพื่อดูข้อดีข้อเสีย โดยสอบถามจากบริษัทตัวแทนประกัน

2.สอบถามจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เคยทำประกันไปแล้วว่าประกันของบริษัทไหนที่ดีกับเด็ก รับฟังทั้งข้อดีข้อเสีย นำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อประกัน

3.ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่รวบรวมความเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับการทำประกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เขียนอาจเป็นบริษัทประกันมาเขียนเชียร์เอง จึงควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ ด้าน

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย


โดยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่พ่อแม่ทำให้ลูกเพื่อมุ่งหวังว่าในอนาคต เช่น อีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดอายุสัญญา ลูกจะได้รับเงินก้อนเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป หรือเป็นทุนสำหรับการเริ่มต้นวัยทำงาน หากมีการระบุชื่อผู้ถือกรมธรรม์เป็นชื่อลูก แม้ว่าพ่อแม่จะเป็นคนจ่ายเบี้ยประกันทุกปีก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาที่พ่อแม่จ่ายเบี้ยประกัน จะไม่สามารถนำเบี้ยที่ชำระในแต่ละปีมาหักลดหย่อนภาษีได้

ในขณะที่บางครอบครัวที่จะทำประกันชีวิตเป็นชื่อของพ่อหรือแม่ เนื่องจากมองว่าลูกยังเล็กเกินไปและเงินที่สะสมเอาไว้ เมื่อครบกำหนดได้เงินคืนทั้งก้อนแล้วก็ตั้งใจจะยกให้ลูก และหากพ่อแม่เป็นอะไรไปในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญา ลูกก็ยังคงเป็นผู้รับผลประโยชน์อยู่ด้วย การทำประกันในลักษณะนี้ในช่วงที่พ่อแม่จ่ายเบี้ยประกัน สามารถนำค่าเบี้ยประกันที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ขั้นตอนต่อมา คือ การสร้างเงินกองทุนประกันชีวิต ควรย้อนกลับไปดูรายได้ของครอบครัว และจัดสรรเงินรายรับบางส่วน เช่น 10 - 15% สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปี แต่หากความคุ้มครองที่ได้รับยังน้อยเกินไปและต้องการจะซื้อเพิ่มก็ควรพิจารณากำลังทรัพย์ที่มีและความสามารถที่จะหารายได้ตลอดอายุสัญญาประกันที่ซื้อด้วย

ข้อดีของแบบประกันแบบสะสมทรัพย์ ที่ให้รับผลประโยชน์เมื่อครบสัญญาของกรมธรรม์ เป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันไม่แพง เพราะรับเงินก้อนครั้งเดียว เหมือนฝากเงินได้ดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก


อย่างไรก็ตาม หากมองว่ากว่าจะครบกำหนด เช่น 20 ปี เป็นระยะเวลายาวนานเกินไป จึงตั้งใจทำประกันออมทรัพย์ไว้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย แทนที่จะเลือกแบบรับเงินก้อนตอนที่ครบสัญญาอย่างเดียว ก็สามารถทำแบบที่มีเงินคืนระหว่างปี เพื่อนำเงินนั้นมาจ่ายเป็นค่าเทอมก็ได้


โดยสามารถแบ่งระยะเวลาของสัญญาประกันภัยออกเป็น 2 ช่วง ด้วยการซื้อกรมธรรม์ 2 ฉบับ เช่น ฉบับแรก เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปี วางแผนไว้ว่าเมื่อครบสัญญา ลูกเรียนจบชั้นประถมก็จะมีเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนระดับมัธยม และอีก 1 กรมธรรม์ที่มีอายุ 15 ปี เพื่อที่เมื่อลูกเรียนจบระดับมัธยม จะได้ใช้เงินสำหรับการเรียนระดับปริญญาตรีต่อไป


นอกจากกรมธรรม์ฉบับหลักแล้ว อาจทำสัญญาเพิ่มเติม เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือประกันอุบัติเหตุ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด โดยก่อนตัดสินใจทำสัญญาเพิ่มเติมควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองว่าผูกกับกรมธรรม์หลักฉบับไหนแล้วได้รับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขดีที่สุด ก็ให้เลือกทำสัญญาเพิ่มเติมกับกรมธรรม์หลักฉบับนั้น


ข้อดีของการทำประกันในช่วงวัยเด็ก

1.มีเงินออมเพื่อการศึกษาในอนาคต

2.มีความคุ้มครองเรื่องของอุบัติเหตุและสุขภาพ

3.มีความคุ้มครองด้านรายได้ของพ่อแม่ หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย


ประกันที่เหมาะในช่วงวัยเด็ก

1.ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

เหมาะกับผู้ที่ต้องการออมทรัพย์และการคุ้มครองชีวิตไปพร้อม ๆ กัน แม้ตัวเด็กจะไม่สามารถทำประกันได้ด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่สามารถทำให้ได้ ยิ่งเริ่มต้นทำเร็วมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นผลดี เพราะสามารถเก็บเงินสะสมไว้ให้ลูกได้ในอนาคต

2.ประกันอุบัติเหตุ

การทำประกันอุบัติเหตุจะช่วยคุ้มครองลูกหรือผู้เอาประกัน ทั้งในกรณีบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ สิ่งที่พ่อแม่ควรพิจารณา คือ ทุนประกันและวงเงินค่ารักษากรณีเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายต่อปี และความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกจากความคุ้มครองหลักว่ามีความจำเป็นหรือไม่

3.ประกันสุขภาพ สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ

การทำประกันสุขภาพไว้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ในกรณีที่ลูกต้องเข้ารับการรักษา โดยเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพได้ เช่น ความคุ้มครองค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล โดยพิจารณาโรงพยาบาลเครือข่ายที่รับประกัน ว่ามีโรงพยาบาลอะไรบ้าง และโรงพยาบาลที่ลูกอาจจะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่ในเครือข่ายหรือไม่ ดูว่าต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนหรือเคลมได้เลย ควบคู่ไปกับข้อตกลง เงื่อนไข และราคาเบี้ยประกัน

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย


สิ่งสำคัญ คือ ทำประกันสุขภาพสำหรับลูก ต้องระบุชื่อผู้รับประกันด้วยชื่อของลูกเท่านั้น เพราะลูก คือ ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ ซึ่งหากพ่อแม่เป็นข้าราชการหรือเป็นพนักงานบริษัทที่มีสวัสดิการเผื่อแผ่ค่ารักษาพยาบาลไปถึงลูกก็ยิ่งดี เพราะแทนที่จะต้องจ่ายเงินซื้อประกันสุขภาพทั้ง 100% ก็สามารถเลือกทำประกันเฉพาะส่วนที่เกินจากสวัสดิการได้

สำหรับครอบครัวที่ไม่มีสวัสดิการ การประกันสุขภาพสำหรับลูกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยอาจเลือกทำประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือป่วยหนักก็ตาม แต่แบบประกันสุขภาพสำหรับเด็กจะมีค่าเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูง

หากอยากประหยัดค่าเบี้ยประกัน สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยเล็กน้อยเองได้ ก็สามารถเลือกทำประกันเพิ่มเติมเฉพาะในส่วนของค่าห้องพักโรงพยาบาลเท่านั้นก็ได้ โดยสำรวจค่าห้องจากโรงพยาบาลใกล้บ้านว่าอยู่ในอัตราเท่าไร แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันค่าห้องเต็มจำนวนทั้งหมด เพราะประกันสุขภาพเป็นประกันแบบปีต่อปี การเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบนี้ จึงอาจเลือกแค่ 80% ของเงินค่าห้องเพื่อให้ค่าใช้จ่ายที่เหลือไม่มากนักอยู่ในกำลังที่จ่ายได้ และหากในปีนั้นไม่มีการเจ็บป่วย เมื่อต้องต่อประกันในปีถัดไปจะได้ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จ่ายไปมากนัก


ข้อควรรู้สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง

การทำประกันของเด็กสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะเลือกทำทันทีก็ได้เพราะถ้ารอแล้วเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคบางอย่างขึ้นมา การทำประกันจะไม่คุ้มครองซึ่งจะทำให้เสียโอกาส หรือเลือกที่จะรอทำในช่วงอายุที่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าสะดวกและเหมาะสม อาจรอจนอายุ 1 ขวบขึ้นไป หรือรอให้บุตรหลานเข้าเรียนเนอสเซอร์รี่ก่อนก็ทำได้

โดยเบี้ยประกันสุขภาพจะแบ่งเป็นช่วงอายุ เช่น เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี และเด็กโตตั้งแต่อายุ 6 - 15 ปี โดยในช่วงแรกของอายุหรือที่เรียกว่าเด็กเล็กค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะแพงกว่าเด็กโต เพราะความเสี่ยงของเด็กเล็กมีมากกว่า ร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสป่วยมากกว่าเด็กโต

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย


ถึงแม้ว่าจะไม่มีสูตรตายตัวสำหรับการวางแผนทำประกันชีวิตสำหรับลูก แต่พ่อแม่ควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดแบบประกันชีวิตประเภทต่าง ๆ รวมถึงนำแบบประกันจากหลายบริษัทมาเปรียบเทียบข้อมูล ยึดหลักความพึงพอใจเป็นที่ตั้ง บวก ลบ คูณ หารด้วยเงินในกระเป๋า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นแบบประกันที่ไม่สร้างภาระทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รับรองว่าทำประกันให้กับลูกมีประโยชน์แน่นอน