ส่งออกไทยในเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง

ในปี 2022 แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายลงในครึ่งปีแรก แต่ความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อจนเกิดเป็นวิกฤติพลังงานและอาหาร กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเราด้วย แต่ในความเสี่ยงก็มีโอกาสซ่อนอยู่ โดย ดร.ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2022 ไว้ใน “โครงการ ITP 4 Digital Exporter เปิดตลาดส่งออกไทย ดึงลูกค้าไกลจากต่างแดน” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ซี่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลดำเนินธุรกิจต่อได้

export-756159226

คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2022

ภาคการส่งออกถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2021 แต่ในปี 2022 อาจมีการชะลอลงจากภาวะของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นและยืดเยื้อ ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ตลาดโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ส่วนการค้าบริเวณชายแดนจะเริ่มฟื้นตัวจากการทยอยเปิดพรมแดน และการทยอยกลับเข้ามาของแรงงาน


การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน จะได้รับอานิสงส์จากราคาในตลาดโลก รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลแล้วในปี 2022 ทำให้การค้า-การลงทุนดีขึ้น อีกทั้งการที่ประเทศไทยฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับซาอุดิอาระเบีย จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร แต่ระยะยาวกำไรอาจจะปรับลดลงจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น


ทางด้านนโยบาย Zero Covid ของจีน จะส่งผลกระทบทั้งสินค้าที่จะส่งออกไปจีน และสินค้าที่ต้องนำเข้าจากจีน โดยสินค้าส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และผลไม้แห้ง  ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ จะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประกอบในเครื่องจักร และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะกดดันการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของไทย


โดย ณ เดือนมิถุนายน 2022 EIC คาดการณ์ภาคส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 5.8% จากปัจจัยด้านราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและอาหาร

ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อส่งออกไทย

เนื่องจากการส่งออกไทยไปยังรัสเซียมีสัดส่วนต่ำมาก (0.4%) ผลกระทบโดยตรงจึงมีจำกัด แต่การส่งออกไปยุโรปที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป จากการที่ยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียสูง โดยสินค้าส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบเฉพาะกลุ่ม และสินค้าไทยบางประเภทอาจทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียได้ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ


โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนมากที่สุดคือ กลุ่มขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงการขนส่งสินค้าทางบก ทางอากาศ สายการบิน สนามบิน และอาหารสัตว์


ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง  ยานยนต์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ขนส่งทางเรือ โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม ข้าว ค้าปลีก (nongrocery) ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์


กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยคือปิโตรเคมีขั้นต้น นิคมอุตสาหกรรม ค้าปลีก (grocery) สินค้าและบริการอื่นๆ

5 แนวโน้มสำคัญเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคส่งออก

  1. เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์ COVID-19 โดยในปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับภาวะของอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุลกัน

  2. การมุ่งหน้าสู่สังคม “Net Zero” เป็นอีกเทรนด์ใหญ่ของโลก ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และเศรษฐกิจในภาพรวม เป้าหมาย Net Zero จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านนโยบายและการลงทุน เช่น สินค้าที่จะส่งไปยุโรป ต่อไปจะต้องแจ้งปริมาณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะถูกนำมาคำนวณในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนด้วย

  3. ปัญหาภาระหนี้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญของโลก วิกฤต COVID-19 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งหนี้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ถือเป็นภาระและความเปราะบางที่โลกและไทยต้องเผชิญในอนาคต

  4. อิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ที่แผ่ขยายต่อเนื่อง เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรม พฤติกรรมผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และส่งผลให้กลยุทธ์ทางธุรกิจและแนวทางการลงทุนเปลี่ยนไปด้วย

  5. แรงส่งจากนโยบายการเงิน-การคลัง ที่ลดน้อยลง การกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่จะทยอยลดลงหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยนโยบายการเงินและการคลังยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ผ่อนคลาย


สำหรับแนวโน้มภาวะการเงินไทย ณ เดือนมิถุนายน 2022 ทาง EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ตามภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ตามการเปิดเมืองและเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแผลเป็นจากช่วงโควิด ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง


ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในระยะสั้นจากความเสี่ยงด้านสงครามและการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed โดย EIC คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นอยู่ในกรอบ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2022 จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุลลดลงตามการกลับมาของนักท่องเที่ยว และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอลง