เตรียมตัวเที่ยวแต่เนิ่นๆ Tokyo Olympics 2020

ใกล้เข้ามาแล้วกับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โอลิมปิกครั้งที่ 32 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “โตเกียว 2020” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าจะจัดขึ้นที่มหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม -   9 สิงหาคม 2020 ซึ่งโอลิมปิกครั้งนี้ ญี่ปุ่นจัดเต็มโดยจะเป็นโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดมากับ 33 ประเภทกีฬา และจำนวนรายการแข่งขันมากถึง 339 รายการ! Main Stadium ในโตเกียวที่จุผู้เข้าชมได้มากถึง 68,000 ที่นั่ง และสถานที่จัดการแข่งขันกระจายไปทั่วประเทศถึง 42 แห่ง และชาวญี่ปุ่นมากกว่า 2 แสนคนสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อให้การตอนรับและให้ความสะดวกกับผู้มาเยือนโตเกียวในครั้งนี้

ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นทุกอย่างต้องเนี้ยบและแน่นอนว่าอีเวนท์ใหญ่ระดับโลกอย่างโอลิมปิก ญี่ปุ่นเตรียมความพร้อมเพื่อความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน รวมทั้งการผสมผสานความโดดเด่นของวัฒนธรรมและโปรโมทการท่องเที่ยวไว้ในการเป็นเจ้าภาพอย่างประณีต น้อง Miraitowa มาสคอตของ Tokyo 2020 หน้าตาน่ารักสไตล์หุ่นยนต์ญี่ปุ่นก็เริ่มออกมาทักทายสร้างความคุ้นเคยกับผู้ชมแล้ว  ส่วนสนามกีฬาหลักกลางกรุงโตเกียว มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 1.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ  นอกจากสนามกีฬาหลักที่โตเกียว ยังมีสนามกีฬาอื่นๆ กระจายไปทั่วประเทศ ไกลถึงฮอกไกโดกันเลยทีเดียว โดยสนามกีฬาไฮไลท์นอกกรุงโตเกียวคือที่เมืองมิยากิ (Miyagi Prefecture) เมืองที่โดนสึนามิถล่มเมืองปี 2011 ซึ่งเจ้าภาพต้องการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและความเข้มแข็งของชาวเมืองมิยากิ หญ้าที่จะใช้ในสนามฟุตบอลที่ Miyaki Stadium จะปลูกโดยชาวบ้านที่เคยสูญเสียที่ดินในการทำการเกษตรทั้งหมดไปกับคลื่นยักษ์ที่กวาดพื้นดินทั้งหมดลงทะเล

เนื่องจากการจัดการแข่งขันจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุดในญี่ปุ่น เจ้าภาพได้เตรียมพร้อมรับมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยสนามกีฬาหลักมีการออกแบบเพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศจากภายนอก และมีการติดตั้งพัดลมเพื่อลดความร้อนสำหรับผู้เข้าชม  สำหรับกีฬาที่ต้องมีการแข่งขันภายนอกสนาม เช่น การวิ่งมาราธอน ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นถนนในส่วนที่จะใช้ในการแข่งขันเป็นวัสดุที่ไม่ดูดซับความร้อน และมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อให้มีร่มเงากับทั้งนักกีฬาและคนดู ร่วมทั้งติดตั้งระบบการปล่อยละอองน้ำบริเวณฟุตบาทเพื่อคลายความร้อนระอุอีกด้วย และยังได้ขอความร่วมมือจากร้านรวงในโตเกียวที่มีแอร์คอนดิชั่นให้เป็นที่พักชั่วคราวกับผู้เข้าร่วมชมและนักท่องเที่ยวที่อาจจะไม่สบายจากภัยร้อน เรียกว่าเตรียมพร้อมทุกด้านและร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน น่าชมเชย


ในแง่การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว NHK WORLD ได้ทำรายการ Tokyo Eye 2020 เพื่อโปรโมทโอลิมปิก 2020 และการท่องเที่ยวโตเกียวโดยเฉพาะ โดยบอกเล่าเรื่องราวความเป็นโตเกียวทั้งแง่ของประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัย Edo การแนะนำย่านต่างๆ ในโตเกียว สถานที่แปลกใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในคู่มือการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ร้านรวงเล็กๆ ที่ผลิตสินค้า Made in Japan คุณภาพสูงที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลัก เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รู้จักโตเกียวในหลายๆ มุมมอง

ส่วนราคาตั๋วเข้าชมก็เคาะออกมาแล้ว และมีกำหนดที่จะเปิดขายในฤดูใบไม้ผลิ 2019 นี้ หรือคร่าวๆ คือเดือนเมษายน 2019 นี้นั่นเอง บัตรเข้าชมพิธีการเปิดงานที่นั่งแพงที่สุดอยู่ที่ $2,700 ส่วนที่นั่งที่ถูกที่สุดอยู่ที่ $107 ส่วนราคาตั๋วสำหรับการแข่งขันกีฬาแพงสุดคือ $1,160 สำหรับการเข้าชมการวิ่ง 100 เมตรชาย ในรอบชิงชนะเลิศ และต่ำสุดอยู่ที่ $22 ซึ่งราคาก็ถือว่ามาตรฐานสำหรับการแข่งขันระดับโลกที่ต้องลงทุนสูงขนาดนี้  นอกจากจะมีตั๋วสำหรับผู้ชมทั่วไปแล้ว ยังมีตั๋วพิเศษสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ เช่นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา โดยคณะกรรมการกำลังพิจารณาการขายตั๋วเป็น package ซึ่งอาจรวมอาหาร เครื่องดื่ม หรือรวมการท่องเที่ยว โรงแรมและตั๋วเครื่องบินไว้ด้วยกัน ดูกีฬาเสร็จก็เที่ยวต่อกันได้เลย


ใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของ Tokyo 2020  อย่าชะล่าใจคิดว่าอีกนานกว่าจะถึงวันแข่งขัน ถ้าไม่อยากพลาดโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของอีเวนท์ใหญ่ระดับโลก และได้ที่พักในราคาที่ไม่โหดร้ายจนเกินไปก็ต้องรีบวางแผนการเดินทางกันแต่เนิ่นๆ  เพราะแค่ช่วงเวลาปกติค่าโรงแรมที่พักในโตเกียวก็ราคาไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ยิ่งย่านที่เดินทางสะดวก ใกล้สถานีรถไฟก็ยิ่งแพงหนัก แถมเต็มเร็วอีกด้วย ไม่ต้องคิดเลยว่าในช่วงจัดโอลิมปิกจะเต็มเร็วขึ้นและแพงขึ้นขนาดไหน!  รีบวางแผน รีบจองโรงแรม ด้วยบัตรเครดิต เนิ่นๆ แบบไม่ต้องกังวลเพราะเดี๋ยวนี้แบบจองก่อนจ่ายที่หลังก็เยอะ สะดวก สบาย จ่ายที่หลัง ยกเลิกได้ไม่เสี่ยง มานับถอยหลัง Tokyo Olympics 2020 ไปด้วยกันกับ บัตรเครดิต SCB JCB



ข้อมูล

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/nhknewsline/backstories/tokyotwoyears/

https://www.japantimes.co.jp