มะเร็งปากมดลูก มะเร็งร้ายอันดับ 1 คร่าชีวิตหญิงไทย

เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก ต้องเป็นฝ่ายตั้งท้อง อุ้มท้องลูกน้อยถึงเก้าเดือน ซ้ำร้ายอวัยวะที่ใช้ในการสืบทอดเผ่าพันธุ์และเลี้ยงดูลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นปากมดลูก รังไข่ รวมทั้งเต้านมยังเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็ง โรคร้ายที่สร้างความเจ็บปวดและคร่าชีวิตผู้คนมากมาย คุณผู้หญิงอาจพอทราบมาบ้างว่ามะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยคือมะเร็งเต้านม แต่ทราบหรือไม่ว่ามะเร็งที่พรากชีวิตหญิงไทยมากที่สุดคือ “มะเร็งปากมดลูก” ทุกปีมีผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 53,000 รายทั่วโลก ซึ่ง 85% มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นบ้านเรา วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับมะเร็งปากมดลูกตัวร้ายว่ามีสาเหตุจากอะไร มีจุดสังเกตอาหารเบื้องต้นอย่างไร ถ้าเป็นแล้วมีวิธีการรักษาด้วยวิธีใด โอกาสหายมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดวิธีป้องกัน ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกต้องทำอย่างไร


ปากมดลูกคืออะไร อยู่ตรงไหน

ปากมดลูก (cervix) คือ ส่วนหนึ่งของตัวมดลูก (uterus) ที่ยื่นเข้ามาในช่องคลอด (vagina) ปากมดลูกมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร โดย ปากมดลูก (cervix) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ปากมดลูกด้านนอก (Ectocervix) คือ ส่วนนอก จะมีผิวเรียบสีขาวปนชมพูบุด้วยเซลล์ชนิดแบน เป็นแผ่น (Squamous) 2. ปากมดลูกด้านใน ( Endocervix) คือ จะเป็นรูอยู่ตรงกลาง บุด้วยเนื้อเยื่อสีแดงปนชมพู คล้ายกำมะหยี่ คลุมด้วยเซลล์รูปร่างเป็นแท่ง สี่เหลี่ยมผืนผ้า (Columnar cell) ซึ่งสามารถหลั่งน้ำเมือก (mucous) ได้ บริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่าง ปากมดลูกด้านนอกและปากมดลูกด้านใน เรียกว่า ทรานซิชัน (Transition Zone) เป็นบริเวณที่มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

สำหรับต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกนั้น มีตั้งแต่สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ แต่รู้ไหมว่าตัวการหลักของมะเร็งปากมดลูกนั้นก็คือ เชื้อไวรัส เอชพีวี (Human Papilloma Virus) เชื้อ HPV สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัส ช่องทางหลักคือเพศสัมพันธ์ เมื่อได้รับเชื้อ HPV จะอยู่ในร่างกายและมีเวลาดำเนินโรคประมาณ 10-15 ปี โดยจะแสดงอาการชัดเจนเมื่ออายุ 30-60 ปี ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ก็เกิดเป็นมะเร็งร้ายที่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แก่

  • อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยต่ำกว่า 18 ปี
  • มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
  • สูบบุหรี่
  • คลอดบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
  • ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์
  • ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหาร่องรอยโรคในระยะก่อนมะเร็ง ซึ่งในระยะเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป็ปสเมียร์ (Pep Smear) หากตรวจพบร่องรอยโรคในระยะนี้ก็สามารถรักษาและป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้


อาการที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งปากมดลูก

ในระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่เมื่อโรคมีความรุนแรนมากขึ้นจะพบอาการดังต่อไปนี้

  1. เลือดออกทางช่องคลอด ทั้งเพียงเล็กน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
  2. เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  3. ประจำเดือนมามาก หรือนานกว่าปกติ
  4. เบื่ออาหาร ,น้ำหนักลด
  5. มีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาว ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน แม้มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม
  6. ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (พบในกรณีมีการลุกลามไปกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)
  7. เลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว (วัยทอง)
  8. ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
  9. ในรายที่โรคมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้
  10. ขาบวม  ซึ่งหมายถึงมะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว

ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องไปพบสูตินรีแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูง

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว?

สามารถทราบได้โดยการตรวจคัดกรอง ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่


การตรวจด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ (Pap smear)
เป็น การเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก และช่องคลอดด้านใน ป้ายลงบนแผ่นสไลดแก้ว แล้วนำแผ่นสไลด์ส่งไปย้อมสีด้วยวิธีการเฉพาะ แล้วให้พยาธิแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญตรวจหา เซลล์ที่ผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด

การตรวจด้วยกล้องโคลโปสโคป (colposcope) เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและส่องดูรายละเอียดรอยโรค ของปากมดลูก เพื่อการ วินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องชัดเจนกว่า


การตรวจด้วยวิธีลิควิด- เบส ไซโตโลจี้ (Liquidbased Cytology)
เป็นวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้ อุปกรณ์เฉพาะในการเก็บตัวอย่าง ป้ายเยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกด้วยวิธีเดียวกับการแป๊ปสเมียร์ และนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยา เพื่อรักษาเซลล์ส่งเข้าเครื่องอัตโนมัติในการเตรียมเซลล์เยื่อบุผิวเพื่อทำการตรวจต่อไป


การตรวจหาเอชพีวี-ดีเอ็นเอ (HPV-DNA)
เป็นการ ตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง วิธีนี้จะมีความไวของการตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูกสูงมาก แต่ยังคงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับการตรวจโดยวิธีอื่น


ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก?

สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรรับการตรวจอย่าง น้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรรับการตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป โดยควรไปตรวจหลังจากประจำเดือนหมดสนิทหรือก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การเหน็บยาในช่องคลอด หรือการสวนล้างช่องคลอด ประมาณ 2 วันก่อนไปตรวจ ในสตรีวัยหมดประจำเดือน (สตรีวัยทอง) หรือ สตรีที่ฉีดยาคุมกำเนิดซึ่งจะไม่มีประจำเดือน สามารถมารับการตรวจภายในได้ทุกเวลา

มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ?

มี 4 ระยะได้แก่

  • ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งยังอยู่บริเวณผิวส่วนบนของปากมดลูก
  • ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่บริเวณปากมดลูกและเริ่มมีการลุกลาม
  • ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปในช่องคลอด แต่ยังไม่ถึง 1/3 ของช่องคลอด
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไป 1/3 ของส่วนล่างของช่องคลอดหรือลุกลามไปถึงกระดูกเชิงกรานหรือไปกดทับท่อไต ทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะ
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลามออกจากส่วนอวัยวะเพศ หรือผ่านกระดูกเชิงกราน ลามเข้าไปลำไส้และกระเพาะปัสสาวะโดยตรง หรือลามไปบริเวณอื่นๆ ที่ไกลออกไป


ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วมีวิธีการักษาอย่างไร?

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ การรักษาโรคนี้ขึ้นกับระยะของโรคดังที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะต้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัดซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมาก หากเป็นมะเร็งระยะกลาง การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาดีพอสมควร หากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยเท่านั้น


สำหรับผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการรักษาแบบใด โดยทั่วไปหากรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยมักจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ในขณะผ่าตัด เช่น เสียเลือดมาก หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ เช่น แผลติดเชื้อ เป็นต้น แต่หากเป็นการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีรักษาส่วนใหญ่ผลข้างเคียงมักจะเกิดในช่วงหลังรักษา 2-3 ปีขึ้นไป อาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปจะเกิดผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อาจมีผมร่วงในการใช้ยาบางชนิด อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษาแพทย์จะแจ้งผลข้างเคียงของการรักษาให้ทราบก่อน


วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองจากมะเร็งปากมดลูก

วิธีการที่ดีที่สุดคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และอีกวิธีคือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันการติด เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน  ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ควร ได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 – 26 ปี


มะเร็งร้ายไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกถึง 13% เราจึงต้องรักษาสุขภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อจะได้รักษาได้ทันก่อนที่โรคจะลุกลาม แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าเราจะดูแลตัวเองดีที่สุดแล้ว แต่โอกาสจะเป็นมะเร็งหรือโรคร้ายอื่นๆ ก็มีสิทธิเกิดขึ้นกับเราได้เสมอเช่นกัน การทำ ประกันโรคร้ายแรง จึงเป็นอีกตัวช่วยให้เราคลายกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายถ้าเราเกิดโชคร้ายเป็นมะเร็งขึ้นมาจริงๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงและยังต้องใช้เวลารักษานาน บางคนอาจถึงขั้นต้องออกจากงานสูญเสียรายได้ก็มี SCB Multi Care Multi Claim เป็นทางเลือกที่ใช่สำหรับคนที่ต้องการหลักประกันด้านสุขภาพแต่ไม่อยากจ่ายเบี้ยทิ้งไปเปล่า เพราะคืนเบี้ยประกันทั้งหมดถ้าไม่เป็นโรคร้าย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-


อ้างอิง

https://www.phyathai.com/article_detail.php?id=1944