เรารู้จักความเสี่ยงในการลงทุนแค่ไหน?

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นประโยคทิ้งท้ายที่เรามักได้ยินเสมอในโลกของการลงทุน ซึ่งนั่นทำให้เราตระหนักว่า การลงทุน นั้นมีความเสี่ยง และสิ่งที่จะมาชดเชยความเสี่ยงในการลงทุนก็คือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น


คนส่วนใหญ่จะรู้จักและมีความคุ้นเคยกับคำว่า ‘ผลตอบแทน’ มากกว่า คำว่า ‘ความเสี่ยง’ เพราะที่ทุกคนตัดสินใจเข้าสู่โลกของการลงทุน ก็เพราะคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเอง แต่อย่าลืมว่า ความเสี่ยงก็คือเหรียญอีกด้านของผลตอบแทน ดังนั้นในบทความนี้จะมาอธิบายถึงความเสี่ยงจากการลงทุนว่าคืออะไร และมีอะไรบ้าง


ความเสี่ยงจากการลงทุน คือ โอกาสที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่เราคาดหวังไว้จากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งความเสี่ยงได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อันเป็นเหตุให้ผู้ลงทุนต้องสูญเสียรายได้ หรือเงินลงทุน ประกอบด้วย ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ และความเสี่ยงในระดับอุตสาหกรรม
  2. ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk) คือ โอกาสที่จะสูญเสียเงินลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์ และอุปทานของตลาด
  3. ความเสี่ยงในอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด
  4. ความเสี่ยงจากอำนาจซื้อ (Purchasing Power Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากอำนาจซื้อของเงินที่ลดลง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อ คือ ภาวะเงินเฟ้อ โดยที่เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ข้าวของมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เงินที่มีอยู่นั้น นำมาซื้อข้าวของได้น้อยลง


จะเห็นว่าไม่ว่าเราจะลงทุนหรือไม่ เราจะต้องเจอะเจอกับความเสี่ยงจากอำนาจซื้ออย่างแน่นอน ซึ่งหมายความว่า เงินที่เรามีอยู่นั้นจะด้อยค่าลงเรื่อยๆ วิธีที่จะทำให้เราสามารถรักษาอำนาจซื้อของเงินไว้ ก็คือ การหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่อย่างน้อยเท่ากับหรือมากกว่าเงินเฟ้อ ดังนั้น  เราจึงต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุน และความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อหากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของเราต่อไป


เมื่อเราทำความรู้จักกับความเสี่ยงประเภทต่างๆ กันไปแล้ว เราต้องสามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท เพราะการลงทุนแต่ละประเภทมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ทำให้ในบางเวลาการลงทุน A อาจมีกำไร แต่การลงทุน B มีผลขาดทุน แต่โดยรวมแล้วเราอาจจะมีกำไร หรือขาดทุนไม่มากเท่าไหร่


นอกจากนี้ในการลงทุนนั้น  ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็คือ   การลดความผันผวนระหว่างทางของการลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับนั้น ต้องเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายในการลงทุนด้วย โดยเราสามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ดังนี้

  1. การกระจายการลงทุนภายในสินทรัพย์ลงทุนประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าลงทุนในหุ้นก็ควรจะกระจายไปในหุ้นหลายๆ ตัว หลายๆ อุตสาหกรรม  อย่าถือหุ้นแค่ตัวเดียว หรืออุตสาหกรรมเดียว เพราะหากความสามารถในการทำกำไรของหุ้นที่เราลงทุนเปลี่ยนไป อาจทำให้เรามีโอกาสขาดทุนได้
  2. การกระจายการลงทุนข้ามประเภทสินทรัพย์ เป็นการกระจายการลงทุนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ด้วยเหตุผล “ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะชนะตลาดตลอดไป และไม่สินทรัพย์ใดที่จะแพ้ตลาดตลอดไป” ซึ่งสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ เช่น หุ้น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์และเงินฝาก โดยเราจะทำการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์เหล่านี้ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของบุคคลนั้นๆ เช่น หากเรารับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เงินฝากหรืออสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงกว่าหุ้นและทองคำ เป็นต้น
  3. การกระจายการลงทุนข้ามประเทศ ในบางครั้งการลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้นกว่าการลงทุนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในบางประเทศก็อาจจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตามอย่าลืมพิจารณาถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (ความสะดวกในการเอาเงินออกมาจากประเทศที่ลงทุน) และความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ด้วย


เมื่อตัดสินใจลงทุนไปแล้ว นักลงทุนควรทำการทบทวนและปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุน หรือหาที่ปรึกษาการลงทุนเพื่อขอคำแนะนำในการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร