กองทุนรวมคืออะไร? พร้อม 7 เช็กลิสต์ควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน

ในปัจจุบันนี้การลงทุนผ่านกองทุนรวม เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารการลงทุนให้ มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้เราสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ง่ายและดีขึ้น ใช้เงินลงทุนน้อย เพียงหลักพันก็ทำให้คุณสามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ การลงทุนในกองทุนรวมบางประเภททำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  นอกจากนี้ การลงทุนผ่านกองทุนรวมยังอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นองค์กรของภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนอยู่ภายใต้กรอบการทำงานที่ถูกต้องและช่วยปกป้องผลประโยชน์สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนอีกด้วย


เมื่อคิดจะลงทุนในกองทุนรวม สิ่งสำคัญที่สุดก่อนการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม คือ การทำความเข้าใจว่ากองทุนรวมคืออะไร ก่อนที่เราจะลงทุนให้ดีเสียก่อน โดยเราสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนรวมได้จาก “Fund Fact Sheet” หรือ “หนังสือชี้ชวน” ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของแต่ละกองทุนรวมจัดทำขึ้น 

โดยที่ Fund Fact Sheet ของกองทุนรวม คือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ หนังสือที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ลักษณะผลตอบแทน ความเสี่ยง และเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุนรวม ซึ่งเป็นข้อมูลโดยย่อเพื่อให้ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน แต่ถ้าต้องการศึกษาข้อมูลลงในรายละเอียดของกองทุนรวมมากขึ้น สามารถศึกษาได้ที่หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนแบบฉบับเต็ม ซึ่งนักลงทุนสามารถขอได้จากตัวแทนขายหน่วยลงทุน หรือสามารถเข้าไป Download เอกสารโดยตรงบนเว็บไซต์ของ บลจ. แต่ละแห่งได้

 

นักลงทุนควรทำความเข้าใจใน 7 เรื่องหลักๆ ที่แสดงอยู่ใน Fund Fact Sheet ดังนี้


1. คุณกำลังจะลงทุนในอะไร เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจว่ากองทุนนี้คือกองทุนอะไร ประเภทใด มีนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์การบริหารกองทุนเป็นแบบใด ทำให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลของการลงทุนได้ง่ายขึ้น


2. กองทุนนี้เหมาะกับใคร ข้อมูลในส่วนนี้จะบอกว่ากองทุนรวมนี้ คือกองทุนที่  “เหมาะกับใคร” และ “ไม่เหมาะกับใคร” เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ากองทุนรวมนี้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่


3. คุณต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ เป็นการบอกถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากการลงทุน และระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม (กองทุนรวมทุกประเภทจะระบุระดับความเสี่ยงไว้เป็นสเกลตั้งแต่ 1 ถึง 8 โดยที่ความเสี่ยงระดับ 1 มีความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงระดับ 8 มีความเสี่ยงสูง)  เพื่อให้รู้ว่ามีความเสี่ยงใดบ้างที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง และการลงทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนหรือไม่ โดยให้เปรียบเทียบระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนจากการทำแบบประเมินความเสี่ยง เช่น หากระดับความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนอยู่ที่ระดับ 5 การลงทุนในกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงของกองทุนมากกว่า 5 ขึ้นไปแปลว่า นักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินกว่าความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง


4. สัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุน เป็นการแสดงรายละเอียดของกองทุนรวมนั้นๆ ว่าลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง และมีสัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์อยู่ร้อยละเท่าไร หากเป็นการลงทุนในหุ้น จะบอกลักษณะหุ้นที่เลือกลงทุน รวมถึงการให้รายละเอียดหุ้นที่ลงทุน 5 อันดับแรก

5. ค่าธรรมเนียม เป็นการบอกค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการบริหารกองทุน ซึ่งทำให้เราสามารถเปรียบเทียบกับผลตอบแทนคาดหวังที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนในกองทุนรวมนี้ และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ต่าง บลจ. กันว่า มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนถูกแพงต่างกันอย่างไร เป็นต้น ซึ่งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมแบ่งเป็น 2  ประเภท คือ

  1. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง เป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการส่งคำสั่งเพื่อทำรายการต่างๆ ของผู้ลงทุนแต่ละราย เช่น ค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุน (Front-end-fee) ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้จะถูกบวกเข้าไปกับมูลค่าหน่วยลงทุนเมื่อซื้อหน่วยลงทุน และ ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end-fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อคุณขายหน่วยลงทุนคืนให้ บลจ. โดยคุณจะถูกหักจากเงินที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน

  2. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม หรือที่เรียกว่า Total Expense Ratio จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นภาระทางอ้อมที่ผู้ลงทุนต้องแบกรับอยู่ด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ บลจ. เรียกเก็บจากการบริหารเงินลงทุนของกองทุนให้คุณ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเรียกเก็บจากกองทุนรวม นอกจากนี้ ยังอาจมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกเช่น ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่านายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น


6. ผลการดำเนินงาน
เป็นส่วนที่แสดงผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ผ่านมาของกองทุนรวมเทียบกับดัชนีชี้วัด ซึ่งจะแสดงในรูปผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน, 6 เดือน  1 ปี, 3 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ทั้งนี้ในการเปรียบเทียบกองทุนรวมว่ากองทุนรวมกองไหนมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาดีกว่า ต้องเทียบกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกัน และช่วงเวลาเดียวกัน โดยใน Fund Fact Sheet จะบอกวันที่คำนวณผลตอบแทนย้อนหลังเอาไว้ และอย่าลืมว่าผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

7. ข้อมูลอื่นๆ รายการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการลงทุนที่ควรรู้ เช่น นโยบายการจ่ายเงินปันผล การทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน รายชื่อผู้จัดการกองทุน และข้อมูลเพื่อติดต่อสอบถาม เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่จะทำความเข้าใจอีกต่อไป เพราะนักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY ได้ทันที อยากลงทุนในกองทุนรวมไหนก็เพียงค้นหาจากชื่อย่อกองทุน ชื่อเต็ม หรือ ชื่อย่อ บลจ. และกดเข้าไปอ่านรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ได้ทันทีแบบง่ายดาย (EASY DATA ACCESS) ซึ่งระบบจะแสดงผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมให้ดูง่ายๆ ในรูปแบบกราฟ รวมถึงสามารถดูนโยบายการลงทุน ระดับความเสี่ยง และข้อมูลการซื้อขายของแต่ละกองทุนเพื่่อช่วยประกอบการตัดสินใจได้เลย หากสนใจกองทุนไหนเป็นพิเศษ และยังอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถซื้อขายได้ ก็สามารถเลือกทำรายการซื้อหรือขายผ่านแอป SCB EASY  ได้ทันที

ส่วนใครที่อ่านรายละเอียดแล้วยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมไหนดี ก็สามารถเข้าไปที่ เมนู WHEALTH4U  เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ และ AI แนะนำกองทุนให้ได้ ซึ่งจะมีทั้งกองทุนคัดสรรเพื่อนักลงทุนแต่ละคนโดยเฉพาะ กองทุนติดเทรนด์ กองทุน บลจ.อื่น กองทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน เป็นต้น หากตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกกองทุนไหน ก็มีฟังก์ชันช่วยเปรียบเทียบกองทุนที่สนใจให้เห็นแบบชัด ๆ ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 


หวังว่านักลงทุนจะหันมาให้ความสำคัญกับการอ่านและศึกษาข้อมูลใน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมให้มากขึ้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนเอง ส่วนใครที่อยากได้ตัวช่วยดี ๆ อย่าง WEALTH4U บนแอป SCB EASY สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ /th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/wealth-for-you-info.html  เพื่อเปิดกว้างโลกการลงทุนให้เป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว


บทความโดย  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร