มองโอกาสธุรกิจไทยในเมียนมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาเมื่อกว่าหนึ่งปีมาแล้ว มาจนถึงวันนี้สถานการณ์ในเมียนมาเป็นอย่างไรแล้วบ้าง โดยเฉพาะโอกาสสำหรับธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในเมียนมา รศ. (พิเศษ) ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง คุณวรพงษ์ อุติศยพงศา Corporate Banking & SME HEAD ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา และคุณภาคภูมิ เวทย์วิทยานุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย บริษัท Decha & Co จำกัด มาร่วมแบ่งปันข้อมูลใน CLMV Focus 2022 Myanmar Today


สัมพันธ์การค้าไทย-เมียนมา


รศ. (พิเศษ) ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท
กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาในตอนนี้ว่าสถานการณ์การค้าและภาวะทั่วไปกลับมาสู่ในระดับเกือบปกติ แม้ยังมีปัญหาโควิด 19 ระบาดอยู่ แต่ในเมืองใหญ่ต่างๆ ธุรกิจก็เปิดดำเนินการตามปกติ ส่วนเศรษฐกิจในปี 2565 IMF คาดว่าจะติดลบ 15%  เพราะโควิดและการเปลี่ยนแปลงการเมือง ด้านการค้าระหว่างไทยและเมียนมา ในปี 2564 การค้าระหว่างสองประเทศขยายตัว 13.6% คิดเป็นตัวเลข 1.4 แสนล้านบาท มีการนำเข้าสินค้า 9 หมื่นล้านบาท โดยผู้นำเข้าสินค้ามองหาสินค้าจากไทย เพราะประเทศอยู่ใกล้กันและมีการค้ากันมาอย่างยาวนาน เป็นโอกาสให้สินค้าไทยอยู่ได้ส่งไปเพิ่มมากขึ้น  โดยในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการค้าระหว่างไทยเมียนมาจะขยายตัว 3-5%


ปัจจุบันมีกว่า 300 บริษัทลงทุนทำธุรกิจในเมียนมา ไม่นับรวมที่ทำธุรกิจเทรดดิ้ง ทั้งมาเปิดสาขา ร่วมทุน Joint Venture ในเมียนมามีนักธุรกิจไทยประมาณ 400 คน อยู่ย่างกุ้ง 250 คน ธุรกิจที่คนไทยมาทำคือ สินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งโรงงานผลิต ทำการเกษตร  Oil & Gas  ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์เม็ดพลาสติก  สินค้าไทยที่คนเมียมมานิยมพิเศษ คือ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์รถยนต์ จักรยานยนต์


ในแง่พฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมา กำลังซื้อยังไม่สูงมาก ระดับแรงงานมีอัตราเงินเดือน 4,000-6,000 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 8,000 – 10,000 บาท สินค้าที่นำเข้ามาจึงต้องพิจารณาเรื่องราคาเป็นหลัก ซึ่งสินค้าไทยเป็นที่นิยม เพราะราคาไม่แพง คุณภาพเป็นที่ยอมรับ

thai-business-in-myanmar-amid-changes-01

ธุรกิจการเงินการธนาคารในเมียนมา


เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดบริษัทลูก Siam Commercial Bank Myanmar (SCBM) ที่กรุงย่างกุ้ง และตั้งแต่เปิดให้บริการ ธนาคารได้เร่งเปิดบัญชีให้ผู้ประกอบการไทยทั้งที่สาขาและออนไลน์ และจากสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ธนาคารก็เป็นเพื่อนคู่คิดรับมือสถานการณ์เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องเงินตราต่างประเทศ กฎข้อบังคับของธนาคารกลาง คุณวรพงษ์ อุติศยพงศา Corporate Banking & SME HEAD ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา กล่าวว่าธนาคารมีความพร้อมในการดูแลลูกค้า ให้บริการนักลงทุนไทยทั้งที่อยู่ในไทยและเมียนมา


การเปลี่ยนแปลงกฎหมายกระทบต่อการค้าการลงทุนอย่างไร


คุณภาคภูมิ เวทย์วิทยานุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย บริษัท Decha & Co จำกัด
แนะนำนักลงทุนว่าต้องติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิด เช่น ข่าว Sanction ไม่มีมาตรการคว่ำบาตรที่มีผลต่อเมียนมาทั้งประเทศโดยตรง เป็นการคว่ำบาตรเฉพาะกลุ่ม ถ้าบริษัทเกี่ยวข้องกับประเทศตะวันตก ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ไว้ด้วย ในส่วนของวีซ่า ขณะนี้เมียนมายังไม่อนุญาตให้สายการบินพาณิชย์ธรรมาดาบินเข้าประเทศ แต่ถ้าบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจาก Myanmar Investment Commission (MIC) สามารถขอผ่านช่องทางนี้ได้


ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาประกาศรายชื่ออุตสาหกรรมที่ต้องการส่งเสริม 8 ประเภท เช่น ปุ๋ย ยารักษาโรค เหล็ก ปูน อาหารแปรรูป การเกษตร ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ สำหรับการนำเข้าส่งออก ก็ได้เพิ่มลิสต์สินค้าเพิ่มเติมกว่า 3,000 รายการที่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า รวมเป็น 7,000 กว่ารายการ ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้งหรือเวบไซต์กระทรวงพาณิชย์เมียนมา


เมียนมามีหลักประกันคุ้มครองนักลงทุนอย่างไร


คุณภาคภูมิ กล่าวเสริมว่าการไปเปิดธุรกิจในเมียนมาแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1) ไปลงทุนเปิดธุรกิจตามปกติ  2) ไปเปิดกิจการและขอส่งเสริมจาก MIC  3) ไปลงทุนในเขต Special Economic Zone ซึ่งตามกฎหมายเมียนมาจะคุ้มครองการลงทุนในแบบที่ 2 และ 3 เท่านั้น โดยหลักประกันคือหลักการ Fair and Equality Treatment  ที่ปฏิบัติต่อนักลงทุนอย่างเป็นธรรม ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ มีกระบวนการชัดเจนตามกฎหมาย ที่สำคัญมีกฎหมายห้ามเวรคืนทั้งโดยตรงโดยอ้อม (แต่มีข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ของรัฐ และมีค่าชดเชยให้)  ในส่วนข้อ 1  ธุรกิจได้รับความคุ้มครองการลงทุนตามสนธิสัญญาตามกฎบัตรอาเซียน โดยนักลงทุนไทยจะได้รับคุ้มครองตามสนธิสัญญาคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมาด้วย


รศ. (พิเศษ) ดร.ธนวุฒิ กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาไทยลงทุนในเมียนมามีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ติดท้อป 4 นักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้เมียนมามองไทยเป็นกลุ่มทุนมีความสำคัญ พร้อมช่วยเหลือนักลงทุนไทยตามความต้องการที่แตกต่างไปแต่ละภาคอุตสาหกรรม สำหรับปัจจัยเรื่องเงินตราต่างประเทศที่มีความสำคัญกับการทำการค้าระหว่างประเทศ ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเมียนมาชะลอตัวบวกกับการเมืองในประเทศ ส่งผลให้เมียนมามีปัญหาเรื่องเงินตราประเทศ ที่ค่าเงินจั๊ตพม่า (MMK) อ่อนค่า จากเดิมที่ 1 USD แลกได้ 1,200-1,300 MMK กลายเป็น 1,778 MMK ต่อ 1 USD  ทางธนาคารกลางเมียนมาเข้าใจปัญหาการขาดสกุลเงินตราต่างประเทศ และได้ออกมาตรการช่วยบรรเทาด้วยการอนุญาตให้ใช้เงินหยวน เงินบาท เป็นทางเลือกนอกจากเงิน USD  รวมทั้งทยอยขายเงิน USD ออกมา ให้นักธุรกิจไว้ใช้ในการนำเข้าส่งออกสินค้า

เมียนมายังน่าลงทุนอยู่หรือไม่?


ในความเห็นของคุณวรพงษ์ที่มองว่าสถานการณ์ในเมืองใหญ่ขณะนี้สงบมากขึ้น ทำให้การลงทุนระยะกลางขึ้นไป ยังมีความน่าสนใจ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างอินเดียและจีน ทำให้เมียนมามีโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางระหว่างสองประเทศผู้บริโภคขนาดใหญ่ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหลัก อย่างการเกษตร การประมง และอุปโภคบริโภคยังเติบโตได้ รวมถึงมีการค้าชายแดนกับไทย มูลค่าถึง 1.4 แสนล้านบาท ธนาคารยินดีเป็นที่ปรึกษา ช่วยประสานงานแนะนำการลงทุนแก่ธุรกิจไทยที่มองเห็นโอกาสธุรกิจในเมียนมา


สิทธิประโยชน์ภาษีอะไรน่าสนใจที่สุด


คุณภาคภูมิแนะนำว่าควรโฟกัสการลงทุนธุรกิจที่อยู่ในลิสต์ของ MIC แต่ต้องดูรายละเอียดในลิสต์ให้ดี เพราะไม่ได้หมายความว่าลงทุนเองได้ 100% บางธุรกิจต้องร่วมทุนกับหุ้นส่วนชาวเมียนมา


ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เช่น การเช่าที่ดินระยะยาว 50-60 ปีจากปกติที่เช่าปีต่อปี การนำเข้าเครื่องจักรแบบปลอดภาษี ช่วงที่ไม่เก็บภาษีเงินได้ (Tax Holiday) ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ไปลงทุน โดยแบ่งเป็น 3 โซนตามการพัฒนา จะได้ยกเว้นภาษีหลังดำเนินการแล้ว 3 ปี 5 ปี 6 ปี ตามลำดับ


สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎหมายแรงงาน โดยเมื่อจดทะเบียนบริษัทแล้วมีลูกจ้าง ก็ต้องเข้าระบบประกันสังคมเหมือนไทย ซึ่งตามกฎหมายเมียนมา สัญญาจ้างต้องมีการไปยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานแรงงานด้วย ถ้าไม่จดมีโทษทางกฎหมาย  บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินได้ของลูกจ้างทุกเดือน กรณีเจอลูกจ้างไม่ให้หัก ก็ต้องคุยกับลูกจ้างให้ดีว่าส่วนนี้นายจ้างจะออกให้หรือไม่  กรณีเลิกจ้าง ต้องมีค่าชดเชยแรงงาน จ่ายตามสัดส่วนระยะเวลาทำงาน กรณีเลิกจ้างกะทันหัน ต้องมีสินจ้างแทนการบอกกล่าว 1 เดือนอย่างน้อย ในเรื่องวีซ่าแรงงานต่างชาติ  มีการกำหนดตามสัดส่วนแรงงานต่างชาติไว้ สามารถทำ Work Permit  ได้  ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก MIC ก็ต้องทำเป็น Business Visa เข้าประเทศ ซึ่งช่วงนี้ต้องขออนุญาตพิเศษ ในส่วนมาตรการป้องกันโควิด นายจ้างจัดอุปกรณ์ตามมาตรการ Social Distancing


แนะนำเทคนิคทำลงทุนธุรกิจในเมียนมา


คุณภาคภูมิเน้นย้ำการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เช่นงานสัมมนาของ SCB สอบถามสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สมาคมการค้าต่างๆ นอกจากเรื่องมาตรการคว่ำบาตรด้วย ต้องติดตามกฎหมายที่ออกใหม่ด้วย ในส่วนผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ให้พิจารณาคุณสมบัติผู้ร่วมลงทุนด้วย โดยตรวจสอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนว่ามีความเสี่ยงถูกคว่ำบาตรหรือไม่ และถ้าธุรกิจมีปัญหาทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับภาครัฐไม่ได้ ให้ปรึกษากับหน่วยงานรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และคุยอัพเดทข้อมูลให้ทุกฝ่ายด้วยความยุติธรรม


นักธุรกิจที่สนใจรับคำปรึกษาการทำธุรกิจในเมียนมา สามารถติดต่อ ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา Sule Square Office Tower ชั้น 18 กรุงย่างกุ้ง  หรือสามารถติดต่อธนาคารไทยพาณิชย์ ตามรายละเอียดที่นี่


ที่มา : สัมมนาออนไลน์ CLMV Focus 2022 Myanmar Today มิติการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางธุรกิจในอนาคตไทย เผยแพร่ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 4 มีนาคม 2565 คลิกดูย้อนหลังที่นี่