หลักประกันทางธุรกิจสำคัญอย่างไร

บทความโดย อังค์วรา ไชยอนงค์


กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจถือเป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และขอสินเชื่อได้หลากหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่เรียกว่า SMEs ตัวอย่างเช่น SME ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากผู้รับหลักประกัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นผู้รับหลักประกันพิจารณาทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันหรือผู้ประกอบธุรกิจนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ จากนั้นผู้รับหลักประกันจะทำสัญญาเงินกู้และแจ้งจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ SME ได้รับเงินกู้ไปดำเนินธุรกิจของตัวเอง กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และเหตุใดผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SMEs ไม่ควรมองข้าม สามารถศึกษาและทำความเข้าใจได้จากสรุปสาระสำคัญดังนี้

ความหมายของสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ คือ กฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ คือหลักทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ได้แก่

กิจการ คือ ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น ที่ดิน อาคาร และรถยนต์

สิทธิเรียกร้อง ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าจะได้รับชำระหนี้เป็นเงิน หรือได้รับ

ชำระหนี้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น

สั งหาริมทรัพย์ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า

อสังหาริมทรัพย์ ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ได้แก่ ที่ดิน อาคารสถานที่ เช่น ผู้ประกอบกิจการหมู่บ้านจัดสรร หรือจัดสรรที่ดินเปล่าสามารถนำที่ดินหรืออาคารสถานที่มาเป็นหลักประกันได้

ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้ให้หลักประกันมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยผู้ให้หลักประกันมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ และต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินและให้ผู้รับหลักประกันเข้าตรวจสอบได้ ในขณะที่ผู้รับหลักประกันจะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือบริษัทประกอบธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งมีหน้าที่ยื่นจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน ณ สำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากหลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น

ส่วนการบังคับหลักประกันทำได้สองวิธี ได้แก่ วิธีแรกบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และวิธีที่สองคือบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ โดยการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน เจ้าหนี้สามารถนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันออกจำหน่ายได้ หรือนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิของตนเองได้ เช่น ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ เป็นเงินต้นเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลาถึงห้าปี โดยไม่มีหลักประกัน  ถ้าผู้รับหลักประกันตัดสินใจบังคับหลักประกัน โดยมีหนังสือแจ้งเหตุแล้ว ผู้ให้หลักประกันไม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือทำการใดๆ

วิธีที่สองการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ จะต้องมีคนกลางซึ่งได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ โดยเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือการประเมินราคาทรัพย์สิน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้     เรียกว่า ผู้บังคับหลักประกัน เมื่อมีเหตุให้บังคับหลักประกันตามสัญญา ให้ผู้รับหลักประกันมีหนังสือแจ้งไปที่ผู้บังคับหลักประกัน เมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหนังสือแล้วให้กำหนดวัน เวลา สถานที่ และให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกินเจ็ดวันเมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหนังสือ  และห้ามผู้ให้หลักประกันจำหน่ายจ่ายโอนกิจการที่เป็นหลักประกัน ยกเว้นว่ากิจการดังกล่าวนั้นมีทรัพย์สินมีสภาพเป็นของสดหรือของเสียได้ ยกตัวอย่างเช่นการนําสินค้าเกษตรหรือวัตถุดิบที่เกิดการเน่าเสียมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ผู้รับหลักประกันอาจขายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้

การสิ้นสุดสัญญาหลักประกัน มีได้หลายกรณี ได้แก่

•หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไป

•มีการไถ่ถอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

•มีการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

•ผู้รับและผู้ให้หลักประกันตกลงกันเป็นหนังสือให้ยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

กล่าวโดยสรุป กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจออกมาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดด้านเงื่อนไขหลักประกัน และได้รับต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจจากการได้รับเงินทุนสนับสนุน