สมรสเท่าเทียม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิอะไรบ้าง

ในเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month ในปี 2567 นี้ถือได้ว่าเป็นปีประวัติศาสตร์สำหรับหลายๆ ท่านที่รอข่าวดีมาเนิ่นนานกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาวุฒิสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือที่เราเรียกกันว่า “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” หลังจากนี้ก็จะเป็นกระบวนการที่ทางรัฐสภาจะส่งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปยังนายกรัฐมนตรี หากไม่มีประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญทางนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน


หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาล โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้สรุปได้ดังนี้

  • การหมั้น หรือ การจดทะเบียนสมรส จะไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องระหว่างเพศชายหรือหญิงอีกต่อไป โดยมีการปรับใช้คำในกฎหมายให้เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมต่อเพศต่างๆ



  • ของหมั้นนั้นปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่ฝ่ายหญิง สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะกำหนดให้ตกเป็นสิทธิของผู้รับหมั้นแทน สำหรับสินสอดก็จะเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายผู้หมั้นมอบให้แก่พ่อแม่ ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองของฝ่ายผู้รับหมั้น
  • สำหรับอายุขั้นต่ำในเรื่องของการหมั้น/จดทะเบียนสมรส ได้มีการปรับจากอายุ 17 ปี เป็น 18 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ได้กำหนดเอาไว้ว่าเด็กหมายถึงบุคคลทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในเรื่องของการหมั้น/จดทะเบียนสมรสนั้นหากฝ่ายใดยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ฝ่ายนั้นยังคงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม



  • เมื่อไม่ได้จำกัดเพศสภาพ การหมั้นหรือการจดทะเบียนสมรสของคู่รักไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สำหรับทั้งคู่หมั้นและคู่สมรส เช่น สิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหากมีการผิดสัญญาหมั้น หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูกันของคู่สมรส การจัดการสินสมรสร่วมกัน การได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมสำหรับกรณีที่คู่สมรสที่เสียชีวิตไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ การรับบุตรบุญธรรม การหย่าร้าง สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งเป็นชู้กับคู่สมรส การได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกจากทรัพย์มรดกที่ได้รับจากคู่สมรสที่เสียชีวิต ฯลฯ
  • ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีภริยา หรือ คู่สมรส เพื่อรองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องเสนอผลการทบทวนพร้อมทั้งร่างกฎหมายสำหรับกรณีที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้

บทความโดย : ณัชภัค อนันต์อาชญาสิทธิ์ ที่ปรึกษา Wealth Planning and Family Office 

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน