ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
โอกาสสร้างผลตอบแทนจาก ‘ตราสารหนี้’ ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว
จากปัจจัยบวกต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ความคืบหน้าของการฉีดวัดซีน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างก็เป็นตัวสนับสนุนให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากวิกฤตโควิด-19 มีความชัดเจนมากขึ้น และคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุน และเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตราสารหนี้เข้าสู่สินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทน หรือบอนด์ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี และเนื่องจากราคาตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงผกผันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทน คือการที่อัตราผลตอบแทนในตลาดปรับขึ้น ราคาตราสารหนี้มีแนวโน้มจะปรับตัวลง ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการถือครองตราสารหนี้ จึงลดลงจากปลายปีที่แล้วหรืออาจติดลบได้
แม้ว่าบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง แต่ตราสารหนี้แต่ละตัวก็มีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์ไม่เท่ากัน เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวกว่าจะมีความอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของบอนด์ยีลด์ในระดับที่สูงกว่า โดยในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น จะช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาตราสาร และยังเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ได้จากตราสารที่ครบกำหนดมาลงทุนใหม่ (Roll-over) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงมีความเสี่ยงจากการปรับลดลงของราคาตลาดที่น้อยกว่าตราสารหนี้ระยะยาว แต่ประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะอยู่ในระดับต่ำด้วย ดังนั้น การกระจายการลงทุนถึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่ดี
อีกทางเลือกการลงทุนตราสารหนี้ที่เหมาะสมกับสภาวะเงินเฟ้อและบอนด์ยีลด์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คือ การลงทุนในตราสารหนี้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือ Floating Rate Bond (FRB) ที่โดยทั่วไปจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว หรือ Coupon Reset ทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน โดยอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน FRB นั้นก็มีข้อเสียอยู่ เช่น จำนวนตราสารในตลาดมีค่อนข้างน้อย และผลตอบแทนที่ไม่คงที่ ทำให้ผู้ลงทุนต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และต้องคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่เป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากตราสารที่ครบบ่อยทำให้ผู้ลงทุนได้ ‘รีเซ็ต’ อัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่เสมอ คล้ายคลึงกับการลงทุนใน FRB ขณะที่ผลตอบแทนสามารถคาดเดาได้ง่ายกว่า
นอกจากการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงแล้ว นักลงทุนยังสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น โดยมีข้อดีคือนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากกองทุนมีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งตราสารภาครัฐ เงินฝากธนาคารทั้งในและต่างประเทศ และหุ้นกู้เอกชนจากหลากหลายบริษัทที่ผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี โดยกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนสูงกว่าดัชนีเทียบวัด
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้นำเสนอกองทุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCBFIXED) ซึ่งเป็นกองทุนระยะสั้น-กลาง ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา
โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตลาดตราสารเงิน ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาคเอกชน เงินฝาก หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ทั้งนี้ กองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) เป็นหลัก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในส่วนที่เหลือกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Non-Investment Grade) และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) และกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (
SCBFP
) เน้นลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ และให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งใน และ/หรือต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการเงินและหรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ และลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และยังมีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนด้วย โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนที่บริหารแบบเชิงรุก (Active Management) เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กองทุน SCBFP ยังมี Share Class ที่เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SCBFP-SSF สำหรับนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงมองว่าในสภาวะเช่นนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน แต่แนะนำให้นักลงทุนทำการลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยขอให้จัดพอร์ตเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และมีสัดส่วนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพอร์ตได้ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย
บทความโดย คุณมยุรา ถิ่นธนาสาร
Director, กลุ่มจัดการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์
*ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก The Standard Wealth