สร้างสมดุลทางการเงิน ด้วยหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง"

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยสามารถใช้ได้กับประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ


“…พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2541


หลักเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสรุปออกมาได้ 3 หลักการคือ การมีความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งทั้ง 3 หลักการนี้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความรอบรู้ และต้องมีคุณธรรม


อันที่จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่ใครๆ ก็นำไปประยุกต์ใช้ นำไปปฏิบัติได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน การวางแผนการเงินก็เช่นกัน เราสามารถวางแผนการเงินตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงได้ เพราะ “เงินก็คือทรัพยากรอย่างหนึ่ง” ที่เราต้องจัดสรรให้เพียงพอสำหรับปัจจุบันและอนาคต การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลทางการเงิน เพื่อให้มีเงินสำหรับใช้จ่ายได้ทั้งในวันนี้และในวันหน้า เพื่อการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน เพื่อเป้าหมายในระยะยาว และเพื่อการเกษียณอย่างมั่นคง ซึ่งเราสามารถประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการวางแผนการเงินได้ดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียงกับการวางแผนการเงิน

  1. ความพอประมาณทางการเงิน ความหมายของคำว่าพอประมาณของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าความพอประมาณอยู่ที่ระดับใด ทั้งนี้ให้ดูที่ความรู้ความสามารถของตนเองประกอบด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนควรพิจารณาในหลักการของความพอประมาณ คือ ความไม่ฟุ้งเฟ้อ ความประหยัด ไม่ใช้จ่ายจนเกินตัว หรือการที่ไม่ทำอะไรที่สุดโต่งจนเกินไป เช่น กู้เงินมาลงทุนจำนวนมากเพื่อต้องการให้ประสบความสำเร็จเร็วๆ เป็นต้น
  2. ความมีเหตุผลทางการเงิน หมายถึง การวางแผนและศึกษาหาความรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตอย่างมีเหตุผล ไม่หลงเชื่อใคร หรือเชื่ออะไรง่ายๆ จะต้องดูเหตุผล มีที่มาที่ไป และหาข้อมูลจากหลายๆ ทางก่อนที่จะเชื่อหรือตัดสินใจทางการเงินลงไป นอกจากนี้ต้องมีความเข้าใจในการวางแผนการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนค่าใช้จ่าย การออมและการลงทุน เพราะการวางแผนการเงินเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างรอบคอบ เกิดสมดุลในชีวิตและเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขในอนาคต
  3. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง มีการเตรียมความพร้อม เมื่อเข้าใจว่าอาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และจะส่งผลกับสถานภาพทางการเงินของตัวเอง จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาอย่างไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต เข้าใจความสำคัญของการออมเงินและหาความรู้เกี่ยวกับการออม การลงทุนอย่างรอบคอบ รู้จักสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่งให้ตัวเอง ซึ่งการวางแผนการเงินจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี เพราะเราได้มีการจัดสรรเงินให้สอดคล้องกับทั้งเป้าหมายระยะสั้น และระยะยาว มีการกันเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน มีการวางแผนประกันภัย มีการเตรียมการสำหรับการเกษียณอายุ ตลอดจนวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง


โดยการวางแผนการเงินที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ต้องอยู่บนความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่จนเกินไป


กล่าวโดยสรุป หากเราดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ ย่อมทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ มีความรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตได้


นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร