ส่องโอกาสนักลงทุนไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา

ประเทศกัมพูชา นอกเหนือจากจะเป็นประเทศที่มีจุดแข็งที่อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำแล้ว ยังเป็นประเทศที่เกื้อหนุนนักลงทุนจากนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้า เช่น GSP ทั้งจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร, FTA กับจีนและเกาหลีใต้ และ RCEP กับ 15 ประเทศ (ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ประกอบกับมีทำเลที่ตั้งติดทะเล สะดวกในการขนส่งสินค้า และมีพรมแดนติดกับเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ดั้งนั้นประเทศกัมพูชาจึงมีความน่าสนใจต่อนักลงทุนไม่น้อย


ด้วยปัจจัยต่างๆ ทข้างต้น ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาเดินหน้าสนับสนุนการผลิตเพื่อให้ประเทศมีความพร้อมสำหรับนักลงทุนอย่างครบวงจร โดยปัจจุบันในกัมพูชาได้สนับสนุนให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) 54 แห่ง สำหรับนักลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตให้กับสินค้าหลากหลายแบรนด์ระดับโลก


วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จัก “เกาะกง” ซึ่งมีพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายทะเลของกัมพูชา โดยมีอาณาเขตติดกับอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดของไทย ที่กำลังจะขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง จากเดิมมีอยู่แล้ว 1 แห่ง รวมเป็น 2 แห่ง  เพื่อดึงดูดนักลงทุนและช่วยในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการสร้างงานให้คนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งฐานการผลิต ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ผลิตสายไฟรถยนต์ ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตอุปกรณ์กีฬา และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า

เกาะกงเป็นจังหวัดหนึ่งในกัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดตราดของไทยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) ที่เริ่มต้นตั้งแต่กรุงเทพมหานคร ผ่านไปยังอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดของไทยผ่านเกาะกง และ สีหนุวิลล์ของกัมพูชา สิ้นสุดที่จังหวัดนำเชา ประเทศเวียดนาม เป็นระยะทางรวมทั้งหมด 970 กิโลเมตร นับว่าเกาะกงมีทำเลที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยเป็นเมืองชายทะเลที่มีที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางเชื่อมระหว่างเมืองสำคัญทั้งของไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพียง 330 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือฮาเตียนของเวียดนาม 285 กิโลเมตร ห่างจากพนมเปญเพียง 297 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ 233 กิโลเมตร สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่สองของเกาะกงจะตั้งอยู่ในอำเภอ Botum Sakor เป็นสาขาที่สองของเขตเศรษฐกิจพิเศษ Cambodian Zhejiang Guoji (CJSEZ) ขยายมาจากสีหนุวิลล์ ซี่งมีการตั้งโรงงานเกือบเต็มพื้นที่แล้ว จึงต้องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ความท้าทายของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชา ประเด็นสำคัญคือค่าใช้จ่ายสำหรับด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ตระหนักถึงปัจจัยนี้จึงได้จัดทำแผนแม่บทภาคโลจิสติกส์ โดยมีแผนจะเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ นักลงทุนที่ได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชาอยู่ก่อนหน้านี้ นิยมส่งออกสินค้าที่ผลิตจากเกาะกงไปยังท่าเรือแหลมฉบังของไทยมากกว่าส่งไปที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า


สำหรับนักลงทุนชาวไทยแล้วเส้นทางการขนส่งทางบกจากตราดเข้าไปยังเกาะกงมีความสะดวกสบายมากขึ้น จากการเปิดเส้นทางชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (ถนนสาย R10) ที่เชื่อมถนนสาย 48 ในจังหวัดเกาะกง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้แห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตสำเร็จจากฐานการผลิตในกัมพูชาไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก เชื่อมโยงการผลิตระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม รวมถึงการกระจายสินค้าจากฐานการผลิตในเวียดนาม หรือบางส่วนที่เป็นสินค้าขาเข้าจากการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังกัมพูชา

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา แจ้งข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศกัมพูชาได้นำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนามและจีน ซึ่งการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มในจังหวัดเกาะกง จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจมาลงทุนในกัมพูชาสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งถูกกว่าประเทศไทย นอกจากนี้ จังหวัดเกาะกงยังเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนกับไทย ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดค่าขนส่งวัตถุดิบมายังกัมพูชา ซึ่งเป็นระเบียงเศรษฐกิจไปยังเวียดนามได้อีกด้วย


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ กัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank – CCB)


ที่มา

1.พันธ์รบ ราชพงศา. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา. “เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด-เกาะกง”. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตราด-เกาะกง - ITD - International Institute for Trade and Development (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)

2.Niwatr. DITP. “เพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดเกาะกง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา”. เพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดเกาะกง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชา - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)

3. AiTi. “รอยัล กรุ๊ป วางแผนพัฒนา SEZ ในเขตจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา”. รอยัล กรุ๊ป วางแผนพัฒนา SEZ ในเขตจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา – AiTi (Advising Investment and Trade Institute) (utcc.ac.th) (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)

4. Post Today. “เขตศก.พิเศษเกาะกง ประตูการค้าไทย-กัมพูชา”. https://www.posttoday.com/international-news/505316 (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)

5.จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์. ฐานเศรษฐกิจ. “เจาะโอกาสลงทุน กัมพูชา-เกาะกง บูมค้าชายแดน”. https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/552216 (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)

6. กระทรวงแรงงาน. “บทที่ 6 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด”. http://nlrc.mol.go.th/data/doc/RBLOc10/07RBLOc10.pdf (ค้นหาเมื่อ 21/11/2023)