รู้จักแผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมติดตั้งบนหลังคาบ้าน

การจะติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงก็คือแผงโซลาร์เซลล์ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้จากภายนอก ต่างจากอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะติดตั้งอยู่ภายในอาคาร และเนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นหน้าด่านที่คอยรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า การติดตั้งจึงควรเลือกที่ได้มาตรฐาน ทนทาน และเหมาะกับการใช้งาน แม้การติดตั้งจะมีมืออาชีพมาให้คำปรึกษา แต่หากเจ้าของบ้านมีความรู้เบื้องต้นในการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ ก็จะช่วยให้ข้อมูลการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตั้งได้ดียิ่งขึ้น โดยแผงโซลาร์เซลล์ที่เหมาะกับการติดตั้งตามบ้านพักอาศัยคือแบบคริสตัลไลน์ ซึ่งทำมาจากสารกึ่งตัวนำประเภทซิลิคอน มี 2 แบบด้วยกัน คือ Monocrystalline และ Polycrystalline

monocrystalline

1. แผงโซลาร์เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

ทำมาจากผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยว  (Mono-Si) ที่มีความบริสุทธิ์สูง และเป็นเกรดดีที่สุด โดยนำซิลิคอนไปผ่านกระบวนการ Czochralski process ที่อุณหภูมิสูง ทำให้เกิดผลึกเกาะที่แกนกลางจนเป็นทรงกระบอก หลังจากนั้นจึงนำมาตัดให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม และลบมุมทั้งสี่ด้านออกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลักษณะของแต่ละเซลล์จึงเป็นสีเหลี่ยมตัดมุมทั้ง 4 ด้าน ตัวแผงจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม ค่อนไปทางดำ มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อพื้นที่สูง ทำให้ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย แต่ได้ค่าพลังงานมาก ส่วนราคาจะสูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น มีอายุการใช้งานนาน แต่หากใช้งานในช่วงที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิสูง ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง ส่วนในช่วงแสงน้อยจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าแบบโพลีคริสตัลไลน์

2. แผงโซลาร์เซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

ทำมาจากผลึกซิลิคอนเชิงผสม เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดแรกที่ทำจากผลึกซิลิคอน โดยนำซิลิคอนไปหลอมละลาย จากนั้นนำไปเทลงในแม่แบบที่เป็นสี่เหลี่ยม เมื่อซิลิคอนเย็นตัวลง ก็จะนำมาตัดเป็นแผ่นบางๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยไม่ตัดมุม หากสังเกตจะเห็นลวดลายของผลึก Crystal เล็กๆ จำนวนมากอยู่ภายใน ซึ่งเกิดจากแท่งซิลิคอนแบบผลึกรวม ที่ตกผลึกไม่พร้อมกัน กระบวนการผลิตจะใช้ปริมาณซิลิคอนน้อยกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์ และราคาถูกกว่า สีของแผงจะออกเป็นสีน้ำเงินที่ไม่เข้มมาก ประสิทธิภาพต่ำกว่าแบบโมโนคริสตัลไลน์ ประมาณ 2-3 % แต่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่อุณหภูมิสูงดีกว่าเล็กน้อย


แผงโซลาร์เซลล์ทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันมากนัก ในการติดตั้งจึงมักดูงบประมาณ พื้นที่ในการติดตั้ง และความคุ้มค่าในการใช้งานประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ควรเลือกใช้แผงโซลลาร์เซลล์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้แก่ มาตรฐานทั่วไป (มอก.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.S)  และ มาตรฐานสากล (International Electro Committee หรือ IEC)