‘เที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ’ เที่ยว + รักษ์โลก ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อการร่วมมือหยุดโลกไม่ให้ร้อนไปกว่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นต่อสภาวะแวดล้อมมากขึ้น แต่ครั้นจะให้เหล่านักเดินทางเลิกท่องเที่ยวก็คงเหมือนขาดอากาศหายใจ ดังนั้น คงจะดีกว่าถ้าลองปรับทั้งสองเรื่องให้เดินควบคู่กันได้ด้วยการ “เที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ” ซึ่งมีหัวใจหลักคือ ทุกย่างก้าวของการเดินทางต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้น้อยที่สุด


1. เริ่มปรับจูนและวางแผน


อย่างแรกเริ่มปรับจูนและวางแผนก่อนเดินทาง วางแผนตั้งแต่ต้นว่าจะเที่ยวอย่างไรให้ปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด เช่น การเลือกที่พักอนุรักษ์โลกสีเขียว เน้นกิจกรรมร่วมกับชุมชน การจัดกระเป๋าให้มีน้ำหนักเบา พกพาอุปกรณ์ส่วนตัวอย่างแก้วน้ำ ช้อนส้อม ตะเกียบ มีดเล็กๆ ไว้ใช้ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งอาจทำได้แต่ไม่ 100% แบบที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ยังที่เริ่มต้นทำ


2. ปรับในแบบที่เข้ากับสไตล์ตัวเอง


ถ้าทำด้วยใจที่อินการได้ท่องเที่ยวแบบใหม่ก็จะทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ถ้าเคร่งเครียดต้องทำตามแบบที่วางไว้แบบเป๊ะทุกอย่าง อาจทำให้ตัวเองหรือคนร่วมทริปไม่สนุก แถมยังรู้สึกกังวลกับสิ่งที่ไม่คุ้นชินในการปฏิบัติ พาลทำให้ Mindset การเที่ยวแบบไม่ประทับใจ และไม่จูงใจให้เลือกแนวทางนี้อีก


3. ไปแบบตั้งใจเพื่อรู้จักฝึกฝืนกับสิ่งที่มีจำกัด


หากมีความตั้งใจเต็มพิกัดให้การเที่ยวของเราไม่ทำลายโลก แต่ตั้งต้นไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ลองหาที่พัก ชุมชน โฮมสเตย์ หรือธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานด้านนี้ลองใช้บริการ ออกเดินทางตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้เราได้มีส่วนร่วมดีๆ เช่น รู้จักวิธีประหยัดไฟเพราะที่พักใช้เพียงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าแบบจำกัด การแจกถุงแบบตาข่ายไว้ให้ใส่ของเมื่อออกไปเที่ยวชุมชน การร่วมกิจกรรมปลูกผักกับชุมชนที่ทำแบบอินทรีย์ การปั่นจักรยานหรือเดินเที่ยวแทนการใช้พาหนะใช้น้ำมัน

low-carbon-travel-01

4. เที่ยวแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม


จะด้วยงบการเที่ยวทั้งแบบง่ายๆ ราคาประหยัด หรือสะดวกสบายแบบตอบโจทย์ผู้เข้าพัก เพียงแต่กิจกรรมที่ทำต้องคำนึงหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาการท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ใส่ใจกับบรรยากาศและกิจกรรมแวดล้อมรอบที่พักหรือชุมชน ต่างกับการเที่ยวแบบเร่งรีบฉาบฉวย ที่ใช้ทรัพยากรและเสี่ยงต่อการปล่อยคาร์บอนออกมากกว่า


5. ยั่งยืนแบบจัดโซนชัดเจน


เมื่อรักษ์โลกกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกับทุกคน ทำให้หลายหน่วยงานเทใจสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยกำหนดกิจกรรมพื้นที่ส่งเสริมการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำชัดเจน เช่น เกาะช้าง จ.ตราด สนับสนุนปั่นจักรยาน การพายเรือคายักที่เกาะหมาก ปล่อยลูกเต่าลงทะเลที่เกาะขาม ปลูกปะการังที่เกาะหวาย ยิงเมล็ดพืชปลูกป่า และมีการรับประทานอาหารสไตล์ Low Carbon Menu ที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น


6. เที่ยวแบบจิตอาสา


เที่ยวแบบนี้นอกจากจะปล่อยคาร์บอนต่ำแล้ว ถือเป็นการส่งต่อพลังงานบวกให้คนในชุมชนและคนที่เห็นว่ามีการทำอาสาแบบเที่ยวไปด้วยได้อีก เช่น การสมัครไปทำจิตอาสากับหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ ตั้งแต่ การเก็บขยะชายหาด ริมแม่น้ำลำคลองที่ทำให้ได้เรียนรู้พื้นที่ท่องเที่ยวนั้นในเชิงลึก การไปเป็นอาสานำความรู้ที่ตัวเราถนัดหรือเชี่ยวชาญไปแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ห่างไกลหรือมีโอกาสน้อยในสังคม


7. ยั่งยืนที่สุดหากเที่ยวภายใต้จิตใต้สำนึกตัวเราเอง


เราท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำได้ง่ายขึ้น หากเข้าใจและตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อนตั้งแต่แรก รู้เสมอว่าไม่ว่าคนเราจะขยับตัวไปไหนก็มีส่วนปล่อยคาร์บอนอยู่แล้ว หากลองสะกิดใจตัวเองบ่อยๆ ว่าทำแบบนี้โลกจะร้อน แล้วหันมาป้องกันไว้ก่อน เช่น ตรวจตราเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าปิดสนิททุกอย่างเมื่อไม่ใช้งาน หรือจัดการขยะของตนเองให้เรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก็จะเป็นการสร้างนิสัยให้คุ้นชินกับการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำได้อีกทาง


8. พร้อมส่งเสริมและช่วยกันเที่ยวแบบนี้ให้นิยม


เกิดมาทำงานแล้วต้องเที่ยว แต่เพื่อช่วยกันรักษาอากาศ ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรให้คงอยู่กับโลกใบนี้ให้นานมากที่สุด ชวนเพื่อนๆ ให้ลองมาเที่ยวแบบนี้ด้วยกัน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญและลงมือทำให้การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเกิดขึ้น


เมืองไทยมีทรัพยากรที่หนุนนำให้การท่องเที่ยวโด่งดังในระดับโลกอยู่แล้ว แต่การเที่ยวแบบคาร์บอนต่น่าจะเป็นวิถีหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีความยั่งยืนและสวยงามได้ในระยะยาวต่อไป


ที่มา
https://thestandard.co/low-carbon-tourism/
https://www.salika.co/2021/06/12/low-carbon-tourism-after-covid/
https://tourism.utcc.ac.th/บทความเรื่อง-การท่องเท-3/
https://www.okmd.or.th/knowledge-box-set/articles/thai-travel/656/low-carbon-tourism