ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
20-01-2568
วันที่ 23 มกราคม 2568 จะนับเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยที่กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มีผลบังคับใช้ เพราะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคู่รักทุกเพศจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ไม่ว่าจะเป็นที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง
ในวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ เรื่องสำคัญที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจก็จะเป็นเรื่องของสิทธิในการจดทะเบียนสมรสที่จะมีผลให้ไม่ว่าจะเป็นเพศใดๆ ก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้เมื่อทั้งสองฝ่ายมีอายุครบ 18 ปี และเมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้วก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สำหรับคู่สมรส เช่น หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูกันของคู่สมรส การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส สิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู หน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์หากคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ สิทธิในการได้รับค่าทดแทนจากชู้ ฯลฯ ซึ่งท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ สมรสเท่าเทียม" LGBTQIA+ ได้รับสิทธิอะไรบ้าง”
ในบทความนี้ผมอยากจะมาแชร์ข้อคิดก่อนและหลังจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านพิจารณาในมุมของการวางแผนเพื่อการส่งต่อทรัพย์สิน หรือ Succession Planning อย่างราบรื่น
หากท่านอยู่ในครอบครัวที่มีธุรกิจครอบครัว (กงสี) และท่านอาจจะต้องถือครองทรัพย์สินของกิจการครอบครัวไม่ว่าจะเพื่อใช้ในการประกอบกิจการครอบครัวหรือถือครองแทนสมาชิกในครอบครัวท่านอื่นๆ ท่านอาจจะพิจารณาทำสัญญาก่อนสมรสเพื่อที่จะให้ทรัพย์สินของกิจการครอบครัวยังคงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของครอบครัวท่าน
สำหรับทรัพย์สินใดที่เป็นของท่านเองที่มีมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสซึ่งถือว่าเป็นสินส่วนตัวของท่านแต่ท่านอยากให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส ท่านก็สามารถระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสได้เช่นเดียวกัน
ผลของการไม่ทำสัญญาก่อนสมรส ทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนจดทะเบียนสมรสจะถือว่าเป็นสินส่วนตัว ส่วนทรัพย์สินใดที่ได้มาในระหว่างสมรสก็จะตกเป็นสินสมรสรวมทั้งดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า เงินปันผล ก็จะถือว่าเป็นสินสมรสเช่นเดียวกัน จะมีข้อยกเว้นบางกรณีสำหรับทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากจดทะเบียนสมรสจะไม่ถือว่าเป็นสินสมรส เช่น การได้รับมรดก การได้รับโดยการให้โดยเสน่หา
เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่รักของท่านก็จะเปลี่ยนสถานะจากไม่เป็นทางการเป็นทางการที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะคู่สมรสและทายาทโดยธรรม
สำหรับการเป็นทายาทโดยธรรมก็จะมีสิทธิที่จะได้รับมรดกของท่านร่วมกับทายาทโดยธรรมลำดับอื่นๆ หากท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้นท่านก็อาจจะพิจารณาทำพินัยกรรมเพื่อให้การส่งต่อมรดกของท่านเป็นไปตามที่ท่านต้องการ
ในเรื่องของการวางแผนเพื่อส่งต่อทรัพย์สินของท่านให้กับคู่สมรสที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องภาษีจะแบ่งได้ 2 ช่วงเวลาดังนี้
2.1 ส่งต่อทรัพย์สินในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
หากเป็นการส่งต่อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ผู้รับที่เป็นคู่สมรสก็จะไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับให้ ถ้าหากเกิน 20 ล้านบาทต่อปี ผู้รับก็จะเสียภาษีการรับให้ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทในอัตรา 5%
2.2 ส่งต่อมรดกในวันที่เสียชีวิตไปแล้ว
กฎหมายจะยกเว้นภาษีการรับมรดกให้สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส ดังนั้นหากท่านต้องการส่งต่อมรดกให้แก่คู่สมรสไม่ว่าจะในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรม ไม่ว่าจะส่งต่อในมูลค่าที่สูงเพียงใดคู่สมรสของท่านก็จะไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีการรับมรดก ซึ่งจะแตกต่างกับคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสซึ่งจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเฉพาะสำหรับทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกสำหรับส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทในอัตรา 10%
เพื่อให้การวางแผนในการส่งต่อทรัพย์สินเป็นไปอย่างราบรื่น การจัดทำ List of Assets ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งท่านสามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่บทความ “การจัดทำบัญชีทรัพย์สิน กุญแจสู่การวางแผนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ผ่าน Family Office”
บทความโดย : ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office
ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล familyofficeteam@scb.co.th หรือที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน