แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2564 ‘บอนด์ยีลด์’ ระยะยาวอาจเร่งตัวขึ้น

ในปี 2563 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้ไทยต้องเผชิญกับความผันผวนตลอดทั้งปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดดอกเบี้ยลงมาในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงรุกด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ต่อปี เหลือ 0.00% ต่อปี และประกาศทำอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน หรือ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนปรับลดลงทุกช่วงอายุนับจากต้นปี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% จาก 1.25% ต่อปี เหลือ 0.50% ต่อปี


แม้เราจะก้าวข้ามผ่านปี 2563 มาแล้ว แต่โควิด-19 ยังคงวนเวียนอยู่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น ในกรณีพื้นฐานมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 อยู่ในช่วง 2.0-3.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำในกรอบ 1.0-1.2% แม้จะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 จากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวกลับมาแต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต

bond-market-2021-01

สำหรับการลงทุนนั้น ผลพวงของโรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลต่อการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง ได้แก่ พัฒนาการของวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 


ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันในช่วงกลางปี 2564 และถ้าหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยประมาณ 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้


อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ หากวัคซีนที่ออกใช้มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 ต่ำกว่าที่คาด หรือไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าเดิมได้ หรือมีผลข้างเคียงรุนแรง นอกจากนี้การกระจายและการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย หากทำได้อย่างล่าช้า อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นได้เร็วตามที่คาด และในกรณีเลวร้ายของไทยอาจหมายถึงประเทศจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะโตติดลบได้ และเป็นไปได้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงได้


ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะพบว่า ไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น


โดยเรายังมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายทางการคลังยังคงมีความจำเป็น เพื่อพยุงและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากที่นโยบายทางการเงินได้ถูกใช้แบบเกือบหมดกระสุนกันในหลายประเทศแล้ว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องติดตามความคืบหน้าการอนุมัติวงเงินโครงการและความรวดเร็วในการเบิกจ่าย เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลตามแผนที่วางไว้ด้วย ทั้งนี้ หากมีการเบิกจ่ายเร็วขึ้น ก็มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะปรับขึ้นแบบเร็วได้


อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้นั้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ จึงเป็นอีกทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจในสภาวะตลาดที่ผันผวนเช่นนี้ หากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยง และต้องการลดความผันผวนในพอร์ต ‘ตราสารหนี้’ นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีเลยทีเดียว


ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุนตราสารหนี้ที่แนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCBFIXED) เป็นกองทุนระยะสั้น-กลาง อายุตราสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เดือน – 1.5 ปี และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Short Term Bond จากมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) เป็นกองทุนระยะกลาง-ยาว อายุตราสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-3 ปี มีการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยทั้ง 2 กองทุนเน้นลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพ และให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในและ/หรือต่างประเทศ


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง และควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ SCBAM Call Center โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน SCBAM Fund Click ได้ที่ https://scbam.link/scbam_fund_click


บทความโดย คุณยุทธพล วิทยพาณิชกร Executive Director กลุ่มจัดการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth