ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
รู้มั้ยอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร
หากใครที่ได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เป็นประจำ น่าที่จะเคยได้ยินคำว่า ‘เงินบาทแข็งค่าขึ้น’ หรือ ‘เงินบาทอ่อนตัวลง’ มาบ้าง แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า เงินบาทแข็ง เงินบาทอ่อน คืออะไร เกี่ยวอะไรกับเรา และจะส่งผลต่อการลงทุนของเราอย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า อัตราแลกเปลี่ยนกันก่อนดีกว่า
อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) คือ ราคาของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง องค์ประกอบหลักของอัตราแลกเปลี่ยนเงินจึงมี 2 ส่วนคือ เงินสกุลท้องถิ่นกับเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งสามารถแสดงราคาได้สองแบบ ดังนี้
แบบแรก ราคาเงินสกุลต่างประเทศที่แสดงเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ส่วนแบบที่สองราคาเงินสกุลท้องถิ่นที่แสดงเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่น เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินบาท 33 บาท ในทางกลับกัน เงิน 1 บาท เท่ากับเงิน 0.03 ดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการซื้อขายสกุลเงิน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจไทย ในทางหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วหรือมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (เพราะเงินบาทแพงขึ้น) หรือทำให้รายได้จากการส่งออกที่แปลงมูลค่าเป็นเงินบาทลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าจ้างของแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลง เช่น หากธุรกิจส่งออกมีกำไรจากการขายสินค้าอยู่ที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจก็จะมีเงินกลับเข้ามาในประเทศที่ 33 ล้านบาท แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (เงินบาทแข็ง คือ ใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลต่างประเทศ) ธุรกิจจะเหลือเงินกลับเข้ามาในประเทศเพียง 30 ล้านบาท ดังนั้นสำหรับธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวจะชอบค่าเงินอ่อนมากกว่าค่าเงินที่แข็ง
อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าของผู้ผลิต รวมถึงมีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพของผู้บริโภคอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับขึ้นเร็ว เช่น หากธุรกิจที่ต้องนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ สมมติว่าต้นทุนสินค้าอยู่ที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจจะต้องจ่ายเงินค่าต้นทุนนำเข้าสินค้าที่ 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (เงินบาทอ่อน คือ ใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินสกุลต่างประเทศ) ธุรกิจจะต้องจ่ายเงินค่าต้นทุนสินค้าเป็นเงินถึง 33 ล้านบาท จะเห็นว่าต้องจ่ายแพงกว่าถึง 3 ล้านบาท ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่นำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศจะชอบค่าเงินที่แข็งมากกว่าค่าเงินอ่อน
อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก/นำเข้าต้องเผชิญ โดยการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลให้กระแสรายได้หรือรายจ่ายในรูปเงินบาทของธุรกิจมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้น หรือขาดทุนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดเดา เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศ นโยบายการเงินและการคลัง ภาวะเศรษฐกิจโลก การคาดการณ์และการเก็งกำไร เสถียรภาพการเมืองในประเทศและต่างประเทศ จิตวิทยาตลาด และข่าวลือต่างๆ
แม้ว่าธุรกิจจะไม่สามารถควบคุมความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ก็สามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสมในการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า เช่น การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการรายได้และต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป ค่าเงิน หรืออัตราแลกเปลี่ยน คือ ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออัตราผลตอบแทนจากการค้าและ
การลงทุน
ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ และหาข้อมูลหรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม จะช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจที่ขยายกิจการไปต่างแดน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ต่างประเทศ สามารถปรับตัวเพื่อรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนได้ตามที่ต้องการ และสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากค่าเงินได้ทันการณ์
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร