ลงทุน ‘ตราสารหนี้’ อย่างไร ให้ผลตอบแทนสดใส ในยุคตลาดผันผวน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินมีประสิทธิผลกว่าการลดดอกเบี้ย ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม


ผลประชุมครั้งนั้น ค่อนข้างจะมีผลต่อตลาดการเงินไทยพอสมควร เนื่องจากการประชุม 9 ครั้งที่ผ่านมา มติ กนง. เป็นเอกฉันท์มาโดยตลอด ทำให้ตลาดคาดการณ์ไปถึงการประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ว่า กนง. จะมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ต่อปี


อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อรอให้นโยบายการคลังทำงาน และประเมินประสิทธิผลของเม็ดเงินที่รัฐบาลนำไปใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายของวัคซีน และจากความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต (Policy Space) ที่จำกัด ประกอบกับประสิทธิผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่มากนัก 


นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ จากเดิมประมาณการ GDP อยู่ที่ 1.8% และ 3.9% โดยปรับลดลงจากผลกระทบของโควิดที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมาก และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้าจากนโยบายการเปิดประเทศที่ล่าช้า


ในส่วนของมาตรการทางการคลังนั้น รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ใช้สำหรับเยียวยาโควิดระลอกสาม โดยได้มีการเบิกใช้ไปแล้วบางส่วน แต่ดูเหมือนเม็ดเงินที่นำมาใช้นั้นอาจไม่สามารถชดเชยกับการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง ทำให้สำนักวิจัยหลายแห่งต่างก็ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ลงเรื่อยๆ


โดยล่าสุดผู้ว่า ธปท. ได้แนะนำรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะแตะ 70% ต่อ GDP ในอีก 3 ปี แต่จะเป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว แม้ว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะพุ่งสูงกว่าเพดานที่ 60% ของ GDP แต่ก็ไม่ได้กระทบเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญ


สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงนี้ มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังทรงตัวระดับต่ำ และคาดว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้น้อยตามมุมมองเศษฐกิจไทยที่ถูกกระทบค่อนข้างหนักและฟื้นตัวได้ช้า ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอาจจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเร็วนักในระยะนี้ จากปัจจัยต่างประเทศเรื่องการลดการผ่อนคลายทางการเงินที่อาจไม่ได้มาเร็วตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรฐกิจโลกแม้จะฟื้นตัวแต่ยังคงเปราะบางจากการกลายพันธุ์ของโควิด โดยเฉพาะในสหรัฐฯ


ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 มองว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มทรงตัวในระยะสั้น จากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างช้าๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ 1% แม้อาจจะมีสัญญาณเร่งตัวในระยะสั้นได้บ้าง โดยเรามองว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดปีนี้ และเน้นการใช้มาตรการเฉพาะจุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสภาพคล่องมากขึ้น


ในขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในระยะกลาง-ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เร็วกว่าไทย และโอกาสที่ Fed จะทำ QE Tapering ในปีหน้า รวมถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการระดมทุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนมาตรการการคลังขนาดใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

how-to-invest-in-debt-instrument-01

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่ยังคงให้ความสนใจในกองทุนตราสารหนี้อยู่ บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้แนะนำกองทุนตราสารหนี้ที่มีการกระจายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้พลัส (SCB Fixed Income Plus Fund: SCBFP) เน้นลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ และให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในและ/หรือต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการเงิน และหรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ และลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มีการบริหารแบบเชิงรุกเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น 


อีกหนึ่งกองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCB Fixed Income Fund: SCBFIXED) มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตลาดตราสารเงิน ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาคเอกชน เงินฝาก หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก 


ทั้งนี้ กองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับระดับที่ลงทุนได้เป็นหลักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในส่วนที่เหลือกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยทั้ง 2 กองทุนยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Short Term Bond ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) อีกด้วย


บทความโดย : คุณมยุรา ถิ่นธนาสาร Director, กลุ่มจัดการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ 


ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564


ที่มา : The Standard Wealth