ปี 2565 ส่องเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความมืดครึ้มของเศรษฐกิจโลก

หลังจากที่ฟันฝ่ามรสุมวิกฤตโควิดกว่า 2 ปี เศรษฐกิจไทยในวันนี้ที่เริ่มดีขึ้นจากการเปิดประเทศและขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยว กลับต้องเผชิญกับเงาทะมึนจากปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ย ฯลฯ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นรอบด้าน

thai-economy-2022-in-global-recession-01

สงคราม – เงินเฟ้อ รุมเร้าเศรษฐกิจโลก


จากที่ EIC ปรับคาดการณ์ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นจาก 2.7% เป็น 2.9%  แม้ตัวเลขไม่ได้เปลี่ยนมาก แต่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลง เรียกว่าเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่ส่งออกเคยดีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ต่อจากนี้ส่งออกจะไม่ค่อยดีและไม่ใช่แรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยอีกต่อไป ภาคบริการจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี เห็นได้จากคาดการณ์ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากภาคบริการดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชน “EIC มองว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปเท่ากับช่วง Pre-Covid ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2023 เมื่อการท่องเที่ยวดีขึ้นเรื่อยๆ”


อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจอยู่ ได้แก่


·  สงครามรัสเซีย-ยูเครน : แม้ว่าตัวเลข GDP ของรัสเซียและยูเครนจะไม่มาก และไม่ส่งผลเสียกับเศรษฐกิจโลกโดยตรง แต่ทั้งสองประเทศนี้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น อย่าง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักกับเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศ แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นสินค้าต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต เช่น พลังงาน แร่ธาตุ เมื่อเกิดสงครามจึงไม่สามารถผลิตสินค้าได้ส่งผลกระทบไปทั้งอุตสาหกรรม วัตถุดิบและโภคภัณฑ์หลายอย่างก็ปรับราคาสูงขึ้น เช่นน้ำมัน เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น


·  ในฝั่งผู้ซื้อ แรงอุปสงค์ก็เริ่มลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนไปถึงจุดที่ชะลอการเติบโต เมื่ออุปสงค์ของทั้งโลกหายไป ย่อมส่งผลต่อการส่งออก


ในมุมมอง EIC ปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกไม่สดใส หลายสำนักปรับคาดการณ์ตัวเลข GPD ทั่วโลกลดลง หมายถึงว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกลดลงตาม ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดสำคัญที่ไทยส่งออกสินค้าในสัดส่วน 50% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดอย่างจีน และยุโรปก็อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก โดยจีนที่ยังคงนโยบาย Zero Covid ทำให้มีการล็อคดาวน์เป็นระยะๆ ส่งผลให้ภาคการผลิตบริการดำเนินการไม่ต่อเนื่อง หากจีนหยุดนาน สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ การหยุดผลิตทำให้คนไม่มีรายได้ ไม่กลับมาซื้อของ ของขายไม่ได้ (ตัวเลข Retail Sales ลดลง) คนก็เลิกผลิตและลดการจ้างงาน (ตัวเลข Unemployment เพิ่มขึ้น) เป็นวัฏจักรถดถอยลง ส่วนยุโรปก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อนที่อื่น เพราะมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย-ยูเครน ถ้าการส่งออกและการผลิตแย่ลง การใช้กำลังการผลิตก็จะลดลง การลงทุนก็จะน้อยลงตาม จากผลสำรวจของธปท.พบว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องหลักที่ผู้ประกอบการกังวลใจ


ในส่วนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2022 แตะระดับสูงสุด 7.7% ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index (PPI) ปรับขึ้น 14% ส่งผลให้ผู้ผลิตมีส่วนต่างกำไรน้อยลง หรือต้องรับภาระขาดทุน ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในอนาคตมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ

ท่องเที่ยว-เกษตร ส่งสัญญาณบวก


มามองในภาคการท่องเที่ยว EIC ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2022 จาก 5.7 ล้านคนเป็น 7.4 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 3.7 แสนล้านบาทจากความต้องการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการลดมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของหลายประเทศทั่วโลก กลุ่มที่เดินทางมามากคือกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ที่อยู่ยาวและใช้จ่ายสูง  เมื่อภาคการท่องเที่ยวดี ก็ส่งผลบวกไปถึงทุกธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องในซัพพลายเชน เช่น ร้านอาหาร  ค้าปลีกค้าส่งในประเทศ ฯลฯ


ดร.สมประวิณมองว่าภาคเกษตรก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากที่ฝั่งละตินอเมริกา และยุโรปเจอภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลิตผลเกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง ขณะที่ฝั่งประเทศไทยยังมีสภาพน้ำที่ดี สามารถเพาะปลูกได้ และผลผลิตอย่างอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมันมีราคาดีขึ้นมาก จึงคาดการณ์ว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 10% และกลุ่มสินค้าที่จะได้รับประโยชน์จากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การบริโภคในประเทศ (อาหารเครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย) การเดินทางยานพาหนะ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย และกลุ่มวัตถุดิบประกอบบรรจุภัณฑ์


ภาพรวมในปี 2021-22 การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังคงเป็นในลักษณะ uneven โดยแม้ว่าบางธุรกิจที่ฟื้นตัวได้เร็ว แต่เผชิญความเสี่ยงสูงจากความผันผวนโลก ทั้งราคาโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่บางธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า อย่างภาคบริการมีปัจจัยบวกจากการทยอยเปิดประเทศ


ในส่วนของรายได้ที่แท้จริง (Real Income) จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2021 พบว่าคนกลุ่มล่างประมาณ 40% ยังมีรายได้ติดลบอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิต ค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ จะมีครอบครัวที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึง 31.8% คือมีรายได้เฉลี่ย 18,993 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจสูง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนเพิ่มจากภาวะปัจจุบันที่ “ของแพง-ค่าแรงถูก” มากที่สุด คือคนชั้นกลาง รายได้ 2-3 หมื่นบาทที่มีรายได้ประจำ ส่วนใหญ่ใช้รถจึงต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง ซึ่งแม้มีกำลังจ่ายได้ แต่ก็จะเหลือเงินออมน้อยลง

แนวโน้มดอกเบี้ย-ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร


EIC คาดกนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% ในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีหน้า โดยดร.สมประวิณกล่าวว่าแม้ตอนนี้ทุกคนจะพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อ อีกซักระยะคนจะหันมากังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมากกว่า เนื่องจากทั่วโลกพากันขึ้นดอกเบี้ยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะถึงจุดพีคภายใน 1-2 เดือนนี้


ในส่วนของสินเชื่อ ที่ผ่านมาสินเชื่อภาคธุรกิจ Corporate Lending เติบโตดีจากการส่งออก แต่ต่อไปสินเชื่อส่วนบุคคลจะโตดีขึ้น เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น


ทางด้านของค่าเงินบาท ดร.สมประวิณมองว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือค่าเงินดอลลาร์ที่เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และตลาด FX ที่ตอบสนองกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เมื่อตลาดรับรู้ว่าธปท.กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ-ไทยแคบลง และนักท่องเที่ยวจะเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น จึงมีความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นในกรอบ 33.5-34.5 บาท


ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์สำคัญอย่างไรต่อจากนี้


มีคำถามว่าอะไรที่เป็น Tail Risk (ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ถ้าเกิดแล้วส่งผลกระทบร้ายแรง) ในมุมมองของดร.สมประวิณคือสงครามระหว่างจีน-ไต้หวัน ที่จะส่งผลกระทบหนักกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนมหาศาล เพราะจีนเป็นยักษ์ใหญ่ของซัพพลายเชนทั้งโลก ประเทศไทยมีซัพพลายเชนร่วมกับจีนและที่ตั้งอยู่ใกล้กับคู่กรณี

ค้าปลีก-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร


EIC คาดว่าธุรกิจค้าปลีกปีนี้และปีหน้าเติบโต 11% และ 9% ตามลำดับ โควิดเป็นตัวเร่งทำให้รูปแบบธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ ห้างสรรพสินค้าเป็นซื้อประสบการณ์ ดร.สมประวิณกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ขณะนี้ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะมีความไม่แน่นอนสูง แม้จะมีเงินเข้ามา แต่ก็ระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ ซื้อของจำเป็นก่อน  2) ภาวะเงินเฟ้อ บั่นทอนรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภค ผู้ประกอบการกำลังจะปรับราคาสินค้าขึ้น 3) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความคาดหวังต่อคุณภาพของสินค้าและบริการสูงขึ้น อีกทั้งยังสนใจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น (ESG-Environmental ,Social and Governance) และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น AR/VR NFTs Metaverse


กลุ่มสินค้าที่จะเติบโต ได้แก่ กลุ่ม FMCG โดยเฉพาะ Food & Drink, Healthcare, Home Care/Home & Garden อสังหาริมทรัพย์ดีในกลุ่มบ้านเดี่ยว ขณะที่สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างคอมพิวเตอร์ ไม่ค่อยดีเพราะคนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์พอไปได้


ในส่วน 3 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจบริการในอนาคต ได้แก่


· Automation Enhancement ปรับเปลี่ยนสู่ระบบอัตโนมัติ เช่น Modern Automation Tools, AI และ Machine Learning ตัวอย่างเช่นในปี 2025 ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด


· E-Commerce Evolution การพัฒนา e-Commerce อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล เช่น Voice search options เป็นเทรนด์จากจีนและอินเดีย, Visual commerce, AI-assisted selling


· Unique Customer Experience การ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคตามความต้องการเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม การผลิตสินค้าไม่ใช่แบบ One Size Fits All แต่ต้องผลิตสินค้าหลากหลายรองรับคนทุกเจนเนอเรชั่นที่มีประสบการณ์ต่างกัน เช่น

o AR/VR เช่น Virtual fitting rooms, Visualize items เมื่อซื้อของจากที่บ้าน

o Metaverse ที่ในปี 2024 มูลค่าตลาด Metaverse จะสูงถึง 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 479 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 และGartner คาดว่า ในปี 2026 กว่า 25% ของประชากรทั่วโลกจะใช้เวลาใน Metaverse อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงในการทำงาน ซื้อสินค้า และความบันเทิงรูปแบบต่างๆ

o Retailtainment การขายสินค้าที่เพิ่มความบันเทิงมากขึ้น

o Omnichannel engagement สื่อสารผ่านช่องทางหลากหลายรองรับผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ

ดร.สมประวิณกล่าวสรุปว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งเทคโนโลยี ESG และ Customer Insight ใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคมามีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าของเราตั้งแต่ต้นจนจบขั้นตอนการซื้อ กล่าวคือตั้งแต่รู้จักสินค้า ตัดสินใจ และรับสินค้าของเรา การออกแบบสร้างประสบการณ์นี้สำคัญมาก โดยสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ออกแบบประสบการณ์การซื้อสินค้าของลูกค้า และสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อช่วยต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มมากที่สุด

ที่มา : การสัมมนาหลักสูตร “Mission X” The Boot Camp pf Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 4 :  Economics & Industry Trend โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วันที่ 5 กรกฎาคม 2565