ทางเลือกการลงทุนใน Private Fund

กองทุนส่วนบุคคล คือ กองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้หลากหลายและมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบและนโยบายการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตนเองได้มากที่สุด อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้


กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือเงินกองทุนจะเป็นของลูกค้า อยู่ภายใต้ชื่อของลูกค้า โดยมีการระบุชื่อของบริษัทจัดการควบคู่ไปด้วยเพื่อเป็นการบอกถึงสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้า มีผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินและหลักทรัพย์ของกองทุน โดยผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และต้องเป็นบุคคลที่ 3 แยกต่างหากจากบริษัทจัดการเพื่อความโปร่งใสในการบริหารกองทุน นอกจากนี้การลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลยังมีสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทจัดการ เพื่อผู้ลงทุนจะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้


โดยในปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนแต่ละท่านต่างก็มีความต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนและข้อจำกัดในการลงทุนที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีความต้องการรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากคุณสามารถออกแบบรูปแบบการลงทุนในสไตล์ของคุณ โดยได้รับคำปรึกษา คำแนะนำและการวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนของคุณได้ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม

กองทุนส่วนบุคคลแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปอย่างไร?

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กองทุนส่วนบุคคล คือ กองทุนที่เกิดจากผู้ลงทุน (บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล) นำเงินและทรัพย์สินมามอบหมายให้บริษัทจัดการเป็นผู้บริหารจัดการลงทุนแทน ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะมีความยืดหยุ่นมาก สามารถปรับนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ในขณะที่กองทุนรวมจะเป็นการระดมเงินจากผู้ลงทุนรายย่อย มารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากนั้นบริษัทจัดการจะนำเงินที่ระดมทุนได้ ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ ตามนโยบายที่ได้รับอนุมัติตามโครงการจัดการกองทุนรวมนั้น โดยผู้ลงทุนแต่ละรายจะได้รับ “หน่วยลงทุน” (Unit Trust) เพื่อเป็นหลักฐานในความเป็นเจ้าของในเงินที่ได้ลงทุนไป นอกจากนี้ผู้ลงทุนในกองทุนรวมจะไม่มีสิทธิ์หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมที่ตนเองลงทุนได้


กองทุนส่วนบุคคลมีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง?

1.ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (Management Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ บลจ. เรียกเก็บจากการบริหารเงินลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล โดยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 2% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุนและประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน

2.ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian Fee) เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลเรียกเก็บจากกองทุน

3.  ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (Performance Fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ทาง บลจ. ตกลงกับผู้ลงทุนว่าหากทำผลงานได้เกินกว่าผลตอบแทนที่กำหนดไว้ (Hurdle Rate) จะขอส่วนแบ่งจากกำไรส่วนที่เกิน Hurdle Rate เช่น หากกำหนด Hurdle Rate ไว้ที่ 10% ต่อปี หากในปีที่ผ่านมา บลจ. บริหารกองทุนส่วนบุคคลได้ผลตอบแทนที่ 12% ต่อปี ส่วนที่เกินจาก 10% ต่อปี คือ 2% นั้น ทาง บลจ. ขอส่วนแบ่งกำไรที่ 20% ซึ่งเท่ากับ 0.4% (20% x 2%) ทำให้ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนรวมไปเท่ากับ 11.6% ต่อปี ในทางกลับกัน หากผลตอบแทนของกองทุนส่วนบุคคลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% ต่อปี ค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะไม่ถูกเรียกเก็บ และหากปีใดที่กองทุนมีผลขาดทุน ทาง บลจ. ต้องบริหารกองทุนให้กลับมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่สูงที่สุดที่ผ่านมา (High Water Mark) ก่อน จึงจะเรียกเก็บ Performance Fee ตามที่ตกลงได้
 

4.  ค่าธรรมเนียมอื่น เช่น ค่าอากรแสตมป์ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าผู้ตรวจสอบบัญชี (ถ้ามี) เป็นต้น

 

หากสนใจลงทุนในกองทุนรวมส่วนบุคคลสามารถติดต่อสอบถามได้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ต่างๆโดยมากทุก บลจ. ก็จะมีการให้บริการการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล ก่อนตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรเข้าไปฟังการนำเสนอของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลนั้นๆ ก่อนว่าจะมีแนวทางการบริหารเงินของเราอย่างไร ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนเท่าไหร่


ดังนั้น การลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่สามารถมีอิสรภาพในการลงทุนที่ตนเองต้องการได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนจะสามารถลงทุนในรูปแบบนี้ได้ ผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้ที่มีเงินทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ (ประมาณ 5 ล้านบาทขึ้นไป) และมีค่าธรรมเนียมในการบริหารที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมแบบปกติ จึงเหมาะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีเงินก้อนแต่ไม่อยากลงทุนในรูปแบบเดิม และต้องการความแตกต่างและผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนก็อาจมีความเสี่ยงที่สูงกว่า จึงควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

               

 

บทความโดย  :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร