ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การเงินไม่พังกับ 5 สูตรลัดความสำเร็จ
เมื่อพูดถึง ‘
การวางแผนการเงิน
’ หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยในการวางแผนการเงินของตนเอง โดยเฉพาะเราๆ ท่านๆ ที่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน มักคิดว่า ยังมีเงินเดือนน้อยอยู่เลย หรือยังไม่มีเงินเก็บเลย คงวางแผนการเงินไม่ได้หรอก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆ
อันที่จริงแล้ว การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทุกระดับฐานะการเงินไม่ว่าจะมีหรือจน ตามหลักความเป็นจริงแล้ว ยิ่งจน ยิ่งมีหนี้ ยิ่งมีเงินน้อย หรือยิ่งไม่มีเงินเก็บเลยยิ่งต้องรีบวางแผนการเงิน เพราะถ้าคุณไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คุณจะหลุดพ้นจากวงจรความจนไปได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีปัญหาการเงินที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามีการวางแผนการเงินที่ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รู้ที่มาที่ไปของเงิน ลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้มีเงินออมที่มากขึ้น สามารถนำไปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ และมีวินัยที่จะทำต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ฐานะการเงินดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ‘การวางแผนการเงิน’ ให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดด้วย โดยที่บทความนี้จะนำเสนอ เคล็ดลับการบริหารเงินอย่างง่ายๆ ซึ่งคุณสามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้ทันที ดังนี้
เคล็ดลับที่ 1 เงินออม คือ จุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน
จุดเริ่มต้นง่ายๆ คือ การตั้งเป้าเงินออม โดยเปลี่ยนสมการเงินออมของคุณให้เป็น ‘เก็บก่อนใช้’ เมื่อเงินเดือนออก อยากให้คุณกันเงินเก็บของคุณออกมาเลยประมาณ 10% ของรายได้ สำหรับคนที่ไม่เคยมีเงินเก็บเลย หรือรู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องยาก อาจต้องอาศัยตัวช่วย ด้วยการสร้างระบบการเก็บเงินในแบบของคุณเอง เช่น ใช้วิธีการตัดเงินออมอัตโนมัติเพื่อไปลงทุนในเงินฝากประจำ 24 เดือน หรือ 36 เดือน (ที่ต้องลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน) บางคนทำให้การออมเงินเป็นเรื่องสนุกด้วยการกำหนดกติกาการเก็บเงิน เช่น ออมเงินง่ายๆ ด้วยแบงค์ 50 โดยพยายามไม่ใช้แบงค์ 50 และเก็บออมไว้ ทำให้ทุกครั้งที่คุณไปจับจ่ายใช้สอย และได้เงินทอน คุณจะอยากได้เงินทอนเป็นแบงค์ 50 มากกว่าเป็นแบงค์อื่นๆ เพื่อจะได้เก็บออมไว้ หรืออาจจะใช้วิธีเก็บเงินตามวันที่ เช่น วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาทไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 30 ก็เก็บ 30 บาท พอขึ้นเดือนใหม่ วันที่ 1 ก็เก็บ 1 บาท วนไป หากวางแผนการเงินแบบนี้ได้ทั้งปี คุณจะมีเงินเก็บ 5,738 บาท ถ้าคิดว่ามีกำลังมากกว่านี้ก็อาจจะเติมศูนย์ตามหลังแทนก็ได้ เช่น วันที่ 1 เก็บ 10 บาท เป็นต้น แม้ว่าวิธีวางแผนทางการเงินวิธีนี้ อาจจะไม่ทำให้เรามีเงินเก็บอะไรมากมาย แต่จะเป็นการช่วยสร้างนิสัยการออมที่ดี เวลาใช้เงินก็จะมีสติและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และแน่นอนจะทำให้คุณรู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องสนุกขึ้นด้วย
เคล็ดลับที่ 2 เคล็ดลับบริหารเงินฝาก
เมื่อเริ่มเก็บเงินได้แล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วเราควรเก็บเงินไว้ที่ไหน ยิ่งสมัยนี้ค่าครองชีพสูงกว่าสมัยก่อนมาก เราจึงต้องวางแผนการเก็บเงินของเราให้ดี เมื่อพูดถึงค่าครองชีพ ก็มีคำศัพท์ทางการเงินคำหนึ่งที่อยากให้ทุกท่านรู้จัก นั่นก็คือคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งคือ ภาวะที่ข้าวของราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินของเราลดลง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เงิน 100 บาทในกระเป๋าของเราซื้อข้าวของได้น้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี แปลว่า ถ้าเรามีเงินอยู่ 100 บาท ที่อัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี เมื่อ 1 ปีผ่านไป เงินเราจะลดค่าลงเหลือ 97 บาท และถ้าเรายังคงไม่ทำอะไรกับเงินของเรา เมื่อปีแล้วปีเล่าผ่านไป เงินของเราก็จะลดค่าลงเรื่อยๆ ทำให้คุณอาจมีเงินไม่พอสำหรับการเกษียณอายุก็เป็นได้
ลองหันมาดูที่ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ซึ่งเราได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี จะเห็นว่าน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ นั่นแปลว่า ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตแบบขาดทุนอยู่ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ยิ่งออมยิ่งจน’ ดังนั้นเราจึงต้องหาบัญชีเงินออมที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ เช่น ฝากประจำ 24 เดือน หรือ 36เดือน อัตราดอกเบี้ยก็จะดีกว่าเก็บเงินเฉยๆ ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แต่ก็ต้องยอมรับในเงื่อนไข เช่น ต้องมีขั้นต่ำในการฝาก ต้องฝากประจำสม่ำเสมอทุกเดือน หรือถอนได้เมื่อครบกำหนดเท่านั้น ดังนั้นหากเรามีการวางแผนการเงิน เราจะรู้ว่าเราควรเก็บเงินสภาพคล่องไว้ประมาณ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่บัญชีออมทรัพย์ เงินส่วนเกินจากสภาพคล่อง เราต้องเริ่มมองหาการออมหรือการลงทุนที่ให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อยมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อเป็นการรักษาอำนาจซื้อของเงินไว้นั่นเอง
เคล็ดลับที่ 3 เคล็ดลับการลงทุนผ่าน LTF/RMF
การเก็บออมได้นับว่าเป็นสิ่งดี อย่างไรก็ตามการฝากเงินแต่ในบัญชีออมทรัพย์อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะดอกเบี้ยที่ได้ ไม่ชนะเงินเฟ้อ และแม้ว่าคุณได้ขยับไปฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำแล้วก็ตาม ดอกเบี้ยที่ได้ก็อาจจะยังไม่ชนะเงินเฟ้ออยู่ดี คุณจึงต้องมาทำความรู้จักกับการวางแผนการเงิน เช่นการลงทุนในสินทรัพย์การเงินประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการฝากเงินด้วย ซึ่งการวางแผนการเงิน ด้วยการลงทุนที่เป็นประโยชน์ สะดวกและไม่ควรมองข้าม คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวม ได้แก่ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้เลือกลงทุน ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ง่ายกว่า มีผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารจัดการ เป็นต้น สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม คือ เป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่รับได้
สำหรับมนุษย์เงินเดือน ต้องไม่พลาดการลงทุนในกองทุนรวม
LTF
และ
RMF
เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเราสามารถซื้อ LTF ได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และซื้อ RMF ได้ 15% ของรายได้ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวมประเภทต่างๆ ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณา ซึ่งคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.morningstarthailand.com หรือ จาก Fund Fact Sheet (หนังสือชี้ชวน) ของกองทุนที่คุณสนใจ ซึ่งจะบอกถึงรายละเอียดการลงทุนที่สำคัญ เช่น กลยุทธ์การลงทุน อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง หรือประเภทของธุรกิจที่กองทุนนั้นๆ เลือกลงทุน รวมไปถึงอัตราความเสี่ยง และค่าธรรมเนียมการจัดการต่างๆ
เคล็ดลับที่ 4 เคล็ดลับลงทุนด้วยประกัน
กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำประกันที่ชัดเจน เช่น เพื่อการออมเงินระยะยาว เพื่อคุ้มครองรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เป็นหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่การสร้างมรดก เมื่อเรากำหนดเป้าหมายการทำประกันที่ชัดเจนจะทำให้เราสามารถเลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้มากที่สุด เช่น หากต้องการออมเงินระยะยาว เราก็สามารถเลือกทำประกันแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ หากต้องการคุ้มครองรายได้และสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว เราก็เลือกทำประกันแบบตลอดชีพ หรือหากต้องการหลักประกันเรื่องสุขภาพ ก็เลือกซื้อ ประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรง เป็นต้น
นอกจากเราได้ทำประกันที่ตรงกับความต้องการแล้ว เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตสูงสุด 100,000 บาท หรือนำเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน จะเห็นว่า ‘วางแผนการเงินดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ จริงๆ
เคล็ดลับที่ 5 การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนให้กับตัวเอง
แท้จริงแล้วเป้าหมายของการสร้างฐานะไม่ใช่การมีเงินเป็นจำนวนมากๆ แต่เป็นการเติบโตขึ้นไปจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพที่คุณสามารถบรรลุได้ อันที่จริงการพัฒนาตนเองคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเหนือเป้าหมายทั้งปวง เพราะตัวเราเองนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดแล้ว แล้วเราควรจะลงทุนให้กับตัวเองอย่างไรบ้าง เราสามารถลงทุนกับตัวเองได้ดังนี้
เชื่อมั่นว่า หากคุณสามารถปฏิบัติตาม 5 เคล็ดลับวางแผนการเงินดังกล่าว ความสำเร็จทางการเงิน คงไม่ไกลเกินเอื้อม
บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร