ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
8 เช็กลิสต์ก่อนทำธุรกิจร้านกาแฟ
ในยุคที่มนุษย์เงินเดือนหลายคน อยากหาอาชีพสำรอง ซึ่งธุรกิจในฝันที่ผุดขึ้นมาในหัวอันดับต้นๆ ต้องมีธุรกิจร้านกาแฟรวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่เพียงแค่ “ความอยากมี” ร้านเป็นของตัวเอง แล้วก็ลุยเปิดไปเลย ถือว่าเสี่ยงเอามากๆ ตั้งสติให้มั่น แล้วลองมาดูกันว่าถ้าจะทำธุรกิจร้านกาแฟ ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ฝันหวานๆ กลายเป็นฝันร้าย เพราะเปิดไปแล้วก็เจ๊ง!
ข้อที่ 1 หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร การมีข้อมูล และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ควรรู้จักตัวธุรกิจที่มีอยู่ในตลาด รู้ว่าใครคือคู่แข่ง จุดอ่อนจุดแข็งของเขาคืออะไร ใครที่จะมาเป็นลูกค้า พฤติกรรมการบริโภคเป็นอย่างไร ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงของการพลาดพลั้งได้เท่านั้น
สำหรับธุรกิจร้านกาแฟ ข้อมูลอีกประเภทที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ พวกสูตรการชงเครื่องดื่ม แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่จะเลือกใช้ การใช้ของดี ก็ไม่ได้การันตีว่าจะขายได้ดีด้วยเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบอีกมาก ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นอาวุธในการสู้ศึกกับบรรดาคู่แข่งน้อยใหญ่ในตลาด มือใหม่ที่จะกระโดดลงมาในธุรกิจนี้ นอกจากการหาความรู้ผ่านเว็บไซต์ หนังสือ หรือไปเรียนชงกาแฟตามโรงเรียนที่เปิดสอนแล้ว การได้ตระเวนไปตามร้านกาแฟต่างๆ พูดคุยกับเจ้าของร้าน หาสไตล์ที่ตัวเองชอบ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้น้องใหม่สายกาแฟได้เป็นอย่างดี
ข้อที่ 2 วาดฝันให้ชัดเจน
ธุรกิจร้านกาแฟสมัยนี้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถเข็นเล็กๆ ตั้งเป็นคีออส เซ้งร้านห้องแถว หรือเปิดเป็นร้านใหญ่โตมีพื้นที่ให้ทำโน่นทำนี่เพิ่มเติมได้ รูปแบบร้านที่เลือกจะส่งผลต่อทำเลที่ตั้ง กลุ่มลูกค้า และการตั้งราคาของเครื่องดื่มที่จะขายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เราจะสร้างแบรนด์ของตัวเอง หรือจะซื้อแฟรนไชส์จากคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมาทำต่อก็เลือกได้ ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ต้องพิจารณาให้ดี ถามใจตัวเองว่าต้องการแบบใด มีความจริงจังกับธุรกิจตรงนี้มากน้อยขนาดไหน จะลาออกจากงานประจำแล้วลงมาลุยเอง หรือจะจ้างคนมาช่วยดูแลเวลาที่ยังต้องเข้าบริษัทไปทำงานอยู่ เมื่อวาดภาพสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจนก็ลุยต่อ เพื่อให้ฝันเป็นจริง
ข้อที่ 3 ดูความพร้อมของกระเป๋าสตางค์
จะทำธุรกิจทั้งที ถ้าไม่มีเงินลงทุนเลยก็คงไม่ได้ เคยลองคำนวณดูมั้ยว่า การเปิดร้านกาแฟในฝันนั้นต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ ร้านเล็กๆ อาจไม่ต้องใช้ทุนมาก อุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่เยอะ แค่เงินหลักหมื่นก็เอาอยู่ แต่ถ้าจะเปิดร้านใหญ่ แน่นอนว่า สถานที่ต้องมา การตกแต่งต้องมี อุปกรณ์ชงกาแฟ วัตถุดิบ ค่าแรงคนงาน ค่าน้ำค่าไฟ และอีกสารพัด ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนที่ผู้เป็นเจ้าของต้องแบกรับไว้ เงินเป็นแสนเป็นล้านต้องมีรอไว้เลย
ถ้าทุนหนาที่บ้านมีฐานะ มีเงินเก็บก้อนใหญ่พอก็ลงมือสานฝันได้เลย แต่ถ้าเงินทุนไม่พอ อาจต้องมองหาตัวช่วย การยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารน่าจะเป็นการตอบโจทย์ได้ดีกว่าการหันไปหาเงินกู้นอกระบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า มีความน่าเชื่อถือ คราวนี้คุณก็สามารถเติมเต็มความฝันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริงๆ แล้ว
ข้อที่ 4 เลือกทำเลทองที่มองเห็นลูกค้า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำเลที่ตั้ง ของร้านกาแฟ มีผลต่อยอดขาย การเลือกโดยไม่คิดอาจทำให้ธุรกิจในฝันกลายเป็นเพียงฝันสลายได้เลย หากลงทุนไปเยอะแต่ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน หรือมีน้อยกว่าที่คาดไว้ เรียกว่าขายได้ไม่พอจ่ายค่าเช่าที่ ถือเป็นหายนะของบรรดาผู้ประกอบการ ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ดี เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มก็อยู่ในทำเลที่ต่างกัน จะเลือกจากความชอบส่วนตัวคงไม่พอ ต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบการตัดสินใจด้วยจะได้ไม่เพลี่ยงพล้ำ
ถ้าเลือกโฟกัสกลุ่มคนออฟฟิศ การเลือกทำเลในย่านธุรกิจนั้นเป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา อย่าลืมว่าหนุ่มสาวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ไม่ได้เข้ามาทำงานทุกวัน ช่วงวันหยุดอาจต้องคิดว่า เปิดร้านไว้จะคุ้มหรือไม่ จะปิดร้านตามลูกค้าด้วยดีหรือเปล่า แน่นอนว่าคู่แข่งในย่านนี้จะมีอยู่มาก การแข่งขันเรื่องราคาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน โปรโมชั่นดึงลูกค้าเข้าร้านก็ต้องเตรียมไว้เช่นกัน ถ้าไม่พร้อม ก็มีสิทธิ์แพ้ได้เลย
สำหรับทำเลในย่านฮิปๆ เก๋ๆ ตรงตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เช่น เอกมัย ทองหล่อ สยาม หรืออารีย์ อาจจะจับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม สามารถขายได้หลายช่วงเวลา แต่ก็ไม่ได้ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ การเปิดร้านกาแฟแถวนี้ ร้านธรรมดาๆ ที่ไม่มีธีม คอนเซ็ปต์ไม่ชัดคงจะไม่โดดเด่นสะดุดตาจนสามารถพาลูกค้าเข้ามาในร้านได้ แถมค่าเช่าพื้นที่ก็สูงเอาการ ต้องวางแผนให้ดี คิดให้รอบคอบถ้ารักจะมาแนวนี้
ข้อที่ 5 วางคอนเซ็ปต์ ตั้งชื่อร้าน ตกแต่งตามธีม
เมื่อเลือกทำเลที่จะปักหลักเปิดร้านในฝันแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งพื้นที่ คอนเซ็ปต์ของร้านจะเป็นตัวบอกว่าเราจะตกแต่งอย่างไร ใช้เฟอร์นิเจอร์แบบไหน ซึ่งถ้ามองร้านกาแฟในยุคนี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากรสชาติของกาแฟแล้ว การตกแต่งร้านนั้นมีผลค่อนข้างมากต่อการเลือกตัดสินใจของลูกค้าด้วยเช่นกัน ร้านที่ตกแต่งดี ถ่ายรูปสวย สามารถดึงดูดบรรดานักรีวิว และคาเฟ่ฮอปเปอร์ให้แวะเวียนมาได้ ซึ่งก็จะนำพาลูกค้าที่ติดตามรีวิวเหล่านั้น เข้ามาที่ร้านได้อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับเรื่องขนาดของร้านนั้น ไม่ใช่ปัญหา แม้พื้นที่ของร้านจะไม่มาก แต่ก็สามารถตกแต่งหน้าร้านให้ดูน่าสนใจได้ เพราะหลายๆ ร้าน ลูกค้าก็แวะเวียนเข้ามา แม้จะมีที่นั่งเพียงไม่กี่ที่ก็ตาม ลองหาสไตล์จากแหล่งอ้างอิงในอินเทอร์เน็ตแล้วปรับให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้านที่จะเปิดก็ช่วยได้เยอะ
ชื่อร้านก็สำคัญ จึงไม่ควรมองข้าม จะต้องมีเอกลักษณ์ เชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ จะให้ดีต้องติดปากติดหู จดจำง่าย ถ้าจะมีโลโก้ก็ควรออกแบบให้สะดุดตามีความโดดเด่นในตัวด้วยเหมือนกัน เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ลงมือตกแต่งร้านตามธีม คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบริการ และคุณภาพของสินค้าที่ขายแล้ว ว่าจะรักษาลูกค้าเหล่านี้ ให้เค้ากลับมาใช้บริการอีกได้หรือไม่
ข้อที่ 6 คิดเมนู แล้วซื้อของเข้าร้าน
เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะขายอะไร ก็ลองจดเป็นรายการออกมาเป็นช้อปปิ้งลิสต์ให้ง่ายต่อการจัดการ และป้องกันการตกหล่น ทีนี้ก็ถึงเวลาซื้อของเข้าร้านแล้ว ของจำเป็นสำหรับธุรกิจร้านกาแฟไม่ว่าจะเป็นเครื่องชงกาแฟ แก้วที่จะใช้เสิร์ฟ ตู้เย็น ตู้แช่เบเกอรี่ในกรณีที่จะขายขนมด้วย ไปจนถึงวัตถุดิบอย่างเมล็ดกาแฟ นมสด น้ำเชือม หรือส่วนผสมพิเศษในเมนูเฉพาะของที่ร้าน ของเหล่านี้มีแหล่งผลิตหลากหลายแตกต่างไป ไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจ ใช้ข้อมูลที่หาได้มาประกอบ การได้ของดีในราคาไม่สูงย่อมช่วยเราลดต้นทุนได้ วัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้ประจำเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ จำเป็นต้องมีคู่ค้าที่ดี และไว้ใจได้ด้วย เพื่อไม่ให้ของขาดมือ ทางที่ดีอาจหาแหล่งสำรองไว้ 2-3 แห่งจะได้ลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบ
เมื่อรู้ราคาต้นทุนแล้วอย่าลืมนำกลับมาคำนวณราคาที่จะขายด้วย การคิดราคาต้องไม่มุ่งหวังจะเอาแต่กำไร จนทำให้ราคาสูงเกินไป ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจะซื้อไม่ไหว ราคาที่ตั้งควรสมเหตุสมผล ถ้าทางร้านเลือกใช้วัตถุดิบธรรมดาแล้วตั้งราคาไว้สูง แน่นอนว่าลูกค้ามาลองแล้วคงไม่กลับมาอีก เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าได้รับของที่ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป แต่ก็ไม่ใช่ตั้งราคาไว้ต่ำจนดูเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ แถมยังต้องขาดทุนเพราะมีต้นทุนสูงแต่ขายราคาถูก เรื่องราคาต้องคิดให้รอบคอบ ในช่วงแรกของการเปิดร้าน อาจคิดพวกแผนการตลาด และเตรียมโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าไว้บ้างก็ดี
ข้อที่ 7 หาพนักงาน และฝึกฝนให้ชำนาญ
ขึ้นชื่อว่าธุรกิจที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง การบริการนั้นสำคัญมาก พนักงานที่ร้าน เป็นเหมือนตัวแทนของเราที่จะต้องติดต่อสัมพันธ์กับลูกค้า ในกรณีที่เจ้าของร้านไม่ได้เข้ามาดูแลด้วยตัวเองตลอด ถ้าได้พนักงานที่ดี ก็ไม่ต้องกังวลมาก สามารถเอาเวลาไปคิดอะไรใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้อีก การสรรหาพนักงานที่ดีและมีใจรักในอาชีพนี้ จะส่งผลต่อปริมาณลูกค้าในอนาคต แน่นอนว่าลูกค้าที่มาใช้บริการในยุคนี้ นิยมบอกต่อผ่านการรีวิวบนโซเชียลมีเดีย และหลายๆ ร้านได้คะแนนน้อย ไม่ใช่เพราะคุณภาพของสินค้า แต่เป็นเรื่องการบริการเสียส่วนใหญ่ หลายๆ ร้านที่ประสบความสำเร็จล้วนมาจากตัวพนักงานเป็นส่วนประกอบสำคัญ นอกจากการฝึกอบรมวิธีการชงกาแฟ ชงเครื่องดื่มอื่นๆ ให้ชำนาญก่อนจะเปิดร้าน อย่าลืมเน้นย้ำเรื่องการบริการให้มาก เรื่องนี้สำคัญจริงๆ
ข้อที่ 8 จัดเตรียมระบบบัญชี และการเก็บเงิน
เมื่อพร้อมที่จะขาย ก็ต้องเตรียมตัวรับเงิน ทำบัญชีรับจ่ายให้ดี แยกบัญชีร้านค้าออกจากบัญชีส่วนตัวอย่าให้ปะปนกัน ไม่อย่างนั้นอาจมีเผลอเอาเงินส่วนตัวมาใช้ในร้าน เอาเงินร้านไปใช้ส่วนตัวได้ ในสมัยนี้นอกจากการรับเงินสดแล้ว ร้านค้าต่างๆ ควรมีตัวเลือกอื่นๆ ในการจ่ายเงินด้วย เพื่อสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ ถ้าเป็นร้านเล็กๆ อาจไม่จำเป็นถึงขั้นต้องมีเครื่องรูดบัตรเครดิต แต่อย่างน้อยก็ควรจะมี QR Code ให้ลูกค้าได้สแกนจ่ายเงิน ซึ่งเงินจะโอนเข้าบัญชีร้านค้าอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการหาเงินทอน หรือทอนเงินผิด แถมยังไม่ต้องเสี่ยงเก็บเงินสดไว้ที่ร้านอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารสมัยนี้ก็มีตัวช่วยคอยเตือนเวลาเงินเข้าบัญชีให้เจ้าของได้ทราบด้วย บริการเหล่านี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงสามารถสมัครเอาไว้ได้เลยไม่เสียหายอะไร
เมื่อเตรียมพร้อมทุกข้อเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มลงมือสร้างฝันให้เป็นจริงได้เลย ธุรกิจร้านกาแฟในยุคนี้มันอาจจะไม่ง่าย หรือเป็นไปตามที่คาดไว้ทุกอย่าง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สำเร็จไม่ได้ ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ หากผิดพลาดก็อย่าเพิ่งท้อ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับ ไม่นานนักทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเอง หากตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จแล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้...สู้สู้นะ