กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ อีกทางเลือกการลงทุนระยะสั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ (Trigger Fund) กองแรกของโลกถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจลงทุนอย่างคึกคัก จากนั้นเป็นต้นมา บลจ.ต่างๆ ได้ออกกองทุนนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง และด้วยแนวคิดนี้เป็นของ บลจ.ไทย จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการกองทุนรวมระดับโลกว่าเป็น “เมด อิน ไทยแลนด์แห่งกองทุนรวม”


ทริกเกอร์ ฟันด์ เป็นกองทุนรวมทั่วไปประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ แต่ความพิเศษอยู่ที่การกำหนดเงื่อนไขด้านผลตอบแทนภายใต้กรอบระยะเวลา โดยถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเวลาที่กำหนด หรือรู้จักกันดีว่า “Trigger” ก็จะเลิกกองทุน (ปิดกองทุน) แล้วทำการคืนเงินตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนพร้อมผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน


เช่นเดียวกัน หากกองทุนสร้างผลตอบแทนไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด หรือเรียกว่า “ไม่ Trigger” ทาง บลจ.ที่ออกกองทุนจะมี 2 ทางเลือกให้ผู้ลงทุน นั่นคือ ปิดกองทุนแล้วคืนเงินตามราคา ณ วันที่ปิด หรือแปลงสภาพเป็นกองทุนเปิด เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถถือหน่วยลงทุนต่อไป

ตัวอย่าง กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์

บลจ. ABC ออกกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ 1 กอง มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทย ด้วยเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 6% ในระยะเวลา 6 เดือน


ผ่านไป 4 เดือน กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์นี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 6% ตามเป้าหมาย บลจ. ABC จะทำการเลิกกองทุน แล้วคืนเงินตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนพร้อมผลตอบแทน (6%) ให้ผู้ลงทุน และสมมติว่ากองทุนนี้สร้างผลตอบแทนได้ถึง 8% ผู้ลงทุนก็ได้ผลตอบแทน 6% ตามที่ตกลงกันเอาไว้เท่านั้น ส่วนผลตอบแทน 2% เป็นของ บลจ.


ตรงกันข้าม หากครบกำหนด 6 เดือน กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย เช่น ทำได้ 4% หรือขาดทุน บลจ. ABC มี 2 ทางเลือกให้กับผู้ลงทุน นั่นคือ ปิดกองทุนแล้วคืนเงินตามราคา ณ วันที่ปิด หรือแปลงสภาพเป็นกองทุนเปิดเพื่อให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะถือหน่วยลงทุนต่อไป


ที่ผ่านมากองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ ส่วนใหญ่จะมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ บ้าง เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ หลายๆ กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ควรศึกษาให้รอบด้านก่อน เพราะยังมีอีกหลายกองที่ไม่ Trigger ดังนั้น นักลงทุนควรอ่านหนังสือชี้ชวนของกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ในอดีตที่ Trigger และไม่ Trigger รวมถึงกองที่ปิดไปแล้วหรือยังดำเนินการอยู่ (แปลงสภาพมาจากกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน

กองทุนนี้เหมาะกับใคร


สังเกตว่ากองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ มักกำหนดกรอบการลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ โดยส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ด้วยเป้าหมายผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ เช่น 5%, 8% ขณะเดียวกัน บลจ.ต่างๆ นิยมออกกองทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงปรับฐานและมีโอกาสปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายชัดเจน เพราะรู้ระยะเวลาลงทุนและผลตอบแทนที่คาดไว้ เมื่อถึงเป้าหมายหรือระยะเวลาที่กำหนดกองทุนจะปิดและขายหน่วยลงทุนออกไปโดยอัตโนมัติ


นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับสูง เนื่องจากเน้นสร้างผลตอบแทนให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น กองทุนจะกำไรหรือขาดทุน ปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นลงทุนเป็นหลัก


ความเสี่ยงและข้อจำกัด

ถึงแม้กองทุนทริกเกอร์ ฟันด์จะมีความน่าสนใจแต่ก็เหมาะกับผู้ลงทุนบางประเภทเท่านั้น ดังนั้นหากสนใจลงทุนต้องรับความเสี่ยงได้และรู้ว่าตัวเองมีข้อจำกัดอะไรบ้าง


1.ไม่สามารถขายคืนระหว่างทางได้

กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ ไม่รับประกันว่าจะได้รับผลตอบแทนตามระยะเวลาที่กำหนด และระหว่างทางหากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ปรับลดลง อยากขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อตัดขาดทุน (Stop Loss) ก็ทำไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงในช่วงขาลงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่เหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี


2.กำไรจำกัด ขาดทุนไม่จำกัด

จากเงื่อนไขเมื่อได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายก็ทำการปิดกองทุน ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้กำไรสูงสุดเท่ากับเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น หมายความว่ากำไรที่ได้จะถูกจำกัด (Limited Gain) แต่ไม่จำกัดการขาดทุน (Unlimited Loss) หมายความว่าหากลงทุนในสินทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง เช่น หุ้นตก กองทุนนี้มีโอกาสขาดทุนไปได้เรื่อย ๆ เพราะผู้ลงทุนไม่สามารถขายหน่วนคืนเพื่อตัดขาดทุนในระหว่างทางได้

3.พลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

หากตลาดหุ้นเป็นช่วงขาขึ้น ผู้ลงทุนอาจจะพลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ เช่น กองทุนรวมหุ้นทั่วไปสร้างผลตอบแทนได้แล้ว 8% ผู้ลงทุนยังสามารถถือลงทุนไปได้เรื่อยๆ และได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นหากกองทุนยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง


4.ค่าธรรมเนียมสูง

ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ อยู่ในระดับสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไป เพราะจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมพิเศษ เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมการจัดการเต็มระยะเวลาเป้าหมาย แม้กองทุนจะถึงเป้าหมายก่อนระยะเวลาที่กำหนด หรือค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (back-end fee) กรณีที่ถึงเป้าหมาย เป็นต้น


5.ไม่การันตีผลตอบแทน

เนื่องจากกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ มักมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีความผันผวนด้านราคาตลอดเวลา ดังนั้น ถึงแม้จะมีการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนและกรอบระยะเวลา ซึ่งในความจริงแล้วไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำ หากในระหว่างทางมีปัจจัยลบเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการลงทุน อาจทำให้การคาดการณ์ด้านผลตอบแทนของกองทุนรวมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย


นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ดีในอดีตไม่ได้การันตีผลตอบแทนอนาคต เนื่องจากมีกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ บางกองออกกองทุนเป็นซีรีส์ เช่น เมื่อปีที่ผ่านมา บลจ. ABC ออกกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ XYZ (ซีรีส์ 1) มีนโยบายลงทุนในหุ้น SET50 โดยมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 6% ภายใน 5 เดือน ผลปรากฏว่าแค่ 3 เดือนก็ทำได้ตามเป้าหมาย


มาถึงต้นปีนี้ บลจ.ABC ออกกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ XYZ (ซีรีส์ 2) มีนโยบายลงทุนในหุ้น SET50 โดยมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 6% ภายใน 5 เดือน ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าจะสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเหมือนในอดีตหรือไม่


ถึงแม้กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ จะเป็นอีกทางเลือกที่ดีแต่ก็เหมาะกับผู้ลงทุนบางประเภท ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรถามตัวเองให้ดีก่อนว่าตนเองเหมาะกับกองทุนประเภทนี้หรือไม่ พร้อมๆ กับศึกษารายละเอียดในหนังสือชี้ชวนให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่คิดจะ ลงทุน