ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
หุ้นลักษณะไหน ควรลงทุนยังไง
ในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากกว่า 500 บริษัท ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของหุ้นออกเป็นกลุ่มๆ ได้ โดยหุ้นแต่ละกลุ่มก็จะมีการเคลื่อนไหวของราคาและกลยุทธ์ในการลงทุนที่แตกต่างกัน หากนักลงทุนได้ศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะหุ้นต่างๆ ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมได้ โดยเราสามารถแบ่งหุ้นออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. หุ้นบริษัทชั้นดี หรือหุ้นบลูชิพ (Blue-chip Stock) ได้แก่ หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานมั่นคง เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ (มีสินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง) มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูง (Market Capitalization) สถานะการเงินมั่นคง สามารถทำกำไรได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา มีอัตราผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน โดยส่วนใหญ่อัตราผลตอบแทนจะมีค่าใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ และสามารถรักษาระดับในการจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าหุ้นในกลุ่มนี้อาจไม่ได้มีการเติบโตที่หวือหวา แต่นักลงทุนมือใหม่จำเป็นต้องมีหุ้นบลูชิพอยู่ในพอร์ตบ้าง เพราะเมื่อเวลาที่ตลาดปรับตัวลดลง ราคาของหุ้นกลุ่มนี้มักจะลงไม่มาก การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่ไม่สูงมากนัก
2. หุ้นที่เจริญเติบโตเร็ว (Growth Stock) ได้แก่ หุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรได้สูง มีอัตราการเติบโตของยอดขายและผลกำไรที่เด่นชัด และคาดว่าจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้สูงต่อไปได้ในอนาคต โดยมากมักเป็นบริษัทขนาดเล็กที่กำลังเจริญเติบโต โดยหุ้นในกลุ่มนี้มักมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เพราะต้องนำผลกำไรกลับไปลงทุนต่อในกิจการ หรือในโครงการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างความเติบโตให้กับบริษัท ทำให้ราคาของหุ้นกลุ่มนี้มักจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และมักขึ้นเร็วกว่าหุ้นกลุ่มอื่น จึงเป็นหุ้นที่มีคนนิยมซื้อขายกันมาก ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงมีข้อควรระวัง คือ การไล่ราคา เพราะเมื่อมีความต้องการมาก ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปโดยปริยาย ทำให้นักลงทุนอาจจะซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้นักลงทุนนิยมลงทุนในหุ้นเติบโต เนื่องจากมีความคาดหวังว่ากำไรในอนาคตจะมีอัตราการเจริญเติบโตในอัตราที่สูงมาก อย่างไรก็ตามหากบริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ในอัตราที่สูงตามที่ตลาดได้คาดหวังไว้ ราคาของหุ้นกลุ่มนี้ก็อาจปรับตัวลงรุนแรงกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ได้
3. หุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) เป็นหุ้นที่ราคาซื้อขายมีการขึ้นลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยที่เมื่อใดที่เศรษฐกิจดี ผลประกอบการของบริษัทก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากเศรษฐกิจซบเซา ผลการดำเนินงานของบริษัทก็จะซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ คือ จังหวะในการเข้าออก โดยนักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากเมื่อใดที่เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง จะต้องรีบขายหุ้นออกไป ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจกำลังจะปรับตัวขึ้น ราคาของหุ้นนี้จะเริ่มปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งเราอาจเรียกว่า การดีดกลับ (Turnaround) หรือหุ้นดีดกลับ (Turnaround Stock) ได้แก่ หุ้นของบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำที่ประสบอยู่ นอกจากนี้หุ้นวัฏจักรมักเป็นหุ้นที่ผลประกอบการอิงอยู่กับสิ่งที่เป็นโภคภัณฑ์ซึ่งราคาแปรไปตามกลไกตลาดโลก บริษัทแทบจะไม่มีความสามารถในการควบคุมราคาได้เลย เช่น ราคาน้ำมันโลกกับหุ้นขุดเจาะน้ำมัน หุ้นปิโตรเคมี หุ้นโรงกลั่น หุ้นยางมะตอย หุ้นสายการบิน หุ้นขนส่ง ราคาถ่านหินกับหุ้นถ่านหิน ดัชนีค่าระวางเรือกับหุ้นเดินเรือ เป็นต้น รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การเก็งกำไร โดยการคาดการณ์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ นักลงทุนจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนั้นอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเข้าใจกลไกของอุตสาหกรรมอย่างดี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างราคาโภคภัณฑ์และผลประกอบการของบริษัท
4. หุ้นตั้งรับ (Defensive Stock) ได้แก่ หุ้นที่ราคาไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนสม่ำเสมอ มั่นคง ไม่แปรผันไปตามสภาวะตลาด หุ้นตั้งรับมีแนวโน้มที่ดีกว่าตลาดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวหุ้นตั้งรับมักจะทำได้ไม่ดีเท่าตลาดเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผลตอบแทนของหุ้นตั้งรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง น้อยกว่า ผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ ตัวอย่างของหุ้นตั้งรับ เช่น หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ เราทุกคนก็ยังต้องใช้ไฟฟ้า และนํ้าประปา หรือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล ที่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรเศรษฐกิจแบบใดก็ตามอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่แปรผันไปตามภาวะเศรษฐกิจ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงถดถอยหรือช่วงรุ่งเรือง ความต้องการก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจากเดิมไม่มากนัก ด้วยความไม่ผันผวนของหุ้นกลุ่มนี้ ทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตามโอกาสทำกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ก็ต่ำตามไปด้วย การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงมาก และควรลงทุนในช่วงที่ตลาดกำลังมีแนวโน้มเป็นขาลง เพราะราคาของหุ้นกลุ่มนี้จะลงไม่มากเมื่อเทียบกับตลาด
5. หุ้นเก็งกำไร (Speculative Stock) ได้แก่ หุ้นของกิจการที่ไม่ได้มีประวัติการดำเนินงานที่ดี หรือมีเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการทำกำไรในอนาคต มีความเสี่ยงสูง กำไรของหุ้นประเภทนี้จะมีความไม่แน่นอนสูง ไม่มั่นคง การวิ่งของราคามีความผันผวนมาก โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ซื้อหุ้นเก็งกำไร จะเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้มาก และอาจมีสมมติฐานที่ตั้งอยู่บนความเชื่อหรือความคาดหวังว่าราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีบทวิเคราะห์มารองรับ การซื้อขายหุ้นประเภทนี้จึงเป็นการทำเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หากนักลงทุนมีความสนใจที่จะซื้อหุ้นเก็งกำไร ต้องประเมินตัวเองก่อนว่า มีเวลาในการติดตามข่าวสารและราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดหรือไม่ อีกทั้งต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างมากในการใช้ปัจจัยทางเทคนิคเพื่อมาวิเคราะห์จังหวะซื้อขาย หาไม่แล้วเราอาจจะขาดทุน หรือติดดอยก็เป็นได้
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าการลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่เราสามารถเอาชนะความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการศึกษา หาความรู้และหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าการลงทุนในแบบใดที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของเรามากที่สุด และเมื่อเราได้ลงทุนไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การประเมินผลการลงทุน โดยการหาเทคนิคจากสิ่งที่เราทำสำเร็จ และเรียนรู้จากความผิดพลาด เพื่อพัฒนาการลงทุนของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ ความสำเร็จในการลงทุนคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน
บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร