ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เที่ยวได้ไม่เอ๊าท์...ที่เสาชิงช้า
ย่านเสาชิงช้า เป็นอีกหนึ่งเขตเมืองเก่าที่น่าเที่ยวในกทม. นอกจากแลนด์มาร์คที่คุ้นตา อย่างเสาชิงช้า ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ลานคนเมือง วัดสุทัศน์ฯ ย่านเก่าแห่งนี้ยังมีสถานที่สุดชิคที่ผสมผสานกลิ่นอายความคลาสสิกของห้วงเวลาแห่งอดีตในทุกย่างก้าวที่เชิญชวนให้คนทุกวัยได้มาแวะเยือนอย่างไม่รู้เบื่อ เป็นที่ๆ ใครก็เที่ยวได้ไม่เอ๊าท์ ... ที่เสาชิงช้า
ประเดิมเปิดทริปที่ “Pastale” ร้านอาหารโฮมเมด บรรยากาศอบอุ่นที่คุณจะหลงรัก เดินจากหน้ากระทรวงมหาดไทย เลี้ยวขวาไปทางถนนเฟื่องนคร จะเห็นหน้าร้านทาสีขาวสวยเรียบง่าย ผลักประตูไม้ก้าวเข้าไปในร้าน จะพบพื้นที่วางโต๊ะอาหาร เคาน์เตอร์ขนาดกะทัดรัดที่หลายคนมานั่งรอคิวทานอาหารฝรั่งโฮมเมดจากฝีมือของเจ้าของร้านที่บรรจงทำจานต่อจานให้ลูกค้าทุกคนได้อิ่มอร่อยกับมื้อกลางวัน
เปิดดูเมนูก็ต้องร้องว้าว! อาหารแต่ละอย่างน่ากินมากในราคาเป็นมิตร เช่น สปาเก็ตตี้แซลมอนรมควัน ผัดซอสครีมไวน์ขาวและผักชีลาว รสเผ็ดนิดๆ ข้าวหน้าปลาแซลมอนย่างและคาคูนิ ที่เป็นหมูสามชั้นตุ๋นซอสนาน 8 ชั่วโมงจนนุ่ม ย่างไฟบางๆ กับซอสรสเผ็ด ทานกับไข่ลวก Humburg Pork Steak สเต๊กหมูบด ชิ้นหนานุ่ม ย่างกับชีส เสิร์ฟบนวาฟเฟิลอุ่นๆ ฯลฯ การสั่งอาหารร้านนี้ต้องรอตามคิว ซึ่งรสชาติอาหารอร่อยสุดยอดสมการรอคอย แนะนำควรมาประมาณ 11 โมง จะได้ไม่ต้องรอคิวนาน และกันอาหารหมด เพราะวัตถุดิบต่อวันมีจำนวนจำกัด เอ็นจอยกับอาหารมื้อดีๆ แล้วก็ไปเดินเที่ยวกันเลย
พิกัด : https://goo.gl/maps/SYtB19J1cVyv71er6
เดินย้อนกลับไป ผ่านแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า เข้าถนนตะนาว จะเจอร้านข้าวเหนียวมะม่วงในตำนาน “ร้าน ก. พาณิช” เปิดขายมาตั้งแต่พ.ศ. 2475 ด้วยตำรับข้าวเหนียวมะม่วงสูตรดั้งเดิมจากบรรพบุรุษที่เป็นช่างเครื่องในวัง โดยมีเคล็ดลับอยู่ที่การใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากเชียงรายและส่วนผสมในการมูลข้าวเหนียวตามสูตรโบราณ ความอร่อยได้รับการันตีจากหลายสถาบัน ทั้งเชลล์ชวนชิม Users’ Choice 2019 by Wongnai Michelin 2019 ผ่านมาถ้าไม่กินที่ร้าน ก็สามารถซื้อแบบเป็นถุงกลับไปกินที่บ้านได้
เดินข้ามฝั่ง เข้าไปตามถนนแพร่งภูธร ลัดเลาะไปตามตึกแถวสีเหลืองทรงคลาสลิกจนถึงร้าน “ณัฐพรไอศกรีม” ที่อยู่เยื้องสถานีอนามัย (สุขุมาลอนามัย) มาลองชิมไอศกรีมโบราณทรงเครื่อง เจ้าเก่าแก่กว่า 70 ปีแห่งแพร่งภูธร มีไอศกรีมไทยหลากหลายรสชาติ เช่นกะทิอร่อยหวานมัน ชาเขียวมัทฉะรสเข้มข้น ช็อกโกแลต ชาไทย กาแฟ ทุเรียน มะม่วงมหาชนก ฯลฯ โรยหน้าเครื่องอย่างจุใจ อยากกินไอศกรีมโฮมเมดอร่อยแบบดั้งเดิม อย่าพลาดแวะมาที่นี่
พิกัด : https://goo.gl/maps/bweUwiUk7FFPFb7y6
เดินลัดเลาะไปตามถนนแพร่งภูธร ออกทางถนนอัษฎางค์ที่ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารกระทรวงกลาโหม เลี้ยวขวาเข้าถนนแพร่งนรา ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของ “วังวรวรรณ” ที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้ โดยทางฝั่งซ้ายจะยังคงเห็นส่วนหนึ่งของวังวรวรรณ คือพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ตัวอาคารทั้งอาคารตึกและอาคารไม้สูง 2 ชั้น สร้างต่อเนื่องกัน การตกแต่งส่วนใหญ่เป็นไม้ฉลุ มีลวดลายสวยงามอ่อนหวาน ส่วนที่สร้างเป็นพิเศษคือ ห้องชั้นลอยซึ่งต่อด้วยไม้ขนาดย่อม มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นสร้างด้วยเหล็กหล่อ เดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ซึ่งต่อมากลายเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ที่ได้ปิดทำการไปแล้ว
พิกัด : https://goo.gl/maps/3kdw3DjoebQyhKqr9
เดินต่อไปจนสุดถนนแพร่งนรา ตัดกับถนนตะนาว ตรงหัวมุมจะพบร้านลูกชิ้นแพร่งนรา ขายลูกชิ้นหมูเจ้าดัง เนื้อแน่น เด้ง อร่อย ราดน้ำจิ้มรสจัดจ้าน หวานเจือเผ็ดน้อย ปิ้งร้อนๆ สุกกำลังดี ราคาไม้ละ 8 บาทเท่านั้น
พิกัด : https://goo.gl/maps/KBFrpobsjVnzesB99
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว ใครที่อยากลองชิมรสบัวลอยไข่เค็ม บัวลอยไข่หวาน ชวนให้แวะร้านบัวลอยเกตุแก้ว เจ้าดังแห่งแพร่งนรา ด้านหน้าร้าน เราจะเห็นความน่ากินของบัวลอยสีสันสดใสที่ต้มอยู่ในหม้อทองเหลือง และเครื่องต่างๆ เรียงรายในโถจานแก้ว เข้าไปด้านในร้าน จะเห็นการผลิตเม็ดบัวลอยสดใหม่ และมีมุมเล็กๆ ให้นั่งทานที่ร้าน บัวลอยไข่หวาน อร่อยด้วยเม็ดบัวลอยสีสวยเคี้ยวหนึบเต็มคำ น้ำกะทิกลมกล่อมหวานมัน ใส่เครื่องแบบจัดเต็ม ทั้งมะพร้าวอ่อน เผือก ข้าวโพด ฟักทอง ทานอร่อยอิ่มแล้ว จะซื้อไปฝากคนที่บ้าน เขาก็จะจัดให้เป็นชุดแยกให้ และสามารถใช้แอป SCB EASY สแกน QR Code แม่มณี จ่ายได้เลย สะดวกจริงๆ
เดินต่อมาอีกนิด จะพบซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ซึ่งภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนหมด เหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่สวยงามให้เห็นในปัจจุบัน
พิกัด : https://goo.gl/maps/vFhbVr6pmNPAXZPD7
จากซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ศุภกิจ เดินข้ามถนน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนาวา เดินไปเรื่อยๆ จะต้องสะดุดตากับบ้านไม้ 2 ชั้นทรงไทยร่วมสมัย กำแพงรั้วเป็นลายไม้ฉลุงดงาม เงยหน้ามองด้านบนบานประตูไม้ที่เปิดต้อนรับผู้มาเยือน จะเห็นป้ายบอกชื่อ “บ้านขนมปังขิง” บ้านเรือนไทย สไตล์ฝรั่งสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Ginger Bread House สร้างโดยรองอำมาตย์โท ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) ในปีพ.ศ. 2456 เราก็ไม่รอช้า เข้าไปชมความงดงามของบ้านหลังนี้ ซึ่งเจ้าของปัจจุบันที่เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ได้บูรณะ “บ้านขนมปังขิง” และเปิดเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ มีลูกค้ามานั่งทานกาแฟ ขนม และถ่ายรูปกับบรรยากาศภายในบ้านอย่างครึกครื้น คืนความมีชีวิตชีวาให้บ้านเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีแห่งนี้
มุมแนะนำคือที่นั่งตรงชานพักบันไดชั้นสอง ที่ดัดแปลงเป็นที่นั่งแบบเดย์เบดนอนเอกเขนกจิบน้ำชายามบ่าย อีกแห่งคือที่นั่งตรงระเบียงชั้น 2 ที่โปร่งโล่งรับลมเย็น นั่งชิลชมความสวยงามของชายคาบ้านที่งดงามด้วยลายฉลุลวดลายละเอียดอ่อน ถ้าใครอยากนั่งโซนห้องแอร์ ก็มีส่วนห้องติดแอร์ที่ห้องด้านล่างและห้องในสุดของชั้นสอง ทุกรายละเอียดของ “บ้านขนมปังขิง”ทั้งบรรยากาศ ขนมหวานไทย ทำให้เราได้ย้อนเวลากลับสัมผัสเสน่ห์ความเป็นไทยในอดีตได้อย่างน่ารื่นรมย์
พิกัด : https://goo.gl/maps/KTFfJjHKzdQeB6CD9
ออกจากซอยนาวา เข้าถนนดินสอ ก็ถึงเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดนำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาประจำราชสำนัก ในอดีตเคยมีชื่อว่า “ฮินดูสภา” ด้านในมีโบสถ์ 3 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระอิศวร พระพิฆเนศ และพระนารายณ์
นอกจากนี้ยังมีหอเวทวิทยาคมซึ่งเป็นห้องสมุดเก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับวรรณคดี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ทาง
ศาสนาพราหมณ์
โหราศาสตร์
วัฒนธรรมประเพณี และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา และอภิปรายสนทนา ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งใน
ประเทศไทย
เปิดให้ประชาชนเข้าไปค้นคว้าเพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ
ศาสนาฮินดู
อีกด้วย
พิกัด : https://goo.gl/maps/8LGuFjKvPhpeTRUy5
มาถึงแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ “เสาชิงช้า” เสาสีแดงสูงใหญ่ที่อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2327 ตั้งอยู่บนแท่นหินฐานกลม ก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว มีเสาไม้แกนกลางคู่ และเสาตะเกียบ 2 คู่ ทำด้วยไม้สักกลึงกลม เสาชิงช้าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายของศาสนาฮินดู แต่พิธีนี้ได้ยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แล้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็น
โบราณสถาน
สำคัญของชาติ
พิกัด : https://goo.gl/maps/LY6mmvtwwwX1mc9RA
ถัดจากเสาชิงช้า ก็เป็นที่ตั้งของวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดสำคัญคู่กรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และทรงพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม”
พิกัด : https://goo.gl/maps/m2j9DCgvYaPuzuot5
ไม่ไกลจากวัดสุทัศน์ ในตรอกเล็กบนถนนบำรุงเมือง มีตึกทรงโคโลเนียล ชิโน-โปรตุเกส ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบท่ามกลางตึกแถวร้านค้า เงยขึ้นไปมองจะเห็นป้ายพื้นสีฟ้าเข้มตัวอักษรสีทอง มีข้อความว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือที่รู้จักทั่วไปว่า “บ้านหมอหวาน” ซึ่งเป็นร้านขายแผนไทย ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยหมอหวาน รอดม่วง แพทย์แผนไทยที่มีชีวิตอยู่ในสมัย รัชกาลที่ ๕-๘
“บ้านหมอหวาน” เปิดต้อนรับผู้ที่สนใจยาแผนโบราณให้มาเที่ยวชมและอุดหนุนยาตำรับของหมอหวานได้ แม้ประตูรั้วหน้าบ้านจะปิดคล้องกุญแจ แต่ก็สามารถกดกริ่งบอกการมาเยือนได้ ด้านในอาคารได้รับการดูแลอย่างดีโดยทายาทรุ่นที่ 4 ของหมอหวาน มีการจัดแสดงตัวยาสมุนไพรแผนไทยนานาชาติในตู้กระจก รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ปรุงยาของไทยที่หาชมได้ยาก ยาแผนโบราณตำรับหมอหวานที่จำหน่าย ก็อย่างเช่น 4 ตำรับยาหอม “ยาหอมสุรามฤทธิ์” “ยาหอมอินทรโอสถ” “ยาหอมประจักร์” “ยาหอมสว่างภพ” ซึ่งยังคงตำรับและกรรมวิธีผลิตอย่างดั้งเดิมด้วยมือทุกเม็ด แล้วยังมีน้ำมันทาเส้น ขี้ผึ้งทาเส้น แก้ปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก ฯลฯ อีกด้วย
พิกัด : https://goo.gl/maps/BnLZCmY675HA9FPN6
ภาพร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์หลายสิบร้านเรียงรายไปตามถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่แถวประตูสำราญราษฏร์ (ประตูผี) ถนนมหาไชย ไปจนถึงเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ เลยไปถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า หน้ากระทรวงมหาดไทย นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของย่านเสาชิงช้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในอดีตมีลักษณะเป็นร้านคูหาทำด้วยไม้ ต่อมาเมื่อร้านที่ไม้ทรุดโทรม จึงได้รื้อสร้างใหม่เป็นตึก 2 ชั้น มีกำแพงหนา ขอบประตูตอนบนโค้งมน หน้าตาจำลองแบบมาจากตึกแถวที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ ๕
พิกัด : https://goo.gl/maps/ddFRPnfEoC5siUX49
ชุมชนบ้านบาตร กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย
เดินตามถนนบำรุงเมือง วินัย ทันทีที่ลงสะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง ก็ได้ยินเสียงตีบาตรเป็นจังหวะดังมาอย่างชัดเจน เพราะที่นี่คือ “ชุมชนบ้านบาตร” ชุมชนช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำบาตรพระมายาวนานกว่า 250 ปี โดยเป็นบาตรที่ทำตามวิธีดั้งเดิมถูกต้องตามธรรมวินัย คือเป็นบาตรที่มีตะเข็บ เกิดจากการต่อเหล็ก 8 ชิ้น นำมาตีขึ้นรูปด้วยมือ และที่ชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำบาตรของชุมชนบ้านบาตร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้สนใจสามารถมาดูวิธีการทำบาตรด้วยมือในแต่ละขั้นตอนได้อย่างใกล้ชิด
พิกัด : https://goo.gl/maps/aMxcMxH8TWyZkiZ58
ส่งท้ายทริปเดินเที่ยวย่านเสาชิงช้า ด้วยของว่างยามบ่ายแก่ๆ อย่างขนมปังปิ้งราดนมชุ่มๆ สังขยาร้อน เครื่องดื่มนมสดรสเข้มข้นที่ร้าน “มนต์ นมสด” สาขาหน้าศาลาว่าการ กทม. ถนนดินสอ ความอร่อยไม่ต้องสงสัย การันตีด้วยจำนวนลูกค้าที่มาอุดหนุนอย่างเนืองแน่น ปิดทริปนี้อย่างแฮปปี้ ได้มีโอกาสเที่ยวชมอาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่สวยงามทรงคุณค่า อิ่มท้องด้วยอาหาร ขนมอร่อยในบรรยากาศดีๆ ลองมาเป็นนักท่องเที่ยวเดินสำรวจย่านเสาชิงช้าดูสักวัน รับรองต้องติดใจ
พิกัด : https://goo.gl/maps/avbHergnMzhoL2J7A
ขอบคุณข้อมูล : สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว